เทคโนโลยีที่นำมาใช้เพื่อการศึกษาในมหาวิทยาลัยของประเทศสหรัฐอเมริกามีทิศทางเป็นคอมพิวเตอร์พกพาแบบหน้าจอสัมผัส เหมือนกับ Smartphone และ Tablets เช่น iPad และ iPhone นับเป็นการเข้าสู่ยุค M-learning หรือ Mobile Learning ซึ่งอุปกรณ์เหล่านี้ไม่เฉพาะใช้สำหรับเพื่อการเรียน การอ่านหนังสือ ติดตามข่าวสาร ดูหนัง ฟังเพลง และติดต่อสื่อสารในสังคมออนไลน์เท่านั้น แต่ยังนำมาใช้กับภารกิจส่วนตัวต่าง ๆ ในชีวิตประจำวันด้วย และที่สำคัญนักศึกษามีอาการ “ติด หรือ Addicted” กับเทคโนโลยีเหล่านี้ จะขาดเสียไม่ได้ และไม่ยอมให้ห่างกายแม้ยามนอน

ดังนั้น ความชัดเจนในความหมายของ M-Learning เริ่มเห็นชัดว่า การเคลื่อนที่หรือการพกพานั้น เป็นคุณสมบัติของอุปกรณ์หรือเทคโนโลยี มากกว่าจะเป็นการนิยามว่า เป็นการเรียนแบบเคลื่อนที่โดยที่ผู้เรียนไม่ได้อยู่กับที่ หรือเป็นการเคลื่อนที่ของผู้เรียนและสามารถเรียนไปด้วย ซึ่งไม่เป็นธรรมชาติการเรียนของมนุษย์มากนัก แต่ความหมายก็ยังกินความไปถึงและรวมเอาคุณสมบัติของเทคโนโลยีที่สนับสนุนการเรียนที่ผู้เรียนไม่ต้องนั่งอยู่กับที่ได้ด้วย

ตามปกติการเรียนการสอนในมหาวิทยาลัยนั้นจะมีรูปแบบที่เหมือน ๆ กันทั่วโลกและยากที่จะเปลี่ยนแปลงรูปแบบการเรียนการสอนที่เคยเป็นมาตั้งแต่อดีตอันยาวนาน แต่ปัจจุบัน มหาวิทยาลัยเริ่มที่จะต้องปรับและเปลี่ยนกระบวนการจัดการเรียนการสอนให้สอดคล้องกับ “อาการ” และ “พฤติกรรม” ของนักศึกษาที่มีเทคโนโลยีแบบพกพาอยู่ข้างกายตลอดเวลา และจะทำอย่างไรให้เทคโนโลยีนั้นใช้ประโยชน์กับการเรียนการสอนมากที่สุด

ตัวอย่างเช่น นักศึกษาของ Stanford University วิทยาเขต Palo Alto ที่เป็นสถานที่ตั้งของ Palo Alto Research Center หรือ PARC ที่เป็นต้นกำเนิดของ Google และ Yahoo รวมทั้งเครื่องถ่ายเอกสารดิจิทัล และเทคโนโลยีทันสมัยอีกมากรวมทั้งแนวคิดของการใช้ Icons และ Mouse สำหรับการปฏิสัมพันธ์กับคอมพิวเตอร์ นักศึกษาของมหาวิทยาลัยแห่งนี้มีอาการ “ติด” เทคโนโลยีเหล่านี้อย่างมาก

แรกเริ่มนักศึกษาแพทย์ของ Stanford University ไม่ค่อยยอมใช้ iPad เพราะไม่สามารถขีดเขียนข้อความลงใน iPad ได้ แต่มหาวิทยาลัยเห็นว่าการให้ iPad กับนักศึกษาจะทำให้ลดการแจกจ่ายเอกสารสิ่งพิมพ์ได้จำนวนมาก หรือ ประมาณ 3,700 แผ่นต่อปีต่อนักศึกษาแพทย์ 1 คน ซึ่งเรื่องนี้ไม่ใช่เกิดเฉพาะที่ Stanford เท่านั้น แต่ยังเกิดที่ University of Notre Dame นักศึกษาเห็นว่าการใช้ระบบหน้าจอสัมผัสไม่สะดวกในการจดบันทึกคำบรรยาย จึงหันไปนิยม Laptop เพราะสามารถจัดเก็บเอกสารได้ดีและมากกว่าอีกด้วย

แต่ด้วยความสามารถในการปรับตัวของมหาวิทยาลัยเพื่อให้เทคโนโลยีกับการสอนสามารถมาพบกันได้อย่างลงตัว เกิดการใช้งานได้ดี ทำให้ทั้งผู้สอนและผู้เรียนชอบที่จะใช้เทคโนโลยี เช่น ในชั้นเรียนวิชา Anatomy นักศึกษาแพทย์ของ Stanford University สามารถใช้นิ้วมือวาดภาพของอวัยวะต่าง ๆ ลงบนหน้าจอ iPad ได้เลย ซึ่ง Laptop ทำไม่ได้

นอกจากนั้นก่อนที่นักศึกษาจะลงปฏิบัติดูแลคนไข้ ยังสามารถดูคลิปวีดิทัศน์ในโรงพยาบาลนั้นเพื่อศึกษาถึงแนวทางในการดูแลรักษาคนไข้ที่มีปัญหาซับซ้อนได้ทันทีบน iPad หรือถ้าลืมหรือไม่มั่นใจเมื่อต้องดูแลคนไข้ฉุกเฉินก็สามารถนำเอา iPad ออกมาดูกระบวนการและขั้นตอนการปฏิบัติได้อย่างทันที ซึ่งเรื่องแบบนี้ Laptop ไม่สามารถทำได้ดีเท่า iPad เพราะมีขนาดเบา เล็ก และสามารถพกพาได้สะดวกกว่า

นอกจากนั้นผู้ผลิตเอกสาร ตำรา ยังผลิต Applications หรือเรียกย่อ ๆ ว่า App ออกมาสนับสนุนการใช้งานบน iPad จำนวนมากโดยเฉพาะการใช้จุดเด่นของ การพกพาเคลื่อนที่ได้สะดวก ภาพที่คมชัด การสัมผัสหน้าจอ และการนำเสนอภาพสามมิติต่าง ๆ ทำให้นักศึกษาหันมาใช้ และนิยมชมชอบ iPad รวมทั้งที่ University of Notre Dame นักศึกษาไม่เต็มใจจะคืน iPad เมื่อสิ้นเทอมการศึกษา นักศึกษาพบว่ามันเป็นการง่ายในการเรียกหาเอกสารขึ้นมาอ่าน หาข้อมูลที่ใช้ในชีวิตประจำวัน เช่น ตารางเวลารถไฟใต้ดิน ตารางเวลารถประจำทาง แผนที่ ร้านอาหาร แหล่งสิ้นค้า นัดหมายเพื่อนและอาจารย์ สืบค้นหรือเก็บสถิติด้านกีฬา ด้านสุขภาพ และ app ที่ออกแบบมาใช้ในมหาวิทยาลัย เช่น การให้คะแนนการเข้าชั้นเรียน คะแนนรายวิชาต่าง ๆ การสะสมแต้มเพื่อแลกอาหารกลางวันฟรี การสำรวจสถิติการเรียน และการเข้าดู เว็บของมหาวิทยาลัยหรือหน่วยงานต่าง ๆ เป็นต้น ถึงแม้ Smartphone มีหน้าจอที่เล็กแต่เหมาะกับกับการใช้งานบางอย่างส่วน iPad มีหน้าจอสัมผัสใหญ่กว่าสามารถใช้ได้ดีกว่าโดยที่ไม่เป็นภาระในการพกพามากนัก

การพัฒนา App สำหรับมหาวิทยาลัยนั้นอาจมีข้อจำกัดสำหรับมหาวิทยาลัยที่ขาดบุคลากรที่มีความรู้ ความสามารถในการพัฒนา App ที่เหมาะสมกับมหาวิทยาลัยหรือสภาพการจัดการเรียนการสอนของตนได้จึงหันไปใช้บริการของบริษัทผู้พัฒนา App เช่น Blackboard Mobile ที่ทำ App สำหรับ Smartphone เช่น แผนที่ของมหาวิทยาลัย ดัชนีสืบค้นต่าง ๆ ในมหาวิทยาลัย ข้อมูลต่าง ๆ ที่นักศึกษาจำเป็นต้องใช้อยู่ประจำ เช่น แผนการเรียน กำหนดการกิจกรรมต่าง ๆ ซึ่งมีการ Updated ให้กับนักศึกษาที่ใช้บริการหรือเป็นลูกค้าของ App นั้น ๆ ตลอดเวลา แต่ถ้ามหาวิทยาลัยที่มีขนาดใหญ่ และมีนักพัฒนา App ของตนเองเช่น Ohio State University มี App สำหรับศิษย์เก่าให้ติดตามนักกีฬาที่เป็นทีมของมหาวิทยาลัยตลอดเวลา เป็นต้น หรือมหาวิทยาลัยอื่น ๆ อาจใช้วิธีการพัฒนา Web sites ให้ใช้กับอุปกรณ์พกพาแบบหน้าจอสัมผัสได้ เช่น มหาวิทยาลัยทั้ง 4 แห่งของกลุ่ม University of California และมหาวิทยาลัยอื่น ๆ ก็ใช้แนวทางนี้ในการรองรับพฤติกรรมการใช้เทคโนโลยีของนักศึกษา

สำหรับประเทศไทย มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ ขณะนี้กำลังทดลองใช้แนวทางนี้ คณาจารย์และนักศึกษาสามารถใช้ คอมพิวเตอร์พกพาแบบหน้าจอสัมผัสเชื่อมต่อกับ Internet และWeb site ของมหาวิทยาลัย ฯ ได้ สำหรับการพัฒนา App ขึ้นมาสำหรับใช้ในมหาวิทยาลัยเองนั้น นักศึกษาภาควิชาครุศาสตร์เทคโนโลยี สาขาวิชาเทคโนโลยีเทคนิคศึกษา กำลังพัฒนา App ที่อาจนำมาใช้เพื่อการเรียนการสอนในสิ่งแวดล้อมของมหาวิทยาลัยโดยเฉพาะ ทั้งที่เป็นระบบปฏิบัติการของบริษัทแอปเปิล หรือ IOS (ในชื่อเดิมคือ iPhone OS ) ของตระกูล iPad, iPod และ iPhone กับระบบปฏิบัติการ Android ที่จะใช้กับอุปกรณ์พกพาแบบหน้าจอสัมผัสจากหลายค่ายผู้ผลิตซึ่งเป็นระบบที่เปิดมากกว่า

จากปรากฏการณ์นี้แสดงให้เห็นว่า การปรับตัวของมหาวิทยาลัยด้วยการปรับเปลี่ยนวิธีการเรียนการสอน การปรับตัวกับเทคโนโลยีเพื่อการรองรับการใช้คอมพิวเตอร์พกพาแบบหน้าจอสัมผัส รวมทั้งการพัฒนา App ให้มีสมรรถนะสามารถสนองความต้องการของผู้เรียนและผู้สอนได้ เป็นหัวใจสำคัญของการได้รับความนิยมใช้คอมพิวเตอร์พกพาแบบหน้าจอสัมผัส ที่เชื่อมต่อกับโลกออนไลน์ได้ทุกที่ทุกเวลา และเป็นแนวโน้มของการนำเทคโนโลยีมาใช้เพื่อการศึกษาของสหรัฐอเมริกา ซึ่งอาจอนุมานได้ว่าเป็นของโลกเลยก็ได้ เพราะอิทธิพลทางการศึกษาของสหรัฐอเมริกาแผ่ขยายไปทั่ว

ข้อมูลจากการศึกษาของ Josh Keller ที่ตีพิมพ์ในวารสาร The Chronicle of Higher Education, August 26, 2011 พบว่า ในปี ค.ศ. 2010 นักศึกษามหาวิทยาลัยในสหรัฐอเมริกามี Laptop 84 % มีอุปกรณ์พกพาเชื่อมต่อ Internet ได้ 63 % มี Desktop Computer 46 % ใช้เวลากับ Internet ระหว่าง 6-10 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ 22.6% นักศึกษาเข้าใช้ Social Network ทุกวัน 90 % มหาวิทยาลัยทุกประเภท ทั้งของรัฐและเอกชนให้บริการ Wireless มากกว่า 80 %

มหาวิทยาลัยทุกประเภทมีการจัดการเรียนการสอนด้วย Learning Management System (LMS) ประมาณ 60 % โดยมหาวิทยาลัยวิจัยของเอกชน (Private Research University) มีสูงถึง 64 % มหาวิทยาลัยวิจัยของรัฐ (Public Research University) มี 61 % ส่วนมหาวิทยาลัยเอกชนแบบ 4 ปี (Private 4-year Colleges) มี 61 % ส่วนมหาวิทยาลัยของรัฐแบบ 4 ปี (Public 4-year Colleges) มี 58 % และวิทยาลัยชุมชน (Community Colleges) มีการจัดการเรียนการสอนด้วย LMS ถึง 52 %

นักศึกษาของสหรัฐอเมริกาได้ประเมินสมรรถนะของอาจารย์มหาวิทยาลัยในการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศในชั้นเรียนดังนี้
1. ใช้ไม่ค่อยดีเลย 7 %
2. ใช้ได้บ้าง 25 %
3. ใช้ได้ปานกลาง 21 %
4.ใช้ได้ดี 27 %
5. ใช้ได้ดีมาก 20 %

การนำเทคโนโลยีคอมพิวเตอร์พกพาแบบหน้าจอสัมผัส (Tablets) มาใช้ในบริบทของสังคมไทยนั้นเป็นการเริ่มต้นของการปรับเปลี่ยนความคิดในการนำเทคโนโลยีมาใช้เพื่อการศึกษาในระดับมหภาค (Macro Level) เป็นการลดช่องว่างของโอกาสในการเข้าถึง และการใช้เทคโนโลยี ตลอดจนความรู้ที่ได้จากช่องทางของการนำเทคโนโลยีมาใช้ ผลที่ได้เป็นประโยชน์ทางสังคมอย่างมาก และอาจมากกว่าผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนที่ควรจะเพิ่มขึ้นอีกด้วย ในขณะเดียวกันเป็นการเพิ่มโอกาสของการพัฒนา App และเนื้อหาที่เหมาะสมกับสังคมไทย ในรูปของ “สื่ออนันตภาค” (Media Convergence) ที่เนื้อหาอาจถูกนำไปอยู่ในสื่อต่าง ๆ ได้ไม่จำกัด เป็นการหลอมรวมระหว่างสื่อทุกประเภท ทุกชนิด และเนื้อหาเข้ามาอยู่ในระบบเดียวกันผ่านการใช้งานบน Tablets

ถึงแม้ว่าในระยะเริ่มต้นของการนำเทคโนโลยีนี้มาใช้อาจต้องพบกับปัญหาความพร้อมทั้งระบบโครงสร้างพื้นฐานทางเทคโนโลยีเพื่อการใช้งานได้อย่างเต็มศักยภาพ ความพร้อมของอาจารย์/ครูผู้สอนและสถานศึกษา ความพร้อมของผู้เรียน และความพร้อมของ App ที่จะอยู่ในรูปแบบต่าง ๆ แต่การดำเนินการดังกล่าวจะช่วยให้มีการกระตุ้นและเร่งรัดการพัฒนาความพร้อมในทุกด้าน ในทางตรงข้ามถ้าไม่มีการนำเทคโนโลยีนี้มาใช้ อาจทำให้ละเลย และล้าหลังในการพัฒนาความพร้อมในด้านต่าง ๆ เหล่านั้น

สำหรับวิธีการและกระบวนการเผยแพร่และการนำไปใช้เพื่อสร้างการยอมรับเทคโนโลยีคอมพิวเตอร์พกพาแบบหน้าจอสัมผัส (Tablets)และทำให้เกิดประโยชน์สูงสุดนั้นเชื่อว่าผู้รับผิดชอบสามารถศึกษาและเลือกวิธีการที่เหมาะสมได้ เพราะมีตัวอย่างที่สำเร็จและตัวอย่างที่ล้มเหลวให้ศึกษาจำนวนมาก

เมื่อประเมินเบื้องต้นแล้ว การนำ Tablets มาใช้น่าจะได้ผลดี และจะเป็นคุณประโยชน์อย่างมากยิ่งขึ้นเมื่อมีกระบวนการและวิธีการที่เหมาะสม เพื่อขจัดความกังวลใจของผู้บริหาร นักการเมือง นักวิชาการ และประชาชนที่เฝ้าจับตาดู “กระบวนการเผยแพร่และการนำไปใช้” มากกว่าผลของการใช้

...


รองศาสตราจารย์ ดร.กฤษมันต์ วัฒนาณรงค์