กว่า 10 ปีแล้วที่เห็นเสาตอม่อร้างตั้งเรียงรายอยู่กลางถนนเกษตร–นวมินทร์ สร้างความสงสัยให้กับผู้คนที่ผ่านไปมาว่าเป็นเสาตอม่อของโครงการอะไร ทำไมไม่สร้างต่อ หรือว่าโครงการจะซ้ำรอยเหมือนโครงการ “โฮปเวลล์” ที่อื้อฉาว

“รายงานวันจันทร์” วันนี้ จะพาไปหาคำตอบของเรื่องนี้กับ คุณมณเฑียร กุลธำรง รองผู้ว่าการฝ่ายปฏิบัติการ รักษาการแทนผู้ว่าการ การทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) ที่มาชี้แจงรายละเอียดให้ทราบว่าเสาตอม่อเหล่านี้มีที่มาที่ไปชัดเจน และไม่ใช่โครงการอัปยศแต่อย่างใด

ถาม-เสาตอม่อร้างกลางถนนเกษตร-นวมินทร์ มีที่มาที่ไปอย่างไร?

มณเฑียร–อันดับแรกต้องขอชี้แจงก่อนว่า โครงการเสาตอม่อที่เห็นนั้นต่างจากโครงการโฮปเวลล์อย่างสิ้นเชิง เพราะไม่ใช่สร้างแล้วเจ๊งจึงหยุดสร้างอย่างที่เข้าใจกัน เสาตอม่อที่ว่านี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการทางด่วนขั้นที่ 3 สายเหนือ ตอน N2

ทางด่วนขั้นที่ 3 แบ่งโครงการเป็น 3 ตอน ได้แก่ ตอน N1 จากถนนงามวงศ์วานถึงแยกเกษตร ระยะทาง 6.7 กม. ตอน N2 เริ่มแยกเกษตรซ้อนทับไปตามถนนเกษตร-นวมินทร์ จนถึงถนนนวมินทร์ ระยะทาง 9.2 กม. และตอน N3 จากถนนนวมินทร์ ผ่านถนนเสรีไทย ถนนรามคำแหง และเบนลงใต้ ข้ามถนนกรุงเทพกรีฑา ก่อนบรรจบกับทางด่วนศรีรัช ส่วน D (ทางด่วนขั้นที่ 2) ระยะทาง 10.4 กม.

โดย ครม.มีมติวันที่ 29 มี.ค.37 เห็นชอบให้ กทพ.เป็นผู้ดำเนินโครงการทางด่วนขั้นที่ 3 ทั้งสายเหนือและสายใต้ สำหรับรูปแบบการลงทุนให้ กทพ.จัดตั้งบริษัทลูก (Subsidiary) ถือหุ้นทั้งหมด 100% และให้ดำเนินการก่อสร้างช่วงที่ก่อสร้างซ้อนทับกับแนวทางหลวงสายเกษตรศาสตร์–สุขาภิบาล 1 ของกรมทางหลวงไปพร้อมๆกัน เพื่อรองรับโครงการที่จะก่อสร้างต่อไปในอนาคต

กทพ. ได้เปิดประกวดราคาก่อสร้างฐานรากดังกล่าววันที่ 10 ก.พ.39 โดยบริษัท กำแพงเพชรวิวัฒน์ จำกัด เสนอราคาต่ำสุด และทำสัญญาวันที่ 9 ก.ค.39 วงเงิน 546,048,500 บาท เริ่มก่อสร้างวันที่ 1 ส.ค.39 ถึงวันที่ 31 ม.ค.41

ทั้งนี้ แนวเส้นทาง N2 เริ่มต้นที่แยกเกษตร ซ้อนทับบนถนนเกษตร-นวมินทร์ จากแยกเกษตรผ่านคลองบางบัว ถนนลาดปลาเค้า หมู่บ้านเสนานิเวศน์ ทางพิเศษฉลองรัช (ทางด่วนสายรามอินทราฯ) จนถึงถนนนวมินทร์ ระยะทางประมาณ 9.2 กม.โดยก่อสร้างฐานรากและตอม่อทางด่วนบริเวณเกาะกลางถนนเกษตร-นวมินทร์ ระยะห่างระหว่างตอม่อประมาณ 30 เมตร

ต่อมาได้ทำสัญญาเพิ่มเติมเพื่อก่อสร้างงานที่รับโอนจากกรมทางหลวง ได้แก่ งานก่อ สร้างสะพานข้ามคลองบางบัว งานผิวจราจร และเหล็กเสริมเพิ่มเติมของช่องทางชิดเกาะกลาง งานโครงสร้างป้องกันถนนทรุดตัว วง เงิน 226, 990,500 บาท ดังนั้นรวมค่าก่อสร้างฐาน รากทั้งสิ้น 773,039,000 บาท แล้วเสร็จสมบูรณ์ วันที่ 31 ต.ค.48

ถาม-ทำไมปล่อยเสาตอม่อร้างไว้ ไม่ก่อสร้างโครงการให้แล้วเสร็จ?

นายมณเฑียร–เพราะ มีการเปลี่ยนแปลงรัฐบาลใหม่ มีการทบ-ทวนการจัดอันดับความสำคัญโครงการก่อสร้างขนาดใหญ่ และทางด่วนขั้นที่ 3 ถูกเลื่อนลำดับความสำคัญลงมา อย่างไรก็ตาม ฐานรากและเสาตอม่อที่สร้างไว้ กทพ.ไม่ได้ปล่อยทิ้งๆขว้างๆ เพราะมีการดูแลและตรวจสอบเป็นระยะ โดยสร้างปล่องคอนกรีตครอบปิดหัวเสาตอม่อไว้ป้องกันการสึกกร่อน

หากโครงการได้รับอนุมัติให้เดินหน้าต่อเมื่อไหร่ เราสามารถก่อสร้างต่อได้ทันทีโดยไม่ต้องปิดการจราจร  และถนนก็ไม่เสียหาย

ถาม-วางแผนเดินหน้าโครงการนี้ต่อไปอย่างไรในอนาคต?

มณเฑียร–ปี 2552 กทพ.เคยว่าจ้างที่ปรึกษาทำการศึกษาโครงการในอนาคตของ กทพ. ปรากฏว่า ที่ปรึกษายังเสนอแนะทางด่วนขั้นที่ 3 ไว้ในแผนระยะกลาง ปี 2564–2573 ดังนั้น กทพ.จึงศึกษาทบทวนโครงการดังกล่าวอีกครั้ง ขณะนี้อยู่ระหว่าง กทพ. เตรียมทำสัญญาจ้างกลุ่มบริษัท เอฟซิลอน จำกัด เป็นที่ปรึกษา เพื่อทบทวนความเหมาะสมโครงการทางด่วนขั้นที่ 3 สายเหนือ อีกครั้ง วงเงิน 79,380,000 บาท ระยะเวลาดำเนินการ 18 เดือน ส่วนจะสร้างเมื่อไหร่นั้น ขึ้นอยู่กับนโยบายรัฐบาลเป็นหลัก.

...

จิรากร พุ่มพวง
รายงาน