สบท.เผยผลสำรวจคุณภาพการให้บริการโทรศัพท์มือถือทางด้านเสียง-การเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตผ่านโทรศัพท์มือถือ พร้อมเปิดตัวแอพลิเคชั่นทดสอบความเร็วในการเชื่อมต่อเน็ตทางมือถือ...

วันที่ 28 เม.ย. ที่สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ กสทช. สถาบันคุ้มครองผู้บริโภคในกิจการโทรคมนาคม หรือ สบท. สถาบันวิจัยและพัฒนาอุตสาหกรรมโทรคมนาคม หรือ ทริดี้ และศูนย์บริการวิชาการแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิดผลการสำรวจคุณภาพการให้บริการโทรศัพท์มือถือทางด้านเสียงและการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตผ่านโทรศัพท์มือถือ ภายใต้โครงการทดสอบคุณภาพการให้บริการโทรคมนาคมประเภทเสียงในบริการ โทรศัพท์เคลื่อนที่จากมิติการใช้งานของผู้บริโภค

ความร่วมมือครั้งนี้ เพื่อศึกษาคุณภาพการบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ด้านเสียงในพื้นที่กรุงเทพฯ โดยการสะท้อนประสบการณ์ในการใช้งานของผู้บริโภค ด้วยการทดสอบคุณภาพบริการโทรศัพท์มือถือ ทั้งในแง่การติดต่อไปยังโทรศัพท์มือถือภายในเครือข่าย และนอกเครือข่ายความถูกต้องของหมายเลขโทรศัพท์ที่แสดงในจอผู้รับ โดยเป็นการทดสอบที่เป็นวิทยาศาสตร์ สำหรับเครือข่ายโทรศัพท์มือถือที่ทดสอบในครั้งนี้ ประกอบด้วย เอไอเอส ดีแทค ทรูมูฟ และฮัทช์ เริ่มดำเนินการตั้งแต่ ธ.ค.2553-เม.ย.2554 จากการทำสอบ 20 วัน และใช้การทดสอบทุกค่ายรวม 31,500 ครั้ง โดยใช้เวลาทดสอบ 2 ช่วง ได้แก่ 08.00 -11.00 น. และ 16.00 – 21.00 น.

ส่วนผลการสำรวจและทดสอบความเร็วอินเทอร์เน็ตผ่านเครื่องโทรศัพท์มือถือ ได้ทดสอบความเร็วในการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตของผู้ให้บริการเครือข่ายโทรศัพท์มือถือทุกข่ายทั้งระบบ 2จี 3จี และไว-ไฟ โดยทดสอบการใช้งานในหลายจังหวัด ตั้งแต่ ม.ค.-มี.ค.2554 ใช้โปรแกรม TCI Speed Test ที่ให้ผู้ใช้โทรศัพท์มือถือดาวน์โหลดผ่านโมบายแอพพ์สโตร์ต่างๆ ทั้งของแบล็คเบอร์รี่ แอปเปิ้ล แอนดรอยด์ ซิมเบี้ยน และจาวา สำหรับวินโดวส์โมบายด์ ขณะนี้ มีการดาวน์โหลดไปใช้งานแล้วกว่า 1,500 ดาวน์โหลด

นายประวิทย์ ลี่สถาพรวงศา ปฏิบัติหน้าที่แทนผู้อำนวยการ สบท. กล่าวว่า ข้อมูลที่ได้จากการทดสอบนี้จะนำไปเผยแพร่เพื่อให้ผู้บริโภคตัดสินใจในการ เลือกใช้บริการผ่านทางเว็บไซต์ของ สบท. (www.tci.or.th) ขณะที่ผลทดสอบนี้เป็นการเปรียบเทียบคุณภาพบริการของแต่ละค่ายผู้ให้บริการ ไม่ได้มีเจตนาที่จะฟันธงว่าค่ายไหนบริการดีกว่ากัน อย่างไรก็ตาม ผู้บริโภคไทยยังดูเรื่องของค่าบริการมากกว่าเรื่องคุณภาพบริการเพราะคุณภาพบริการเป็นเรื่องที่จับต้องไม่ได้

ทั้งนี้ ผลการสำรวจคุณภาพการบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ด้านเสียงในพื้นที่กรุงเทพฯ จากการทดสอบ 20 วัน จากการวิเคราะห์ตามหลักสถิติ ที่ได้เป็นค่าเฉลี่ย พบว่า อัตราส่วนจำนวนครั้งที่ไม่สามารถเชื่อมต่อเข้าสู่เครื่องปลายทางได้ หรือ โทรฯไม่ติด ตามมาตรฐานการโทรฯ ภายในเครือข่ายเดียวกันห้ามเกิน 10% ส่วนโทรฯ ข้ามเครือข่ายห้ามเกิน 15%  จากการทดสอบการโทรฯออกจากฮัทช์ไปหาค่ายทรูมูฟ และโทรฯจากทรูมูฟไปฮัทช์ มีอัตราการโทรไม่ติดค่อนข้างมาก แต่ยังอยู่ในมาตรฐานที่ราชกิจจานุเบกษากำหนด ขณะที่ อัตรามาตรฐานที่สามารถโทรฯ ข้ามโครงข่ายไม่ติดของมาเลเซียอยู่ที่ 10% แต่ของไทยอยู่ที่ 15% ซึ่งยังหย่อนกว่ามาเลเซีย

โดยอัตราส่วนจำนวนครั้งที่สูญเสียการติดต่อหลังจากติดต่อปลายทางได้ หรือ สายหลุด ตามมาตรฐานห้ามเกิน 2% ซึ่งทุกค่ายผู้ให้บริการอยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน ขณะที่ ทรูมูฟแม้จะมีค่าสูญเสียการติดต่อปลายทางได้สูงกว่าค่ายผู้ให้บริการอื่น แต่ยังอยู่ในมาตรฐาน และระยะเวลาในการรอสายจนมีการตอบรับจากปลายทาง ซึ่งค่ามาตราฐานกรณีนี้ในราชกิจานุเบกษาไม่ได้กำหนดไว้ แต่จากการทดสอบค่าเฉลี่ยการรอสายอยู่ที่ 6 วินาที

ส่วนผลการสำรวจ และทดสอบความเร็วอินเทอร์เน็ตผ่านเครื่องโทรศัพท์มือถือ พบว่า ดาวน์โหลดไปใช้งานแล้ว 1,500 ดาวน์โหลด ด้วยโทรศัพท์มือถือทั้งหมด 11 ยี่ห้อ รวม 85 รุ่น มีการทดสอบทั้งหมด 1 หมื่นครั้ง จากการทดสอบ 41 จังหวัด จากสถิติการทดสอบแบ่งเป็นแบล็คเบอร์รี่ 5.36% ซิมเบี้ยน 5.18% แอนดรอยด์ 9.11% TCI Speedtest  79.29% และวินโม 1.06% แบ่งเป็นสถิติผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตของทีโอที 13.73% ทรู 15.70% ดีแทค 21.06% เอไอเอส 11.88% ไว-ไฟ 32.99% และอื่นๆ 4.66%

ขณะที่ สถิติของเทคโนโลยีที่ใช้ทดสอบ แบ่งเป็น 2จี 18.82% 3จี 17.09% ไว-ไฟ 32.99% และอื่นๆ 1.08% สำหรับ จังหวัดที่ดาวน์โหลดโปรแกรมไปติดตั้งแวทดสอบมากที่สุด คือ กรุงเทพฯ คิดเป็น 65.58% นนทบุรี 5.56% และเชียงใหม่ 4.24%

อีกทั้ง ความเร็วที่ทดสอบได้เฉลี่ยเบื้องต้น AIS 2จี ดาวน์โหลด 111.54 kbps/63.95 kbps – 3จี 577.26 kbps/183.94 kbps DTAC 2จี 121.25 kbps/60.69kbps TRUE 2จี 106.83kbps/59.57kbps – 3จี 1162.22kbps/269.98kbps TOT 3จี 1026.65kbps/522.83kbps –Wi-Fi 1560.01kbps/920.33kbps

...