ชาวเชียงใหม่และนักท่องเที่ยวเข้าวัดทำบุญ โดยที่วัดหนองเจ็ดลิน มีการก่อ "เจดีย์สุดส้าว"ให้นำตุงชัยขึ้นไปปักเพื่อเป็นสิริมงคลแก่ชีวิตและครอบครัว พร้อมทั้งช่วงบ่ายมีการตั้งขบวนไปดำหัวผู้ว่าฯ ตามประเพณี ขณะที่ผู้คนแห่ไม้ค้ำยันต้นไม้ศรีมหาโพธิ์แฝดยักษ์ ตามความเชื่อว่าจะอายุยืน...
ที่ จ.เชียงใหม่ ผู้สื่อข่าวรายงานว่าบรรยากาศในเช้าวันที่ 15 เม.ย.2554 ช่วงเช้าชาวเมืองเชียงใหม่พร้อมนักท่องเที่ยวได้เข้าไปไหว้พระตามวัดต่างๆ มีการปิดทององค์พระ ปักตุงบนพระเจดีย์ทราย โดยเฉพาะที่วัดหนองเจ็ดริน ต.พระสิงห์ อ.เมือง จ.เชียงใหม่ วัดโบราณกลางเมืองเชียงใหม่ ได้มีการก่อพระเจดีย์ทรายสุดส้าว ใหญ่ที่สุดในบรรดาเจดีย์ทรายที่ก่อขึ้นมาในภาคเหนือ มีชาวเชียงใหม่และนักท่องเที่ยวเข้าไปทำการปิดทองลูกนิมิตและปักตุงเต็มไป หมดจนงดงามตระการตา
สำหรับบรรยากาศรอบคูเมืองเชียงใหม่เมื่อวันที่ 14 เม.ย.ที่ผ่านมาหนาแน่นจนเป็นอัมพาตไปทั้งเมือง แต่วันนี้กลับเบาบางลงเนื่องจากนักท่องเที่ยวได้กระจายกันออกไปเที่ยวสถานที่ท่องเที่ยวสำคัญของเชียงใหม่ และชาวเชียงใหม่ได้กลับไปเล่นสงกรานต์ตามอำเภอของตัวเองในปีนี้ทางเทศบาล และ อบต.แต่ละแห่งจัดกิจกรรมสงกรานต์ในรูปแบบต่างๆ โดยเฉพาะถนนสายเชียงใหม่-ลำพูน มีการเล่นน้ำสงกรานต์ตลอดความยาวของถนนกว่า 30 กม.บรรยากาศร่มรื่นใต้ต้นยางที่เรียงรายไปตลอดสองฝั่งเส้นทาง ถือว่าเป็นจุดเด่นของเชียงใหม่ไม่แพ้รอบคูเมืองเลย
ผู้สื่อข่าวรายงานว่าในเวลา 14.00 น.วันนี้ ทางองค์กรต่างๆ อำเภอ เทศบาล และ อบจ.ได้จัดพิธีสระเกล้าดำหัว ม.ล.ปนัดดา ดิศกุล ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ โดยตั้งขบวนบริเวณหน้าอนุสาวรีย์สามกษัตริย์ มีริ้วขบวนกว่า 30 ขบวน แต่รูปแบบกระชับเพราะทาง ม.ล.ปนัดดา ได้กำชับห้ามมีการกะเกณฑ์ผู้คนชาวบ้านที่อยู่ตามอำเภอรอบนอกห่างไกลเดินทาง มาร่วมขบวนดำหัวอย่างเด็ดขาด ขอให้มาด้วยใจและของขวัญราคาแพงก็ห้ามนำเข้ามาขอให้มีสิ่งของที่ใส่รดน้ำดำหัวตามประเพณีล้านนา น้ำขมิ้นสัมป่อย ดอกไม้ก็เพียงพอแล้ว อย่างไรก็ตาม ขบวนดำหัวก็มีหน่วยงานต่างๆ เข้าร่วมจำนวนมากความยาวของขบวนกว่า 1 กม. เดินทางมายังจวนผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่เพื่อรดน้ำหัวตามประเพณี
...
วันที่เดียวกันที่วัดบ้านมอญเหนือต้นโพธิ์แฝดยักษ์ หมู่ 1 ต.สันกลาง อ.สันกำแพง เชียงใหม่ ภายในวัดได้มีผู้คนทั่วทุกสารทิศแห่กันมาลอดต้นไม้ศรีมหาโพธิ์แฝดยักษ์ ซึ่งวันนี้เป็นวันหวยออกเพื่อมาลอกขอโชคขอลาภ ในวันสงกรานต์ (หรือประเพณีปี๋ใหม่เมือง) ของชาวล้านเพื่อสะเดาะเคราะห์กรรม เสริมดวงบารมีเพื่อเป็นสิริมงคล ตักบาตรพระประจำวันเกิด เพิ่มพูนบุญกุศล และร่วมขบวนแห่ไม้ค้ำยันต้นไม้ศรีมหาโพธิ์แฝดยักษ์กันแน่นวัดนับพันคนทั่วทุกสารทิศ
พระอาจรรย์เกียรติพงษ์ กิตฺติโสภโณ เจ้าอาวาสวัดฯ กล่าวว่า ภายในวัดมีต้นไม้ศรีมหาโพธิ์แฝดอายุเก่าแก่ 400 กว่าปีมาแล้ว ทุกวันจะมีผู้คนศรัทธาญาติโยมมาลอดต้นไม้ศรีมหาโพธิ์แฝดยักษ์ไม่ขาดสายทั่วทุกสารทิศเป็นจำนวนมาก เพื่อมาสะเดาะเคราะห์กรรม เสริมดวงบารมี เขียนชื่อลงบนแผ่นผ้าเหลืองเพื่อนำไปห่มรอบต้นศรีมหาโพธิ์แฝด และสรงน้ำพระธาตุพระพุทธรูปภายในวัด
วันนี้เป็นวันพญาวันของชาวล้านนา ในวันสงกรานต์ชาวล้านนาจะทำบุญตั้งแต่วันที่13-15 เม.ย. ตั้งแต่เช้ามาได้มีผู้คนมา เข้าวัดเพื่อทำบุญสืบชะตากรรม ขนทรายเข้าวัดเพื่อก่อเจดีย์ทรายทั้งเด็กและ ผู้ใหญ่ การขนทรายเข้าวัดถือว่าให้มีความรู้เท่ากับเม็ดทรายและมีเงินมีทองไหลมาเทมา เท่าเม็ดทราย และ มีการแห่ไม้ค้ำยันต้นไม้ศรีมหาโพธิ์แฝดยักษ์ที่มีต้นเดียวในโลกที่ขึ้นอยู่ภายในวัดบ้านมอญแห่งนี้
การเอาไม้ค้ำยันมาค้ำต้นไม้ศรีมหาโพธิ์ยิ่งเป็นต้นไม้ศรีมหาโพธิ์แฝด ถือว่าไม้ค้ำยันเพื่อให้อายุยืนนานเหมือนต้นไม้ศรีมหาโพธิ์ไม่ให้ล้มไปไหน การแห่ไม้ค้ำยันต้นไม้ศรีมหาโพธิ์แฝดยักษ์ต้นนี้ แห่ตามวันคือเกิดวันอาทิตย์ เกิดวันจันทร์ เกิดวันอังคาร เกิดวันพุธ เกิดวันพฤหัสบดี เกิดวันศุกร์ และเกิดวันเสาร์ ผู้คนที่เกิดวันไหนก็จะเขียนชื่อลงในไม้ค้ำยันเหล่านั้น เพื่อเป็นสิริมงคลในวันปีใหม่สงกรานต์ ซึ่งเป็นประเพณีที่สืบกันมายาวนานหลายชั่วอายุคน ส่วนประเพณีอันดีงามในครั้งนี้เพื่อให้บุตรรุ่นหลังได้ศึกษาหาความรู้สืบกันต่อไป