ปรากฏการณ์ความสนใจอาชีพครูมีมากในระยะ 2-3 ปีที่ผ่านมา ในปีนี้ (พ.ศ. 2554) นี้ผู้สมัครสอบเข้าเรียนครูในสถานศึกษาต่าง ๆ จำนวนมาก เช่น มหาวิทยาลัยราชภัฏอุบลราชธานีมีผู้สมัครเลือกเรียนคณะครุศาสตร์อันดับ 1 จำนวน 5,107 คน เลือกอันดับ 2 จำนวน 2,921 คน จากจำนวนผู้สมัคร 8,028 คน ไม่รวมคณะอื่น ๆ แต่มหาวิทยาลัยราชภัฏอุบลราชธานีรับนักศึกษาจากการสอบได้เพียง 187 คน คิดเป็นอัตราส่วนโดยรวมประมาณ 1 ต่อ 43 (8,028/187=42.93) เป็นเพียงตัวอย่างเดียวของมหาวิทยาลัยราชภัฏที่กระจายอยู่ทั่วประเทศเท่านั้น
นอกจากนั้นการเปิดรับสมัครเพื่อสอบบรรจุเป็นข้าราชการครูทั่วประเทศตำแหน่ง “ครูผู้ช่วย” วุฒิปริญญาตรี มีผู้สนใจสมัครจำนวนหลายหมื่นคน มีการทุจริตซื้อ-ขายใบประกาศนียบัตรวิชาชีพครู รวมทั้งผู้ที่ทำงานในอาชีพต่าง ๆ และผู้ที่เป็นพนักงานมหาวิทยาลัยลาออกจากงานโดยยอมใช้วุฒิปริญญาตรีไปบรรจุเป็น “ครูผู้ช่วย” ที่มีฐานะเป็น “ข้าราชการ” เป็นปรากฏการณ์ตัวอย่างที่แสดงให้เห็นความสนใจใน “อาชีพครู” หรือ “ข้าราชการครู” มากกว่าการเป็นพนักงานมหาวิทยาลัยอีกด้วย
ทำไมต้องการเป็นครู
อาชีพครูเป็นอาชีพมีเกียรติ เป็นข้าราชการ ในอดีตการเป็นครูต้องเป็นผู้ที่เสียสละ อดทน ยอมรับกับความยากลำบาก รายได้น้อยมีเพียงเงินเดือนเท่านั้น และภาพลักษณ์ของ “ครูบ้านนอก” ที่มักจะเป็นครูบรรจุใหม่ส่งไปประจำโรงเรียนในชนบทห่างไกลตัวเมือง หรือที่เรียกว่า “บ้านนอก” จึงทำให้คนกลุ่มหนึ่งไม่ต้องการเป็นครูหันไปเรียนวิชาชีพอื่นที่สามารถทำเงิน สร้างรายได้สูงและอยู่ในสังคมเมืองที่มีความเป็นอยู่ที่ดีกว่าเพื่อนรุ่นเดียวกันที่เรียนจบไปเป็นครู การเลือกเรียนครูในอดีตมีกระบวนการคัดเลือกอย่างเป็นธรรมและมักจะได้คนที่เรียนเก่งไปเป็นครู
ในปัจจุบันจากการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ การกระจายความเจริญไปสู่ชนบท ทำให้ชนบทมีความสะดวกสบายจากสาธารณูประโภคเท่าเทียมกับในเมือง มีถนน ไฟฟ้า ประปา โทรศัพท์ วิทยุโทรทัศน์ ดาวเทียม อินเตอร์เน็ต กระจายในเกือบทุกพื้นที่ทั่วประเทศ ทรัพย์สินที่เป็นที่ดินของคนในชนบทกลายเป็นทุนที่มีราคาสูง คนบ้านนอกกลายเป็นคนมีทรัพย์สินและฐานะดีกว่าคนในเมืองบางกลุ่มเสียอีก สิ่งเหล่านี้ทำให้ภาพของ “บ้านนอก” หายไป ครูบรรจุใหม่ในโรงเรียนชนบทจึงไม่ลำบาก และไม่มีลักษณะของการเป็น “ครูบ้านนอก” อีกต่อไป และการเป็นข้าราชการครู ที่คนทั่วไปเรียกว่า "คุณครู" มีศักดิ์และสิทธิ์บริบูรณ์ของข้าราชการกระทรวงศึกษาธิการ ให้ความรู้สึกที่ดีกว่า มีความมั่นคงกว่าการเป็นอาจารย์ที่เป็นพนักงานมหาวิทยาลัยของรัฐเสียอีก
ประกอบกับตำแหน่งงานของครูในอนาคตจะมีการเปิดรับทดแทนผู้ที่จะเกษียณอายุจำนวนมาก อีกทั้งนโยบายและการบริหารจัดการระบบการศึกษาและบุคลากรทางการศึกษาทำให้มีการเปลี่ยนแปลงอาชีพครูในทางที่ดีขึ้น มีความก้าวหน้า มีค่าตอบแทนที่เป็นธรรม ส่งเสริมคนเก่งและคนดีให้สามารถพัฒนาตนเองสู่ศักยภาพที่สูงสุดแห่งตนได้ด้วยช่องทางการเติบโตที่ไม่ต้องแข่งกับผู้อื่นแต่แข่งกับตนเอง สิ่งเหล่านี้อาจเป็นแรงจูงใจให้คนสนใจมาเป็นครูมากขึ้น
กระบวนการเตรียมการผลิตครู
ถ้ากฎหมายให้อำนาจแก่องค์กรวิชาชีพครูในการกำหนดนโยบายการผลิตและพัฒนาวิชาชีพครู การใช้อำนาจตามกฎหมายในการปรับปรุงและเปลี่ยนแปลงนโยบายหรือข้อกำหนดที่เกี่ยวข้องกับมาตรฐานวิชาชีพครูอยู่บ่อย ๆ อาจทำให้เกิดช่องว่างของการประสานงานระหว่างสถาบันการศึกษากับองค์กรวิชาชีพครู เพราะสถาบันการศึกษาที่ผลิตครูและองค์กรวิชาชีพครูต่างฝ่ายต่างมีอำนาจตามกฎหมายและสามารถใช้อำนาจที่มีอยู่ได้อย่างอิสระ อาจทำให้เกิดปัญหากับผู้เรียนสาขาวิชาชีพครู และสถาบันการศึกษาอาจไม่สามารถปรับปรุงหลักสูตรให้ทันกับการเปลี่ยนแปลงขององค์กรวิชาชีพครู เนื่องจากมาตรฐานหลักสูตรและกระบวนการปรับปรุงหลักสูตรตามมาตรฐานของการจัดการศึกษาระดับปริญญามีกระบวนการและขั้นตอนที่กำหนดไว้โดยเฉพาะเช่นกัน
กระบวนการเตรียมรับการผลิตครูเชิงนโยบายและการใช้อำนาจจึงควรมีการปรับปรุงให้สามารถประสานงานระหว่างสถาบันการศึกษากับองค์กรวิชาชีพ การเตรียมการผลิตครูของสถาบันการศึกษานั้นนอกจากการจัดการเรียนการสอนให้มีสมรรถนะและมาตรฐานของวิชาชีพครูแล้ว ควรต้องยึดถือคุณลักษณะสำคัญตามธรรมชาติของวิชาชีพครู เช่น ความแม่นยำ เข้มแข็งทางวิชาการ หรือ “เรียนอะไรเรียนให้รู้เป็นครูเขา...” เพราะการจะเป็นครูผู้สามารถสอนผู้อื่นได้ต้องเป็นผู้ที่มีความรู้จริง ลึกซึ้ง และถูกต้องในเนื้อหาวิชา
จากแนวคิดนี้จะส่งผลถึงกระบวนการพัฒนาหลักสูตรและรูปแบบของการจัดการเรียนการสอน ซึ่งอาจจะเป็นการเรียนสาขาวิชาเอก 4 ปี ซึ่งสร้างความเข้มแข็งทางวิชาการให้กับครู บวกกับการเรียนวิชาครูอีก 1-2 ปี นั่นหมายถึงผู้ที่เป็นครูต้องรู้จริง ลึกซึ้ง และถูกต้องในเนื้อหาสาระของวิชาที่จะสอน และมีความรู้ในการสอนและการเป็นครู นอกจากนั้นต้องคัดเลือกผู้ที่พร้อมจะเป็นครูอย่างแท้จริง เมื่อจบวิชาชีพครูควรออกไปเป็นครูมากกว่าการประกอบอาชีพอื่น เพราะการลงทุนผลิตครูต้องใช้ทรัพยากรและเวลามาก จึงควรได้ผลผลิตออกไปทำงานเป็นครูตามประสงค์จึงจะคุ้มค่าของการลงทุน
อย่าซ้ำรอยประวัติศาสตร์
ในอดีตช่วงปี พ.ศ. 2510 ถึง พ.ศ. 2530 มีความต้องการเรียนต่อของผู้จบการศึกษาระดับมัธยมศึกษามีจำนวนมาก แต่สถาบันอุดมศึกษาหรือมหาวิทยาลัยมีที่เรียนจำกัด ซึ่งส่วนมากเป็นสถาบันอุดมศึกษาของรัฐที่จำกัดจำนวนรับ กลายเป็นปัญหาทางการเมือง รัฐบาลจึงได้ดำเนินการเปิดสถาบันการศึกษาแบบไม่จำกัดจำนวนรับขึ้นโดยจัดตั้งมหาวิทยาลัยรามคำแหงขึ้นในปี พ.ศ. 2514 และจัดตั้งมหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช ในปี พ.ศ. 2521 นอกจากนั้นยังส่งเสริมให้เกิดสถาบันอุดมศึกษาทั้งภาครัฐและเอกชนอีกจำนวนมากเพื่อแบ่งเบาภาระการจัดการศึกษาของรัฐ ให้คนได้มีที่เรียน และในส่วนของการผลิตครู รัฐบาลได้สั่งให้รับนักศึกษาครูเพิ่มในวิทยาลัยครูทั่วประเทศ 36 แห่งขณะนั้น โดยให้เปิดสอนทั้งกลางวัน กลางคืน เสาร์-อาทิตย์ เพื่อสนองความต้องการเรียนครู (ปัจจุบันวิทยาลัยครูได้เปลี่ยนเป็นมหาวิทยาลัยราชภัฏ)
เมื่อมีการผลิตในเชิงปริมาณจำนวนมากทำให้เกิดปัญหาทางด้านคุณภาพของครูในระยะต่อมา ทั้งในเรื่องความแม่นยำ การมีวินัยทางวิชาการ และการปฏิบัติตนในฐานะผู้ที่มีอาชีพครู ทำให้เกิดเป็นข่าวในสื่อมวลชนถึงความประพฤติที่ไม่เหมาะสมในการเป็นครู เช่น การลงโทษนักเรียน การละทิ้งการสอน และการผิดวินัยเป็นจำนวนมาก
มหาวิทยาลัยราชภัฏซึ่งพัฒนามาจาก โรงเรียนฝึกหัดครู วิทยาลัยครู และสถาบันราชภัฏ ก่อนจะมีฐานะเป็นมหาวิทยาลัยยังคงเป็นสถาบันการศึกษาที่ได้รับความเชื่อถือจากสังคมในการผลิตครู ประวัติศาสตร์ที่วิทยาลัยครูผลิตครูมากทำให้เกิดปัญหาด้านคุณภาพจึงไม่ควรเกิดขึ้นซ้ำรอยในยุคที่เป็นมหาวิทยาลัย และฝ่ายการเมืองไม่ควรผลักดันให้มหาวิทยาลัยราชภัฏทั่วประเทศรับนักศึกษาครูเพิ่มขึ้นเพื่อแก้ปัญหาผู้ต้องการเรียนจำนวนมากเหมือนในอดีตที่ผ่านมา
การใช้เทคโนโลยีการสอน หรือกระบวนการบริหารจัดการเหลื่อมเวลา จัดหลายรอบ หลายสถานที่ เพื่อให้สามารถจัดการเรียนการสอนได้มากขึ้นควรต้องพิจารณาอย่างรอบคอบและมั่นใจ เพราะการผลิตครูที่มีคุณภาพนั้นความสัมพันธ์ระหว่างอาจารย์ผู้สอนกับนักศึกษาครูในการถ่ายทอดความรู้ ทักษะ และเจคติของการเป็นครูมีความสำคัญมาก ซึ่งบางเรื่องการใช้เทคโนโลยีไม่สามารถทดแทนอาจารย์ผู้สอนได้
นอกจากนั้นปริมาณความต้องการครูในอนาคตอาจจะลดลงตามจำนวนประชากรที่มีแนวโน้มลดลงหรือจะไม่เพิ่มขึ้นอย่างมากในระยะ 10 ปีข้างหน้านี้ จากสถิติพบว่าจำนวนนักเรียนในระดับมัธยมศึกษาในแต่ละระดับชั้นลดลง อาจมีการปิดโรงเรียนในระดับการศึกษาพื้นฐานหลายแห่งในบางเขตพื้นที่ อาจมีการลดอัตรากำลังครูเช่นกัน ดังนั้นการเตรียมการผลิตครูไม่ให้ซ้ำรอยประวัติศาสตร์แล้ว ยังสามารถใช้ประวัติศาสตร์เป็นบทเรียนในการผลิตครูได้ด้วยการให้ความสำคัญกับคุณภาพมากกว่าปริมาณ
สรุป
อาชีพครูได้รับการพัฒนาควบคู่กับการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ เป็นผลสำเร็จขององค์กรวิชาชีพครูและนโยบายการพัฒนาประเทศของรัฐบาล ทำให้อาชีพครูได้รับความสนใจมีผู้ต้องการเรียนวิชาชีพครูจำนวนมาก มหาวิทยาลัยราชภัฏยังเป็นสถาบันการศึกษาที่ได้รับความเชื่อถือในการผลิตครู โดยพิจารณาจากจำนวนผู้สมัครเข้าเรียนในคณะครุศาสตร์ การมีนโยบายที่ชัดเจนและมั่นคงขององค์กรวิชาชีพครู รวมทั้งมีกลไกที่สามารถประสานงานกับสถาบันการศึกษาที่ผลิตครูเป็นภารกิจเร่งด่วนที่ควรดำเนินการ และสถาบันการศึกษาควรให้ความสำคัญกับการผลิตครูด้วยการเน้น “คุณภาพมากกว่าปริมาณ”
...
รองศาสตราจารย์ ดร.กฤษมันต์ วัฒนาณรงค์