ในแวดวงคนที่สนใจเรื่องสมุนไพรนั้น ต้องบอกว่า “รางจืด” มิใช่สมุนไพรแปลกหน้า หลายคนรู้จักหน้าค่าตากันมานานแล้วว่าเป็นสมุนไพรล้างพิษ ถอนพิษเบื่อเมา แต่ความจริงสมุนไพรใกล้รั้ว หน้าตาบ้านๆ ชนิดนี้ทำอะไรได้มากกว่านั้น
ในการเสวนา “รางจืดมากกว่าสมุนไพรล้างพิษ” ที่กรมพัฒนาการแพทย์แผนไทย คณะเภสัชศาสตร์ ม.มหิดล จัดร่วมกับมูลนิธิโรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร ได้ให้ข้อมูลประสบการณ์การใช้งานไว้อย่างน่าสนใจ
ภญ.ดร.สุภาภรณ์ ปิติพร กล่าวว่า หมอยาพื้นบ้าน ส่วนใหญ่ใช้ในการแก้พิษ ทั้งพิษจากยาสั่ง พิษจากพืช จากสัตว์ โดยใช้ได้ทั้งราก เถา และใบรางจืดยังเป็นหมอผิวหนัง ช่วยลดการอักเสบ คนสมัยก่อนเมื่อเจาะหูเพื่อใส่ต่างหูแล้วจะนำก้านรางจืดมาสอดใส่รูที่เจาะทำให้แผลหายเร็ว หากเกิดผื่นแพ้ที่ผิวหนัง สามารถใช้รางจืดนำมากิน ต้มอาบหรือต้มเอาน้ำทา รางจืดยังช่วยสมานแผลด้วยการคั้นน้ำจากใบมาทา และวิธีนี้แก้เริมงูสวัดได้ด้วย
สำหรับคนที่กลัวผมหงอก ภญ.สุภาภรณ์บอกว่า รางจืดนั้นมีการใช้เป็นยาอาบแก้โรคผิวหนังทั้งปวงทำให้แก่ช้า ใช้สระชโลมผมทำให้ผมหงอกช้าถ้าจะ ลดความดันโลหิตสูง ให้ใช้เถา ใบ ต้มหรือชงกิน ตามที่เห็นกันอยู่ว่ามีคนนำไปทำผลิตภัณฑ์ชาสมุนไพรรางจืดในระยะหลังดอกกับยอดรางจืด ชาวบ้านนำมาต้มจิ้มน้ำพริก แล้วคนสมัยนี้จะทราบกันหรือไม่ว่าดอกรางจืดนั้นให้น้ำหวาน แต่มิใช่หวานกันทุกวันทุกเดือน จะหวานเฉพาะช่วงเดือน 12 อันเป็นช่วงที่ดอกนำแน (ภาษาอีสาน) หรือดอกรางจืดบาน อย่างที่คนโบราณจะพูดว่า “น้ำแนน้ำนอง เดือนสิบสองขอน้ำกินแน” น้ำของดอกรางจืดเมื่อเด็ดออกมาดูดกินน้ำหวานจะหวานปานน้ำผึ้งเดือนห้า--เขาว่าอย่างนั้น
สรุปว่าประโยชน์ของรางจืดนั้นใช้ได้ทุกส่วนของต้น ราก เถา ใบ ใช้ในการแก้พิษ ส่วน ดอกและยอด แม้มิได้ใช้แก้พิษ แต่ ชาวบ้านใช้ในการกินเป็นอาหาร ยังพบด้วยว่า สารโพลีฟีนอลในรางจืดนั้นเป็นสารต้านอนุมูลอิสระอย่างสูงมากอีกด้วย หากได้กินรางจืดบ่อย ๆ ก็จะเป็นประโยชน์ต่อร่างกาย คราวหน้าจะมาเล่าสู่กันฟังถึงการนำรางจืดมาใช้ทำอาหารกันดีกว่า.
...