ผอ.สถาบันมะเร็งแห่งชาติ ให้ความรู้ “โรคมะเร็งกระเพาะอาหาร” เหตุจากกินเค็ม ของหมักดอง โรคนี้อาจไม่แสดงอาการ แนะวิธีป้องกัน...

จากกรณี แฟนเพจเฟซบุ๊ก หมอเมย์สู้มะเร็งระยะสุดท้าย ได้โพสต์ข้อความอาลัยถึงการจากไปของ พญ.ทักษอร เล้าวงค์ หรือหมอเมย์ ผู้ป่วยแม่ลูกสองที่ตรวจพบป่วยเป็นมะเร็งกระเพาะอาหาร ระยะที่ 4 หรือระยะแพร่กระจาย ซึ่งตลอดระยะเวลา 4 เดือนที่เธอมีอาการป่วย (ระยะของโรคมะเร็งกระเพาะอาหารที่แพร่กระจายอย่างมากอยู่ได้ไม่นานไม่เกิน 1 เดือน) เธอไม่ยอมแพ้และต่อสู้กับมะเร็งกระเพาะอาหารอย่างสุดความสามารถ กระทั่ง ล่าสุดวันน้ี เฟซบุ๊กแฟนเพจ หมอเมย์สู้มะเร็งระยะสุดท้าย ได้โพสต์ภาพและข้อความแจ้งข่าวร้าย โดยระบุว่า คุณหมอเมย์ได้จากไปอย่างสงบแล้ว

...

อาการ

นายแพทย์วีรวุฒิ อิ่มสำราญ ผู้อำนวยการสถาบันมะเร็งแห่งชาติ เปิดเผยกับทีมข่าวเจาะประเด็นไทยรัฐออนไลน์เกี่ยวกับโรคมะเร็งกระเพาะอาหาร ว่า “โรคนี้อาจไม่มีอาการแสดง เพราะอาการของโรคนี้ เป็นอาการเจ็บปวดเหมือนโรคทั่วไป คือ ไม่สบายท้อง ท้องอืด ปวดท้องคล้ายๆ โรคกระเพาะ อ่อนเพลีย จึงเป็นสาเหตุให้มะเร็งกระเพาะอาหารมักพบเมื่อมะเร็งลุกลามแล้ว เนื่องจากการไม่ได้รับการวินิจฉัยตั้งแต่ระยะแรกๆ”

“ในขณะที่ผู้ป่วยโรคมะเร็งกระเพาะอาหารบางราย ก็จะมีอาการ ไม่ว่าจะเป็น คลื่นไส้, อาเจียน, แสบร้อนบริเวณหน้าอก, น้ำหนักลด, ปวดท้อง, ท้องอืดหลังรับประทานอาหาร, ขับถ่ายเป็นสีดำ” นายแพทย์วีรวุฒิ ผู้อำนวยการสถาบันมะเร็งแห่งชาติ ให้ความรู้

สาเหตุการเกิดโรค

ส่วนสาเหตุการเกิดโรคนั้น นายแพทย์วีรวุฒิ ระบุว่า มาจากการรับประทานอาหารที่มีรสเค็ม อาหารหมักดอง ขนมกรุบกรอบ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นอาหารที่มีโซเดียมสูง รวมถึงการสูบบุหรี่ ดื่มแอลกอฮอล์ ไม่ค่อยรับประทานผักและผลไม้ หรือมีประวัติคนในครอบครัวเป็นมะเร็งกระเพาะอาหารมาก่อน จึงทำให้มีโอกาสเสี่ยงเป็นมะเร็งกระเพาะอาหาร

ขณะที่ ปัจจุบัน พบว่ามีสาเหตุสำคัญอันดับหนึ่งมาจาการติดเชื้อแบคทีเรียที่ชื่อเฮลิโคแบคเตอร์ ไพโลไร หรือ เอช.ไพโลไร (Helicobacter Pylori)

การป้องกัน

ปัจจุบันยังไม่มีวิธีป้องกันที่มีประสิทธิภาพในการป้องกันมะเร็งกระเพาะอาหาร แต่มีข้อแนะนำที่อาจจะช่วยลดโอกาสเกิดโรคนี้ได้บ้าง คือ การหลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยงของการเกิดโรคดังกล่าว เช่น การรับประทานอาหารปิ้งย่าง หมักดอง อาหารเค็ม และการสูบบุหรี่

...

การรักษา

การรักษาโรคมะเร็งกระเพาะอาหาร แบ่งออกเป็น 3 ระยะ ได้แก่

- ระยะแรกคนไข้จะไม่มีอาการ แต่จะมาพบแพทย์ด้วยอาการท้องอืด แน่นท้อง รับประทานอาหารเข้าไปแล้วปวดท้อง คล้ายกับโรคกระเพาะอาหาร ระยะนี้รักษาโดยการผ่าตัด หากมะเร็งยังอยู่ที่เยื่อบุกระเพาะอาหารและคนไข้ไม่มีอาการ ตรวจพบจากการส่องกล้อง จะรักษาโดยการใช้กล้องส่องทางเดินอาหารแล้วเข้าไปตัดเฉพาะเยื่อบุกระเพาะอาหารออก
- ระยะสอง มะเร็งเริ่มมีขนาดโตขึ้นแต่ยังไม่ไปติดอวัยวะข้างเคียง รักษาโดยการตัดกระเพาะอาหารออก
- ระยะที่สาม มะเร็งมีการกระจายไปติดอวัยวะข้างเคียง ทำให้เลาะกระเพาะอาหารออกได้ไม่หมด หรือมีการกระจายไปยังต่อมน้ำเหลือง แพทย์จะทำการผ่าตัดออกทั้งหมด รวมถึงเลาะต่อมน้ำเหลืองออกด้วย
- ระยะสุดท้าย มะเร็งลุกลามไปยังอวัยวะไกล ๆ เช่น ปอด ตับ ต่อมน้ำเหลือง ไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ แพทย์จะรักษา ด้วยวิธีให้เคมีบำบัด.

ขอบคุณภาพจากเฟซบุ๊ก หมอเมย์สู้มะเร็งระยะสุดท้าย.