แพทย์ผู้เชี่ยวชาญ ให้ความรู้ คนละเมอเดินกลางดึก บางคนเดินละเมออาบน้ำ ทำกิจกรรมเสี่ยง ชี้พบได้ทั่วไป เผยสาเหตุเดินละเมอ มาจากปัจจัยหลายประการ...
จากกรณี ด.ช.เธียรช์ สุขานนท์สวัสดิ์ หรือ น้องเธียรช์ อายุ 14 ปี หายตัวจากโรงแรมย่านกินซ่า กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น ช่วงเวลา 23.35 น. วันที่ 15 เม.ย. 2562 และต่อมาวันที่ 17 เม.ย. คุณแม่โพสต์ข่าวเศร้าว่าลูกชายได้จากไปอย่างสงบสุข ด้วยอุบัติเหตุที่ไม่คาดคิดแล้วนั้น (อ่านข่าวก่อนหน้า : วอนช่วยตามหา เด็กไทยวัย 14 หายตัวในญี่ปุ่น เบาะแสสุดท้าย ภาพจากวงจรปิด, เศร้า “น้องเธียรช์” เด็กชาย 14 หายตัวที่ญี่ปุ่น จากไปอย่างสงบด้วยอุบัติเหตุ)
โดยโลกสังคมออนไลน์ได้มีการพูดถึง “อาการเดินละเมอ” อย่างแพร่หลาย และมีผู้ให้ความสนใจในรายละเอียดของ “อาการเดินละเมอ” เป็นจำนวนมาก ทีมข่าวเจาะประเด็น ไทยรัฐออนไลน์ ได้ขยายความอาการดังกล่าว ด้วยการให้ความรู้จากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ เพื่อให้สังคมได้เข้าใจอาการเดินละเมออย่างถ่องแท้
...
ผศ.นพ.ทายาท ดีสุดจิต ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย หรือในฐานะหัวหน้าศูนย์ความเป็นเลิศทางการแพทย์ ด้านความผิดปกติจากการนอนหลับ เปิดเผยกับทีมข่าวเจาะประเด็น ไทยรัฐออนไลน์ว่า "การเดินละเมอในขณะนอนหลับ" นั้น สามารถพบได้ทั่วไป แต่จะพบมากในเด็กที่มีอายุระหว่าง 3-5 ปี แต่การเดินละเมอในขณะที่กำลังนอนหลับนั้น จะพบได้น้อยลงเมื่อเข้าสู่วัยผู้ใหญ่ และไม่ได้เป็นโรคร้ายแรงแต่อย่างใด
ส่วนพฤติกรรมของผู้ละเมอขณะนอนหลับ จะแตกต่างออกไป ยกตัวอย่างเช่น ละเมอขับรถ, ละเมอแต่งตัว, ละเมออาบน้ำ, ละเมอกินข้าว, ละเมอเล่นเครื่องดนตรี, ละเมอทำกับข้าว หรือแม้กระทั่งละเมอทำกิจกรรมที่เสี่ยงอันตราย โดยที่บุคคลนั้นๆ ไม่รู้ตัว ดังนั้นคนในครอบครัวต้องช่วยกันระมัดระวัง เพื่อไม่ให้เกิดเหตุร้ายแรง
ทั้งนี้ สาเหตุของของการเดินละเมอ มาจาก 1. การถูกรบกวนขณะนอนหลับ 2. เปลี่ยนเวลา 3. นอนกรน 4. บริเวณที่นอนมีเสียงดัง 5. มีอาการเจ็บป่วย 6. ประวัติของคนในครอบครัวมีอาการนอนละเมอ
อย่างไรก็ตาม การรักษาอาการเดินละเมอนั้น ต้องหาต้นเหตุเสียก่อนว่ามาจากอะไร หากมาจากอาการเจ็บป่วยก็รักษาให้หายดี หรือหากมาจากการนอนกรน ก็ต้องเริ่มต้นรักษาจากการนอนกรนเสียก่อน และอาการเดินละเมอจะหายไป.