สงกรานต์เป็นพิธีพราหมณ์ฮินดูจากอินเดีย ราชสำนักจารีตโบราณของอุษาคเนย์ รับมาเป็นแบบแผน เฉลิมฉลองแสดงความมั่นคงและมั่งคั่งของราชอาณาจักร มีทั้งส่วนคล้ายคลึงและแตกต่าง ขึ้นอยู่กับรัฐนั้นนับถือฮินดู หรือนับถือพุทธ

(ประเพณี 12 เดือน ในประวัติศาสตร์สังคมวัฒนธรรมเพื่อความอยู่รอดของคน ปรานี วงษ์เทศ สุจิตต์ วงษ์เทศ ศิลปวัฒนธรรมฉบับพิเศษ พ.ศ.2548)

อาจแบ่งเป็นสองระดับ คือประเพณีหลวง และประเพณีราษฎร์

ประเพณีหลวง เป็นพระราชพิธีในราชสำนัก มีกำหนดแบบแผนไว้ในกฎมณเฑียรบาลยุคต้นกรุงศรีอยุธยา มีพราหมณ์เป็นผู้ทำพิธี

พิธีที่สำคัญมาก เกี่ยวกับความมั่นคง คือพิธีถือน้ำพิพัฒน์สัตยา หรือดื่มน้ำสาบานว่าจะไม่คิดคดกบฏต่อกษัตริย์ มีการแต่งโองการแช่งน้ำให้พราหมณ์เป็นผู้อ่าน ในพิธีต่อหน้าพระพุทธรูป เทวรูป อันเป็นที่เคารพสูงสุด

สมัยต้นกรุงเทพฯ ทำพิธีกันในโบสถ์วัดพระศรีรัตนศาสดาราม ต่อหน้าพระพักตร์พระแก้วมรกต จึงเป็นเหตุให้ฮินดูผสมกลมกลืนเข้ากับพุทธ แล้วส่งแบบแผนสู่ชุมชนหมู่บ้าน ให้มีการสรงน้ำพระพุทธรูปและพระสงฆ์

ตลอดจนมีประเพณีและการละเล่นในวัด สืบจนทุกวันนี้

ประเพณีราษฎร์ ไม่ใช่สิ่งที่รับจากอินเดีย แต่เป็นประเพณีดั้งเดิมของชุมชนคนพื้นเมือง 3,000 ปีมาแล้ว เรียกรวมกันว่า ประเพณีหลังการเก็บเกี่ยวในฤดูกาลผลิตเก่า เตรียมตัวรับฤดูกาลเพาะปลูกใหม่

เทศกาลสงกรานต์ เป็นช่วงเวลาการปลดปล่อย เพื่อผ่อนคลายความตึงเครียดทั้งปีที่ผ่านมา ไม่ว่าจะเป็นความตึงเครียดจากการทำมาหากิน หรือกระทั่งความตึงเครียดจากการรักษาจารีตประเพณี

...

พิธีกรรมการละเล่นสนุกสนาน ละเมิดข้อห้ามต่างๆ โดยไม่ถือว่าเป็นความผิด จึงเกิดขึ้นในช่วงเวลานี้เอง

มีเอกสารบันทึกว่า สงกรานต์ในอดีต อนุญาตให้พระสงฆ์ในหมู่บ้าน ร่วมเล่นแข่งขันกับชาวบ้านได้

เช่น พระสงฆ์แข่งเรือ แข่งเกวียน แข่งจุดบั้งไฟ ฯลฯ

ขณะเดียวกัน ผู้หญิงชาวบ้านที่มีข้อห้ามเด็ดขาด ถูกเนื้อต้องตัวพระสงฆ์ไม่ได้ แต่ในสงกรานต์บางชุมชนอนุญาตให้ผู้หญิงทำได้ เช่น ผู้หญิงช่วยกันอุ้มพระสงฆ์ที่นิมนต์มาฉันอาหาร เอาไปโยนลงแม่น้ำลำคลอง หนองบึง

บางท้องถิ่นยอมให้ละเมิดกฎเกณฑ์เดิมๆได้มากกว่านี้ แต่ต้องให้ไม่ถึงขั้นละเมิดทางเพศ

เอกสารเก่าของรัฐล้านนาโบราณ บอกเล่าว่า ชาวบ้านกลุ่มชาติพันธุ์ในหุบเขา จะทำพิธีกรรมอย่างหนึ่ง ด้วยการพากันไปสาดน้ำพระเจ้าแผ่นดินที่ประทับในท้องพระโรง และตามประเพณี พระเจ้าแผ่นดินต้องวิ่งหนี

แต่ถ้าในยามปกติ ใครไปทำอย่างนั้น ต้องถูกฆ่าสถานเดียว

รู้ที่มาของเรื่องสงกรานต์กันบ้างแล้ว ลองอ่านประกาศสงกรานต์ กันดู

วันมหาสงกรานต์ปีนี้ อาทิตย์ที่ 14 เมษายน ทางจันทรคติขึ้น 10 ค่ำเดือนห้า ปีกุน นางสงกรานต์ นาม นางทุงสะเทวี ทรงพาหุรัด ทัดดอกทับทิม ภักษาหารผลมะเดื่อ หัตถ์ขวาทรงจักร หัตถ์ซ้ายทรงสังข์ เสด็จนั่งมาเหนือหลังครุฑ

เกณฑ์พิรุณศาสตร์ปีนี้ พฤหัสบดี เป็นอธิบดีฝน บันดาลให้ฝนตก 500 ห่า เกณฑ์ธาราธิคุณชื่อปฐวี น้ำอุดมสมบูรณ์ดี เกณฑ์นาคราชให้น้ำ ปีกุนนาคให้น้ำ 5 ตัว ทำนายว่าฝนต้นปีงาม กลางปีน้อย แต่ปลายปีมาก

เกณฑ์ธัญญาหารชื่อวิบัติ ข้าวกล้าไร่นา จะเกิดกิมิชาติคือมีด้วงแมลงรบกวน ข้าวกล้าจะได้ผล 1 ส่วน เสีย 5 ส่วน

ท้ายประกาศสงกรานต์ ทำนายบ้านเมือง...ปีนี้ทายไว้ไม่ค่อยดีเท่าไหร่...เข้าวัดทำบุญกันให้มากๆเข้าไว้ โบราณท่านว่า กุศลดลใจ เรื่องร้ายจะกลายเป็นเรื่องดีได้...แล.

กิเลน ประลองเชิง