กูรู ฟันธงแล้ว ปมกกต.ถูกยื่นถอดถอน บทสรุปสุดท้าย จบลงตรงไหน ส่วน อนาคตใหม่ ร้อง กกต.เปิดเผยคะแนนดิบ และสูตรคำนวณ ส.ส.อันนี้น่าลุ้นกว่า เหตุหากพบมีความผิดจริงการเลือกตั้งส่อเป็นโมฆะ แต่ต้องมีหลักฐานก่อน   

รศ.ยุทธพร อิสรชัย รองศาสตราจารย์ประจำสาขาวิชาคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช กล่าวกับ ทีมข่าวเจาะประเด็น ไทยรัฐออนไลน์ กรณีประชาชน ร่วมกันลงชื่อกว่า 8 แสนชื่อ เพื่อยื่นถอดถอนคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ว่า รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560 ให้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ทำหน้าที่แทนประชาชนในการยื่นถอดถอน กกต.ซึ่งเป็นองค์กรอิสระ ซึ่งต่างจากรัฐธรรมนูญฉบับเก่าที่ให้สิทธิ์ประชาชนยื่นถอดถอนกกต.ได้โดยตรง 

รศ.ยุทธพร อิสรชัย รองศาสตราจารย์ประจำสาขาวิชาคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช
รศ.ยุทธพร อิสรชัย รองศาสตราจารย์ประจำสาขาวิชาคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช

...

ทั้งนี้ เมื่อประชาชนยื่นเรื่องผ่าน ป.ป.ช.ซึ่งทำหน้าที่แทนเกี่ยวกับการไต่สวนกรณีมีการกล่าวหาผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง หรือองค์กรอิสระ ตามมาตรา 234 จากนั้น ป.ป.ช.พิจารณาว่า เข้าข่ายผิดจริยธรรม หรือกรณีอื่นๆ หรือไม่ ซึ่งกรณีของ กกต.ชุดนี้ หลักฐานที่ปรากฎอาจยังเป็นเรื่อง"ปฏิบัติหน้าที่บกพร่อง"เท่านั้น ยังไม่มีเรื่อง"ทุจริตเลือกตั้ง"ซึ่งหากเป็นข้อหานี้ ต้องยื่นเรื่องไปที่ ศาลรธน.ก็เสี่ยงว่าเลือกตั้งจะกลายเป็นโมฆะทันที หากศาลรธน.ชี้ว่า มีความผิดจริง 

ากนี้ไปตามขั้นตอนเมื่อมีประชาชนจำนวนมาก ยื่นเรื่อง ให้ถอดถอน 7 กกต. หากคณะกรรมการ ป.ป.ช. มีมติไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่ง ว่า มีพฤติการณ์ หรือกระทำผิดตามที่ไต่สวน ตามมาตรา 235 ให้ส่งสำนวนและพยานหลักฐาน ไปยังอัยการสูงสุด (อสส.)  ภายใน 30 วัน ตามมาตรา 76 พ.ร.บ. ป.ป.ช. ปี 2561

อัยการสูงสุด จะสั่งฟ้องภายใน 180 วัน นับแต่วันที่ได้รับสำนวน หากสำนวนไม่สมบูรณ์ให้แจ้งไปยัง ป.ป.ช. ภายใน 90 วัน และหากยังไม่แล้วเสร็จให้ตั้งกรรมการฝ่ายละ 5 คน ร่วมไต่ส่วน ก่อนส่งเรื่องไปยังศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง และหากศาลฎีกาฯประทับรับฟ้อง 7 กกต.จึงจะหยุดปฏิบัติหน้าที่จนกว่าจะมีคำพิพากษา

หากมีคำพิพากษาว่า ผู้ถูกกล่าวหามีพฤติการณ์ หรือกระทำความผิดตามที่ถูกกล่าวหาแล้วแต่กรณี ให้ผู้ต้องคำพิพากษาพ้นจากตำแหน่ง นับแต่วันที่หยุดปฏิบัติหน้าที่ และอาจเพิกถอนสิทธิรับสมัครเลือกตั้ง เพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง ไม่เกิน 10 ปี ซึ่งกรณีอาจไม่มีโทษทางอาญา หรือจะมีโทษอาญาก็ได้ ขึ้นอยู่ที่ศาลจะเป็นผู้ตัดสิน

รศ.ยุทธพร กล่าวต่อว่า ขั้นตอนดังกล่าวใช้เวลาไม่น้อยกว่า 240 วัน แน่นอนว่า ไม่ทันที่กกต.จะประกาศผลการเลือกตั้งอย่างเป็นทางการ วันที่ 9 พ.ค.นี้ แน่นอน โดยกรณีที่มีการพิจารณาว่า กกต.กระทำผิดจริงและมีการถอดถอนออกจากตำแหน่ง ให้ประธานศาลฎีกา และประธานศาลปกครองสูงสุด แต่งตั้งบุคคลทำหน้าที่แทน ซึ่งอาจไม่กระทบผลการเลือกตั้ง เนื่องจากเป็นความผิดเฉพาะเกี่ยวกับการทำหน้าที่ของ กกต. ไม่ได้ถูกชี้ว่าการเลือกตั้งทุจริต หรือเติมบัตรคะแนน 

 รศ.ยุทธพร กล่าวอีกว่า หากการทำหน้าที่ของกกต.ไม่มีหลักฐานปรากฏชัดว่า มีการกระทำทุจริตต่อผลคะแนนการเลือกตั้ง การเลือกตั้งก็จะไม่เป็นโมฆะแน่นอน ซึ่งเท่าที่ดูมาถึงตอนนี้ ก็ยังไม่ปรากฏว่า กกต.ทุจริตต่อการเลือกตั้ง ที่ออกมาก็มีเพียงแต่ข่าว ยกตัวอย่าง อย่างกรณี ข้อสงสัยสูตรการนับคะแนน ส.ส. ที่หลายคนกังขา กกต.ก็ยังไม่ได้ประกาศออกมา จึงต้องรอดูก่อนว่า เมื่อประกาศสูตรการนับคะแนน ออกมาอย่างเป็นทางการแล้ว กกต.จะมีความผิดหรือไม่ โดยเฉพาะ หากพบว่า สูตรการนับคะแนนนี้ กกต.จงใจไม่คำนวณให้เป็นไปตามวิธีคำนวณที่กำหนดขึ้น หรือมีเจตนาให้เห็นชัดว่า ต้องการช่วยพรรคการเมืองพรรคใดพรรคหนึ่ง อันนี้จึงจะเข้าองค์ประกอบการเลือกตั้งอาจเป็นโมฆะ แต่กรณีนี้ต้องยื่นไปที่ ศาลรธน.เป็นผู้ตัดสิน ซึ่งเป็นคนละช่องทาง กับการรวบรวมชื่อยื่นถอดถอนกกต.อันนั้นต้องร้องไปที่ ป.ป.ช.