เตรียมขอพระราชทานชื่อปูทหารชนิดใหม่ของโลกจาก 'ในหลวง' ใช้ชื่อว่า "ปูทหารแห่งพระราชา" โดยพบที่ปากบารา ด้านผู้เชี่ยวชาญจากต่างประเทศคาด อาจเป็นปูทหารยักษ์ชนิดใหม่ของโลก รอตรวจดีเอ็นเอเพิ่ม...
2 มี.ค. นายธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ รองคณบดีคณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์เปิดเผยว่า ขณะนี้ได้ค้นพบปูทหารยักษ์ชนิดใหม่ของโลกที่หาดปากบารา จ.สตูลทั้งนี้การค้นพ้นปูชนิใหม่ดังกล่าวเกิดขึ้นหลังจากที่คณะนักวิจัยจาก ภาควิชาวิทยาศาสตร์ทางทะเล คณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ นำโดย นายพันธุ์ทิพย์ วิเศษพงษ์พันธ์ ผู้เชี่ยวชาญสิ่งมีชีวิตกลุ่มปู ซึ่งได้รับงบจากสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ทำโครงการ BiodiversityHotspots เพื่อศึกษาด้านความหลากหลายทางชีวภาพของสิ่งมีชีวิตทั้งบนบก และในทะเลมาระยะหนึ่ง
นายธรณ์ กล่าวว่า ในการสำรวจบริเวณหาดปากบารา จ.สตูล เมื่อเดือนพ.ย.2553 นักวิจัยได้สำรวจพบปูทหารที่มีลักษณะแปลกประหลาด ไม่เคยพบเห็นในกลุ่มปูทหารมาก่อน โดยนักวิจัยได้นำตัวอย่างกลับมาตรวจสอบรายละเอียด เทียบกับปูทหารที่เคยมีรายงานการค้นพบในประเทศไทยทั้ง 13 ชนิดใน 2 กลุ่ม คือ กลุ่มปูทหารและกลุ่มปูยักษ์ที่เคยมีรายงานเพียง 1 ชนิด พบที่ชลบุรีเมื่อนานมาแล้ว แต่ไม่มีรายละเอียดชัดเจน ก็พบว่าปูที่ปากบารานั้น ไม่เหมือนกับปูทหารตัวอื่นๆ จนกระทั่งมีการส่งไปตรวจสอบกับผู้เชี่ยวชาญเรื่องปูที่ประเทศสิงคโปร์ และออสเตรเลีย เบื้องต้นยืนยันว่าอาจเป็นปูทหารยักษ์ชนิดใหม่ของโลก โดยระหว่างนี้จะมีการตรวจสอบดีเอ็นเอเพิ่มเติมด้วย
“ความโดดเด่นของปูทหารยักษ์ปากบาราก็คือ จะมีกระดองใหญ่กว่าปูทหารธรรมดา ที่ส่วนใหญ่กระดองจะกว้างเพียง 1 ซม.เท่านั้น แต่ปูยักษ์ กว้างราว 2.5 ซม. และเป็นลักษณะโค้งนูน สีเทาอมฟ้า บนกระดองแบ่งเป็นเนินด้วยร่องลึก ก้ามสีครีมเหลืองโค้งลง และวางตัวในแนวตั้งกับด้านหน้าของตัวปู ขาเดินมีสีน้ำตาลอ่อนที่บริเวณปล้องที่ 3 และปล้องที่ 4 ของด้านล่างของก้าม มีหนามแหลมปล้องละ 1 อันก้านตาสั้น เบ้าตาเล็กมาก มีหนามที่ขอบด้านข้างกระดองด้านหน้า 1 คู่บริเวณขอบหลังของกระดองมีแผงขนสั้นๆ ปล้องท้องตัวผู้แยกจากกันชัดเจน โดยปล้องที่ 7 มีขนาดเล็กแตกต่างจากปล้องอื่นๆ ชัดเจน ช่องปากกลมนูน มีขากรรไกรคู่ที่ 3เป็นแผ่นกลมขนาดใหญ่ และมีขนเล็กๆ จำนวนมาก นอกจากนี้จะมีพฤติกรรมที่เห็นชัดคือการเคลื่อนที่และหยุดเป็นระยะ ต่างจากปูทหารทั่วไปรวมทั้งยังขุดทรายมาสร้างสันทรายรอบตัวเป็นรูปวงกลม เหมือนบังเกอร์” นายธรณ์ ระบุ
รองคณบดีคณะประมง กล่าวอีกว่า ขณะนี้ยังไม่ได้มีการสำรวจว่ามีประชากรเหลืออยู่มากน้อยแค่ไหนแต่ความสำคัญอยู่ที่การเป็นสัตว์เฉพาะถิ่นเดียวในปากบาราเท่านั้น จึงมีความสำคัญต่อระบบนิเวศน์ เพราะช่วยดูแลความสะอาดกินพวกเศษซากพืชและสัตว์บนหาด และมีความเป็นไปได้สูงว่า ปูชนิดนี้ที่จะใช้เป็นตัวชี้วัดคุณภาพทางชีววิทยา ในการบ่งชี้ปริมาณของโลหะหนักในระบบนิเวศทางทะเลเหมือนกับที่มีการศึกษาในปูทหาร (Mictyris brevidactylus) ที่พบว่า มีความสามารถในการสะสมโลหะหนักไว้ภายในตัวสูงเช่นเดียวกับหอยนางรม ดังนั้น ภาควิชาวิทยาศาสตร์ทางทะเลเตรียมจะศึกษารายละเอียดเชิงลึกเพิ่มเติมโดยเร็วที่สุด เนื่องจากเป็นห่วงว่าในอนาคตถ้ามีโครงการพัฒนาขนาดใหญ่ โดยเฉพาะการก่อสร้างท่าเรือปากบาราในพื้นที่นี้อาจทำให้ปูชนิดนี้เสี่ยงต่อการสูญพันธุ์อย่างยิ่ง
นายธรณ์กล่าวด้วยว่า เบื้องต้นทางทางนักวิจัย ได้ตั้งชื่อเล่นให้กับปูด้วยว่า “ปูทหารยักษ์ปากบารา” พร้อมกันนี้ยังเตรียมเสนอขอพระบรมราชานุญาตพระราชทานชื่อจากพระบาทสมเด็จ พระเจ้าอยู่หัว เพื่อเฉลิมฉลอง 84 พรรษาของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว โดยจะตั้งชื่อปูชนิดใหม่ของโลกว่า “ปูทหารแห่งพระราชา” อีกด้วย
...