ยานอวกาศโอซิริส-เร็กซ์ (OSIRIS-REx) ขององค์การบริหารการบินและอวกาศแห่งชาติสหรัฐอเมริกา หรือองค์การนาซา ถูกปล่อยขึ้นสู่อวกาศเมื่อปี พ.ศ.2559 ไปสำรวจดาวเคราะห์น้อยเบนนู (Bennu) ที่เชื่อว่าจะช่วยให้นักวิทยาศาสตร์เรียนรู้เพิ่มเติมเกี่ยวกับต้นกำเนิดของระบบสุริยะของเรา รวมถึงแหล่งน้ำและโมเลกุลอินทรีย์บนโลก ทั้งยังช่วยปรับปรุงความเข้าใจเกี่ยวกับดาวเคราะห์น้อยที่อาจส่งผลกระทบต่อโลก

แม้ว่ายานอวกาศโอซิริส-เร็กซ์จะยังไม่สามารถระบุจำนวนและขนาดของก้อนหินบนพื้นผิวดาวเคราะห์น้อยเบนนูได้ แต่เคยคาดการณ์ว่ามันจะมีพื้นผิวเรียบและมีก้อนหินขนาดใหญ่ไม่มากนัก แต่ล่าสุดกลับพบว่าพื้นผิวทั้งหมดของดาว เคราะห์น้อยดังกล่าวมีความขรุขระและหนาแน่นไปด้วยหิน นอกจากนี้ยังพบอนุภาคที่ปะทุขึ้นมาขณะยานโคจรรอบในระยะทาง 1.61 กิโลเมตร การค้นพบที่น่าประหลาดใจนี้แสดงให้เห็นว่า ดาวเคราะห์น้อยเบนนูมีความแข็งแกร่งกว่าที่คิดไว้ ทำให้ท้าทายต่อภารกิจสำรวจ ซึ่งต้องปรับเปลี่ยนวิธีการเก็บตัวอย่างเพราะพื้นผิวมีความขรุขระ

...

นักวิทยาศาสตร์จากนาซาเผยว่า ในช่วง 3 เดือนแรกที่ยานโอซิริส-เร็กซ์เดินทางมาถึงเบนนู ได้สังเกตเห็นการเปลี่ยนแปลงของอัตราการหมุน ความร้อนเย็นที่ไม่สม่ำเสมอเมื่อมันหมุนไปตามแสงอาทิตย์ ที่ทำให้มันเพิ่มความเร็วในการหมุน จะเป็นผลให้ระยะเวลาการหมุนของเบนนูลดลงประมาณ 1 วินาทีทุกๆ 100 ปี อย่างไรก็ตาม ยานอวกาศโอซิริส-เร็กซ์จะนำตัวอย่างวัตถุที่ได้จากเบนนูกลับมายังโลกในปี พ.ศ. 2566.