องค์การอนามัยโลกคาดการณ์ว่า ประเทศไทยมีผู้บกพร่องทางการได้ยินมากกว่า 2 ล้านคน ขณะที่ความพิการทางการได้ยินในประเทศไทย จัดเป็นความพิการอันดับที่สอง ใน 5 อันดับของความพิการในประเทศไทย โดยมีผู้ขึ้นทะเบียนความพิการทางการได้ยิน จำนวน 375,680 คน คิดเป็น 18.41% ของความพิการทุกประเภท

นพ.สุขุม กาญจนพิมาย ปลัดกระทรวงสาธารณสุข บอกว่า ความบกพร่องทางการได้ยินเกิดได้กับคนทุกวัยในวัยแรกเกิด อาจเกิดจากโรคทางพันธุกรรม การติดเชื้อของมารดาระหว่างตั้งครรภ์ หรือทารกต้องอยู่ในหอผู้ป่วยหนัก ในกลุ่มวัยรุ่นและวัยทำงาน อาจเกิดจากการใช้อุปกรณ์เครื่องเสียงบ่อยและดังเกินไป หรือทำงานในที่ที่มีเสียงดังเกินไปและไม่มีอุปกรณ์ป้องกัน ส่วนวัยชราอาจเกิดจากโรค ประจำตัวหรือหูเสื่อมจากอายุที่มากขึ้น

“ความบกพร่องทางการได้ยินสามารถฟื้นฟูให้ดีขึ้นได้ หากเข้ารับการตรวจรักษา และได้รับคำแนะนำการป้องกันการสูญเสียการได้ยินที่ถูกต้อง ซึ่งที่ผ่านมาคนไทยไม่ค่อยให้ความสำคัญกับเรื่องนี้มากนัก ทำให้มีจำนวนผู้บกพร่องทางการได้ยินเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ” คุณหมอสุขุมบอกและว่า เนื่องในวันการได้ยินโลก 2562/World Hearing Day Thailand 2019 ได้มีการกำหนดการดูแลการได้ยินในธีม Check your hearing คือ ตรวจการได้ยินของคุณเสีย เพื่อให้ประชาชนใส่ใจในเรื่องการได้ยินของตนเองมากขึ้น

...

ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ให้ข้อมูลว่า ปัจจุบันกระทรวงสาธารณสุขร่วมกับราชวิทยาลัย โสต ศอ นาสิกแพทย์ แห่งประเทศไทย พัฒนาผู้เชี่ยวชาญด้านหู คอ จมูก กระจายตามโรงพยาบาลศูนย์และโรงพยาบาลทั่วไป ให้ทั่วถึงมากขึ้นเพื่อจะได้ช่วยกันดูแลประชาชน จึงอยากเชิญชวนคนไทยที่มีข้อสงสัยหรือพบอาการผิดปกติทางการได้ยิน รวมทั้งกลุ่มเสี่ยงตั้งแต่วัยเด็ก วัยรุ่น ผู้ใหญ่และผู้สูงอายุ ให้มารับการตรวจตั้งแต่เริ่มต้น เพื่อจะได้ทราบวิธีการป้องกันและแก้ไขได้ทัน ไม่ให้มีอาการเสื่อมมากขึ้น

ด้าน นพ.มานัส โพธาภรณ์ ผอ.รพ.ราชวิถี และว่าที่รองอธิบดีกรมการแพทย์ บอกว่า คนไทยมีภาวะบกพร่องทางการได้ยินเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ สาเหตุจากปัจจัยการใช้ชีวิต เช่น การใส่หูฟัง การชมการแสดงคอนเสิร์ต การแข่งขันกีฬา และกิจกรรมอื่นๆที่มีเสียงดัง นอกจากนี้ยังพบว่า ในทารกแรกเกิด ไม่ได้มีการตรวจคัดกรองการได้ยิน ทำให้เด็กได้รับการวินิจฉัยและฟื้นฟูการได้ยินล่าช้า

“เด็กบางคนกว่าจะรู้ว่ามีปัญหาการได้ยินก็อายุ 2-3 ขวบไปแล้ว ซึ่งผู้ปกครองเพิ่งสังเกตได้จากเด็กไม่พูดหรือพูดช้า มีปัญหาด้านภาษาและการสื่อสาร ซึ่งนอกจากเป็นเรื่องของปัญหาการได้ยินแล้ว ยังส่งผลต่อพัฒนาการด้านอื่นๆด้วย” คุณหมอมานัสให้ข้อมูลพร้อมกับบอกว่า การณรงค์ Check your hearing เป็นการกระตุ้นให้ประชาชนใส่ใจในเรื่องการได้ยินของตนเอง และมารับการตรวจการได้ยินเมื่อมีปัญหาการได้ยิน โดยเฉพาะผู้ที่มีความเสี่ยงสูงต่อการสูญเสียการได้ยิน เช่น ผู้ที่มีอายุมากกว่า 60 ปี ผู้ที่ทำงานในที่เสียงดัง และการตรวจคัดกรองการได้ยินในทารกแรกเกิด

ผอ.รพ.ราชวิถี บอกว่า ในส่วนของ รพ.ราชวิถี มีผู้ป่วยที่มีปัญหาโรคหูและการได้ยิน เข้ารับการรักษาที่ รพ.กว่า 3,000 รายต่อปี โดยมีศูนย์การแพทย์เฉพาะทางด้าน โสต ศอ นาสิกฯ ทำหน้าที่ในการตรวจวินิจฉัย รักษา และฟื้นฟูภาวะความบกพร่องทางการได้ยินมานานกว่า 60 ปี เป็นโรงพยาบาลที่ผ่าตัดฝังประสาทหูเทียมให้กับผู้ป่วยมากที่สุดในประเทศไทย

“รพ.ราชวิถีเราทำการรักษาและผ่าตัดฝังประสาทหูเทียมให้กับผู้ป่วยถือว่ามากที่สุด โดยเป็นศูนย์รับส่งต่อผู้ป่วยจากโรงพยาบาลต่างๆทั่วประเทศ ซึ่งส่วนใหญ่ในส่วนภูมิภาคจะมีปัญหาเรื่องบุคลากรและทรัพยากร เช่น นักแก้ไขการได้ยินซึ่งขาดแคลนมากในเวลานี้ แพทย์หู คอ จมูก ที่ดูแลโรคหูโดยเฉพาะก็ถือว่าอยู่ในสัดส่วนที่น้อยเมื่อเทียบกับความต้องการของผู้ป่วย ส่วนใหญ่ก็จะถูกส่งต่อมาที่ รพ.ราชวิถี ให้ทำการรักษามากกว่า 3,000 คนต่อปี”

คุณหมอมานัส ให้ข้อมูลว่า ในกลางปี 2562 นี้ จะมีการเปิดอาคารศูนย์การแพทย์ราชวิถี เพื่อลดปัญหาความแออัด และลดระยะเวลาการรอคอยการรักษาของผู้ป่วย ซึ่งก็ยังขาดเครื่องมือและอุปกรณ์ทางการแพทย์ ที่จะใช้ในอาคารศูนย์การแพทย์อีกเป็นจำนวนมาก ซึ่งประชาชนสามารถมีส่วนร่วมบริจาคได้ที่ ชื่อบัญชี “เงินบริจาคของโรงพยาบาลราชวิถี” หมายเลขบัญชี 051-276128-1 ธนาคารไทยพาณิชย์ สาขาโรงพยาบาลราชวิถี หรือบริจาคเข้าบัญชี “ศูนย์การแพทย์ราชวิถีในมูลนิธิโรงพยาบาลราชวิถี” ธนาคารไทยพาณิชย์ สาขาโรงพยาบาลราชวิถี หมายเลขบัญชี 051-2-69056-1 หรือสอบถามโทร.0-2354-7997-หรือ http://www.rajavithihospitalfoundation.org

...

สำหรับประชาชนทั่วไปให้สังเกตอาการเบื้องต้นของการมีปัญหาการสูญเสียการได้ยิน คือการได้ยินเสียงดังผิดปกติในหู เช่น ได้ยินเป็นเสียงซ่าๆเหมือนเสียงสัญญาณทีวี เสียงเหมือนน้ำไหล เสียงคล้ายเสียงจิ้งหรีด หรือรู้สึกว่าการได้ยินแย่ลงกว่าเดิมหากมีอาการเหล่านี้ ควรมาพบแพทย์ เพื่อตรวจหาสาเหตุและรักษา หากปล่อยให้เป็นประสาทหูเสื่อมจะไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ นอกจากป้องกันไม่ให้เสื่อมมากขึ้นหรือชะลอการเสื่อมลง แต่ถ้าประสาทหูเสื่อมมากจนมีผลต่อการใช้ชีวิตประจำวัน สามารถฟื้นฟูการได้ยินได้โดยการใส่เครื่องช่วยฟัง และการผ่าตัดฝังประสาทหูเทียมในกรณีที่ใช้เครื่องช่วยฟังไม่ได้ผล

หากรู้สึกถึงปัญหาการได้ยินของตนเอง ควรรีบไปปรึกษาแพทย์ เพื่อป้องกันและแก้ไข ก่อนที่จะเกิดความบกพร่องทางการได้ยิน เพราะประสาทหูเสื่อมซึ่งนอกจากจะรักษาไม่หายแล้ว ยังอาจต้องพิการไปตลอดชีวิตอีกด้วย.