คำว่า "งูเห่า" อยู่ดีๆ ก็ผุดขึ้นมาในสมองเสียอย่างนั้น เมื่อการเมืองไทยกำลังเดินทางไปสู่ศึกเลือกตั้งวันที่ 24 มีนาคม 2562 การขับเคลื่อนสู่เป้าหมายคว้าชัยชนะ ทำให้หลายพรรคต้องงัดสารพัดวิธี ช่วงชิงความเป็นหนึ่งเพื่อจัดตั้งรัฐบาลดูแลประเทศชาติ กระทั่งล่าสุด มีกระแสข่าวออกมาจากปากสมาชิกพรรคเพื่อชาติ "เตือนผ่านสื่อ" พรรคสีฟ้าเก่าแก่ดั้งเดิม ระวังจะเจอพวกงูเห่าย้ายข้างไปสมคบคิดกับอีกฝ่าย.....อันนี้ไม่รู้ว่าพรรคสีฟ้ากำลังเล่นเกมหรืออย่างไร แต่ที่แน่ๆ ฝ่ายตรงข้ามก็เด้งรับสุดตัวออกมาพูดดักทาง ทั้งๆ ที่ไม่รู้ว่าจุดประสงค์ข้อเท็จจริงของพรรคสีฟ้าต้องการอะไรกันแน่ เพราะอยู่ดีๆ มาตั้งแง่ปลุกกระแสความคิดต่างในพรรค ขณะที่ศึกเลือกตั้งกำลังจะเกิดขึ้น
"กลุ่มงูเห่า" คืออะไร คนที่ไม่เคยติดตามการเมืองมาก่อนคงไม่รู้ความเป็นมา "ทีมข่าวเจาะประเด็นไทยรัฐออนไลน์" จะขยายความย้อนเล่าความหลังต้นกำเนิดงูเห่าให้ได้ทราบกันว่า "กลุ่มงูเห่า" เป็นชื่อเรียก ส.ส.กลุ่มหนึ่งที่เคยสังกัดพรรคประชากรไทย มีที่มาจากคำเปรียบเปรยของ นายสมัคร สุนทรเวช หัวหน้าพรรคประชากรไทย ในขณะนั้น ที่เปรียบตัวเองเป็นเหมือนชาวนาที่ถูกงูเห่ากัดในนิทานอีสป
ย้ายข้างหวังชัยชนะ
เหตุการณ์เกิดขึ้น หลังการลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ของ พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ ปลายปี พ.ศ.2540 และพรรคร่วมรัฐบาลเดิมมีมติจะสนับสนุนให้ พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ หัวหน้าพรรคชาติพัฒนา ขึ้นดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีแทน ด้วยเสียงของพรรคความหวังใหม่ (ส.ส. 125 เสียง) พรรคชาติพัฒนา (52 เสียง) พรรคประชากรไทย (18 เสียง) และ พรรคมวลชน (2 เสียง) รวม 197 เสียง
...
ขณะที่ พรรคฝ่ายค้านเดิม นำโดย พรรคประชาธิปัตย์ (123 เสียง) ต้องการสนับสนุน นายชวน หลีกภัย โดยร่วมกับ พรรคชาติไทย (39 เสียง) พรรคเอกภาพ (8 เสียง) พรรคพลังธรรม (1 เสียง) พรรคไท (1 เสียง) และพรรคร่วมรัฐบาลสมัย พล.อ.ชวลิต 2 พรรค ได้แก่ พรรคกิจสังคม (20 เสียง) และ พรรคเสรีธรรม (4 คน) รวมได้ 196 เสียง ซึ่งน้อยกว่าฝ่ายพรรคร่วมรัฐบาลเดิม อยู่เพียง 1 เสียง
พล.ต.สนั่น ขจรประศาสน์ เลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์ จึงได้ชักชวน ส.ส.พรรคประชากรไทย กลุ่มของ นายวัฒนา อัศวเหม จำนวน 13 คน เข้ามาสนับสนุน รวมได้เป็น 209 เสียง และทำให้ฝ่ายพรรคร่วมรัฐบาลเดิม เหลือเพียง 185 เสียง นายชวน หลีกภัย จึงได้ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรี ท่ามกลางเสียงวิพากษ์วิจารณ์ว่า เป็นการไม่เคารพกติกาประชาธิปไตย เนื่องจาก นายสมัคร สุนทรเวช หัวหน้าพรรคประชากรไทย มีมติพรรค ไม่ให้กลุ่มของนายวัฒนาเข้าร่วมรัฐบาล
หลังเหตุการณ์ครั้งนี้ทำให้นายสมัคร ที่เดิมเป็นรองนายกรัฐมนตรี ในฐานะหัวหน้าพรรคร่วมรัฐบาล กลับต้องกลายเป็นฝ่ายค้าน โดยเหลือ ส.ส.ในสังกัดเพียง 4 คนไม่นับตัวเอง คือ นายสุมิตร สุนทรเวช นางลลิตา ฤกษ์สำราญ นายห้างทอง ธรรมวัฒนะ และ นายสนิท กุลเจริญ อย่างไรก็ดี หลังจากมีพระบรมราชโองการแต่งตั้งนายชวน หลีกภัยเป็นนายกรัฐมนตรี นายชัยภักดิ์ ศิริวัฒน์ ซึ่งเป็น 1 ในสมาชิกที่สนับสนุนนายชวน ก็ตัดสินใจลาออกจากตำแหน่ง ส.ส. ทันที
"สมัคร" ผู้นิยามคำว่ากลุ่ม "งูเห่า"
หลังเหตุการณ์ครั้งนี้ นายสมัคร สุนทรเวช หัวหน้าพรรคประชากรไทย ได้กล่าวเปรียบเทียบว่า ตนเองเป็นเหมือน ชาวนา ในนิทานอีสป เรื่อง "ชาวนากับงูเห่า" ที่เก็บงูเห่าที่กำลังจะตายจากความหนาวเย็น มาไว้ในอกเสื้อเพื่อให้ความอบอุ่น แต่ต่อมา งูเห่า นั้นก็ฉกชาวนาตาย ซึ่งนายสมัคร เปรียบเทียบงูเห่า กับแกนนำของ ส.ส. ทั้ง 12 คน โดยเฉพาะ ส.ส.กลุ่มปากน้ำ ของนายวัฒนา อัศวเหม ซึ่งเดิมสังกัด พรรคชาติไทย แต่หลังจากมีความขัดแย้งกับ นายบรรหาร ศิลปอาชา หัวหน้าพรรค จึงไม่มีพรรคสังกัด จนในที่สุดมาเข้าสังกัด พรรคประชากรไทย ที่นายสมัครเป็นหัวหน้าพรรค และต่อมาก็มีการกระทำที่ขัดต่อมติพรรคดังกล่าว ทำให้สื่อมวลชนเรียก ส.ส. 12 คนนี้ตามคำพูดของนายสมัครว่า "กลุ่มงูเห่า" อยู่เป็นเวลานาน
ส.ส. มีความเป็นอิสระ ที่จะไม่ต้องปฏิบัติตามมติพรรค
ต่อมาพรรคประชากรไทยตอบโต้ โดยมีมติขับไล่สมาชิกกลุ่มนี้ออกจากพรรค ซึ่งจะส่งผลให้สิ้นสภาพ ส.ส. และกลุ่มงูเห่าได้ยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ ให้ตัดสินว่าการดำรงตำแหน่งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สิ้นสุดลงตามมติพรรคหรือไม่ และต่อมาศาลรัฐธรรมนูญ ได้มีคำวินิจฉัยที่ 1/2542 ลงวันที่ 11 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2542 ว่า สมาชิกภาพของกลุ่มงูเห่าไม่ได้สิ้นสุดลง เนื่องจาก ส.ส. มีความเป็นอิสระที่จะไม่ต้องปฏิบัติตามมติพรรค และมติขับไล่ออกจากพรรคเป็นมติที่ไม่ชอบ ขัดต่อการปฏิบัติหน้าที่ของ ส.ส.ตามรัฐธรรมนูญ ส่งผลให้ ส.ส.ทั้ง 12 คน ยังคงสถานภาพ และหาพรรคใหม่สังกัด
หลังพรรคประชาธิปัตย์ จัดตั้งรัฐบาลสำเร็จ แกนนำกลุ่ม ส.ส.ดังกล่าวได้รับตำแหน่ง รัฐมนตรี จากรัฐบาลนายชวน หลีกภัย 4 ตำแหน่ง คือ พลอากาศเอกสมบุญ ระหงษ์ ได้ตำแหน่ง รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี นายวัฒนา อัศวเหม ได้ตำแหน่ง รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย นายประกอบ สังข์โต ได้ตำแหน่ง รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงแรงงานและสวัสดิการสังคม นายยิ่งพันธ์ มนะสิการ ได้ตำแหน่ง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ในเวลาต่อมา นายวัฒนา อัศวเหม แกนนำกลุ่มงูเห่า ถูกดำเนินการตรวจสอบ กรณีพัวพันกับการทุจริตโครงการบ่อบำบัดน้ำเสียคลองด่าน
สมาชิกกลุ่มงูเห่า 13 คน
1.นายวัฒนา อัศวเหม สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดสมุทรปราการ
2.พลอากาศเอกสมบุญ ระหงษ์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดสมุทรปราการ
3.นายยิ่งพันธ์ มนะสิการ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดพิษณุโลก
4.นายประกอบ สังข์โต สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดนนทบุรี
5.นายมั่น พัธโนทัย สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดสมุทรปราการ
6.นายสำเร็จ อัจฉริยะประสิทธิ์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดนนทบุรี
7.นายสมพร อัศวเหม สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดสมุทรปราการ
8.นายไกรสิทธิ์ ไกรสิทธิ์พงศ์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดพิษณุโลก
9.นายสุชาติ บรรดาศักดิ์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดนนทบุรี
10.นายพูนผล อัศวเหม สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดสมุทรปราการ
11.นายฉลอง เรี่ยวแรง สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดนนทบุรี
12.นายทนุศักดิ์ เล็กอุทัย สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดอุตรดิตถ์
13.นายชัยภักดิ์ ศิริวัฒน์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดอุตรดิตถ์ (ลาออกทันทีหลังแต่งตั้งนายกรัฐมนตรี)
"เนวิน" ผู้ก่อตั้งกลุ่มงูเห่า ภาค 2 ฉก"ทักษิณ"เจ็บระบม
"ผมยอม เสียเพื่อน เสียนาย เสียพรรค เพื่อร่วมงานกับ พรรคประชาธิปัตย์" นี่เป็นคำพูดของนายเนวิน ชิดชอบ ครั้งย้อนไปเมื่อ 10 ปีก่อน เพราะความไม่เป็นปึกแผ่นของพรรค "พลังประชาชน" เมื่อช่วงปี 2551 ส่งผลให้ "เนวิน ชิดชอบ" ตัดสินใจพาสมาชิก "กลุ่มเพื่อนเนวิน" 24 ชีวิต หักหลัง "ทักษิณ ชินวัตร" มาช่วย "ประชาธิปัตย์" จัดตั้งรัฐบาล
ในช่วง "รัฐบาลสมัคร" ถูกขนานนามเป็น "แก๊ง ออฟ โฟร์" ประกอบด้วย "สมัคร สุนทรเวช" "เนวิน ชิดชอบ" "สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี" และ "ธีรพล นพรัมภา" ว่ากันว่า 4 คนนี้ยึดอำนาจเบ็ดเสร็จในพรรค เตรียมแยกออกมาจาก พลังประชาชน เพื่อไปตั้งพรรคการเมืองใหม่ โดยไม่แคร์ "พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร" กระทั่งสุดท้ายทักษิณ สั่งสกัด "สมัคร" กลางสภาผู้แทนราษฎร ที่เปิดประชุมเพื่อเลือกนายกรัฐมนตรี ในทีแรกปล่อยข่าวว่าจะให้ "สมัคร สุนทรเวช" นั่งเก้าอี้นายกฯ ต่อไป แต่ท้ายที่สุดต้องแต่งตัวรอเก้อ เพราะนายกฯ คนใหม่คือ นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์
เหตุการณ์นั้นทำให้ "เนวิน" พร้อมด้วย 72 ส.ส. "กลุ่มเพื่อนเนวิน" ที่สนับสนุนสมัครมาโดยตลอด รู้สึกไม่พอใจ เพราะไม่ใช่เพียงแค่สูญเสียอำนาจ จากการที่ "สมัคร" ต้องพ้นจากเก้าอี้ "นายกรัฐมนตรี" แต่เหมือนเป็นการหักหน้าบรรดา "แก๊ง ออฟ โฟร์" เนวิน เก็บความคับแค้นไว้ในใจ และด้วยเป็นคนนิสัยจงรักภักดีต่อเจ้านาย จึงดำเนินชีวิตต่อไปเป็นปกติ กระทั่งต่อมา "แก๊ง ออฟ โฟร์" ถูกโค่นลงอย่างสิ้นเยื้อใย เพราะคนสนิทชิดใกล้ของทักษิณ ได้กุม "ชัยชนะ" เหนือ "เพื่อนเนวิน" ประกอบไปด้วย ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง, คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์, ยงยุทธ ติยะไพรัช, พงษ์ศักดิ์ รักตพงศ์ไพศาล และเยาวภา วงศ์สวัสดิ์ น้องรัก "ทักษิณ"
ความน้อยเนื้อต่ำใจจึงเกิดขึ้น เพราะ "เนวิน ชิดชอบ" เป็นบุคคลที่ทุ่มเททำเพื่อทักษิณมาโดยตลอด และยังเป็นกลุ่มแรกๆ ที่ออกมาประกาศต่อสู้เพื่อ "ทักษิณ" ด้วยการสถาปนา "กองกำลังเสื้อแดง" ในนามของ "พีทีวี" "แนวร่วมประชาธิปไตยขับไล่เผด็จการ" (นปก.) และ "กลุ่มคนรักทักษิณไม่เอาเผด็จการ" รวมถึงกลุ่มอื่นๆ อีกนับสิบกลุ่ม.......เหตุนี้เองทำให้ความคิดของเนวินค่อยๆ เปลี่ยนไป เพราะในวันนั้น "เพื่อนเนวิน" มีสภาพไม่ต่างจากการโดนหลอกใช้ เมื่อสมหวังก็ไม่เห็นความสำคัญ ถูกทิ้งอย่างไม่ไยดี
"จุดแตกหัก" พรรคไม่เห็นหัวเนวิน "สุเทพ" ฉวยโอกาสชวนมาอยู่ด้วย
ข่าวลือหนาหูจากกลุ่มวังบัวบาน ของนางเยาวภา วงศ์สวัสดิ์ ผู้ที่ถือว่าได้ทำการบุกเบิก "พรรคเพื่อไทย" ว่าจะมีการคัดกรอง "ส.ส.กลุ่มเพื่อนเนวิน" แล้วอนุญาตให้เข้าร่วมพรรคเฉพาะบางคน โดยจะมีการกัน "หัวขบวน" อย่าง "เนวิน" และ "ส.ส.บุรีรัมย์" อีก 4-5 คน ไม่ให้เข้าสังกัด
ขณะนั้น นายสุเทพ เทือกสุบรรณ จากประชาธิปัตย์ จึงถือโอกาสเหมาะ เข้าแทรกแซงและร่วมเป็น "เพื่อน" กับ "เนวิน" จนมีข่าว "คู่หูการเมืองใหม่" ร่วมโต๊ะอาหารบ่อยครั้ง ทำให้เนวิน ทบทวนทิศทางการเมืองของตัวเอง เมื่อศาลรัฐธรรมนูญยุบพรรคพลังประชาชน สุเทพ เสนอให้เนวิน เลือกข้างใหม่ ตัดขาดระบอบทักษิณ โดยยื่นข้อเสนอมากมายที่เนวิน ล้วนแล้วแต่สมประโยชน์ รวมไปถึงอนาคตทางการเมือง ที่อาจจะต้องเผชิญกับการ "รัฐประหาร" อีกครั้ง
ท้ายที่สุด "เนวิน" ตัดสินใจเพื่อความอยู่รอดของตัวเองและเพื่อนๆ เพราะโอกาสที่ทักษิณ จะแพ้ข้างสูง จึงตัดสินในเปลี่ยนขั้วอำนาจทางการเมือง สนับสนุนพรรคประชาธิปัตย์ ส่งเสริมนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เป็นนายกรัฐมนตรี กระทั่งได้ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 17 ธันวาคม พ.ศ.2551 ในวัย 44 ปี
กลุ่มเพื่อนเนวิน
1.นายชัย ชิดชอบ ประธานรัฐสภา ส.ส.สัดส่วน
2.นายเชิดชัย วิเชียรวรรณ ส.ส.อุดรธานี
3.นายทวีวัฒน์ ฤทธิ์ฤๅชัย ส.ส.สกลนคร
4.นายบุญจง วงศ์ไตรรัตน์ อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย ส.ส.นครราชสีมา
5.นายประจักษ์ แกล้วกล้าหาญ ส.ส.ขอนแก่น อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม ในรัฐบาลอภิสิทธิ์
6.นายเพิ่มพูน ทองศรี ส.ส.สัดส่วน
7.นายประสิทธิ์ ตั้งศรีเกียรติกุล ส.ส.บุรีรัมย์
8.นายปัญญา ศรีปัญญา ส.ส.ขอนแก่น
9.นางพัฒนา สังขทรัพย์ ส.ส.เลย
10.นายภิรมย์ พลวิเศษ ส.ส.นครราชสีมา
11.นายมนต์ไชย ชาติวัฒนศิริ ส.ส.บุรีรัมย์
12.นายยรรยง ร่วมพัฒนา ส.ส.สุรินทร์
13.นายรังสิกร ทิมาตฤกะ ส.ส.บุรีรัมย์
14.นายเลิศศักดิ์ ทัศนเศรษฐ ส.ส.สุรินทร์
15.นายมานะศักดิ์ จันทร์ประสงค์ ส.ส.นนทบุรี
16.นายวิเชียร อุดมศักดิ์ ส.ส.อำนาจเจริญ
17.นายวีระ รักความสุข ส.ส.สัดส่วน (เสียชีวิต 24 สิงหาคม พ.ศ.2552)
18.นายศุภชัย โพธิ์สุ อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ส.ส.นครพนม
19.นายสนอง เทพอักษรณรงค์ ส.ส.บุรีรัมย์
20.นายสาธิต เทพวงศ์ศิริรัตน์ ส.ส.สุรินทร์ (ต่อมาไปสังกัดพรรคเพื่อแผ่นดิน)
21.นายสุชาติ โชคชัยวัฒนากร ส.ส.มหาสารคาม อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม ดำรงตำแหน่งต่อจาก นายประจักษ์ แกล้วกล้าหาญ
22.นายโสภณ ซารัมย์ ส.ส.บุรีรัมย์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม
23.นายศุภชัย ใจสมุทร อดีตรองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี
24.นายชวรัตน์ ชาญวีรกูล อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย
**และทั้งหมดนี้ จึงเป็นตำนานที่มาของกลุ่มงูเห่าทั้ง 2 ภาค ข้อมูลดังกล่าว ถูกยืนยันโดยผู้ที่อยู่ในเหตุการณ์ ประกอบกับเจ้าตัวเองก็ออกมายอมรับว่ามันเกิดขึ้นจริงๆ .... ส่วนการเลือกตั้ง 24 มีนาคม 2562 นี้ "งูเห่าภาค 3" จะโผล่ขึ้นตามที่คาดการณ์หรือว่าเป็นแค่เกมการเมืองที่แสดงตบตาประชาชนกันไป คงต้องมาดูกัน.