สำหรับบางคนที่ถึงแม้ว่าจะไม่อ้วน แต่ก็สามารถเกิดอาการบวมๆ อืดๆ ซึ่งอาจเป็นไปได้ว่า...จะบวมทั้งตัวหรือบวมแค่หน้า ทำให้ใส่เสื้อผ้าแล้วอึดอัด ไม่สบายตัว หลายคนจึงโทษว่าอาการ "ตัวบวม" เกิดขึ้นจากการบริโภค "โซเดียม" ซึ่งนั่นอาจจะจริงแค่บางส่วน

ไลฟ์สไตล์ไทยรัฐ จะมาหาคำตอบให้คุณฟังว่า "อาการตัวบวม" นั้นเกิดจากการบริโภคโซเดียมมากไปจริงหรือ? หรือยังมีปัจจัยอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องอีก ตามไปพบกับคำตอบกันเลย..

โซเดียม มีผลกับร่างกายอย่างไร?

“โซเดียม” หรือ เกลือแร่ เป็นสารอาหารที่มีความสำคัญต่อร่างกาย ร่างกายของคนเราต้องการโซเดียมในปริมาณ 1,500 มิลลิกรัม/วัน แต่ต้องได้รับไม่เกิน 2,000 มิลลิกรัม/วัน หรือเกลือ 1 ช้อนชา ซึ่งเป็นปริมาณที่พอเหมาะ ไม่มากหรือน้อยเกินไป ซึ่งสารดังกล่าวจะทำหน้าที่ควบคุมความสมดุลของของเหลวในร่างกาย รักษาความดันโลหิตให้อยู่ในระดับปกติ ดูดซึมสารอาหารบางอย่างในไตและลำไส้เล็ก

...

โซเดียม มีอยู่ในไหนบ้าง

เรียกได้ว่าอาหารทุกชนิดมีโซเดียมปะปนอยู่เกือบทั้งหมด สามารถแบ่งออกเป็นหมวดหมู่ใหญ่ๆ ได้ดังนี้

1. อาหารที่มาจากธรรมชาติ: เนื้อสัตว์เกือบทุกชนิดมักจะมีโซเดียมสูง ไม่ว่าจะเป็นเนื้อวัว หรือเนื้อหมู ส่วนอาหารที่มีโซเดียมต่ำ ได้แก่ ผัก ผลไม้ และธัญพืชทุกชนิด ซึ่งอาหารเหล่านี้มักจะมีปริมาณโซเดียมที่เพียงพอต่อความต้องการของร่างกายอยู่แล้ว

2. อาหารที่มาจากการถนอมอาหาร: ไม่ว่าจะเป็นอาหารกระป๋อง อาหารหมักดอง อาหารตากแห้ง อาทิ ปลาร้า ปลาเค็ม ผัก-ผลไม้ดอง ต่างมีโซเดียมสูงทั้งนั้น จึงควรรับประทานในปริมาณที่เหมาะสม

3. เครื่องปรุงรส: เกลือ น้ำปลา และซอสปรุงรสที่มีรสเค็ม อามิ ซอสหอยนางรม ซีอิ๊วขาว เต้าเจี้ยว ซอสมะเขือเทศ ซอสพริก ทั้งมีมีโซเดียม แต่อยู่ในปริมาณที่มาก-น้อยแตกต่างกันออกไป

ทำไมกินโซเดียมแล้วตัวบวม?

หลังจากที่ร่างกายของเราได้รับโซเดียมปริมาณที่สูงมากเกินไป (อาจจะหลังจากปาร์ตี้ หรืออาหารมื้อดึกที่รับประทานเข้าไป) ตื่นเช้ามาเราก็อาจจะเกิด "อาการบวมน้ำ" เกิดจากการที่ร่างกายเก็บกักน้ำไว้ใต้ชั้นผิวและเนื้อเยื่อในร่างกายบริเวณต่างๆ มากขึ้นกว่าปกติ ทำให้ส่งผลต่อน้ำหนักที่เพิ่มขึ้น ร่างกายดูบวมขึ้นกว่าเคยในระยะเวลาอันสั้น

วิธีแก้อาการตัวบวมจากโซเดียม

การลดจะช่วยควบคุมความดันโลหิตให้อยู่ในสมดุล ลดภาระหัวใจไม่ให้ทำงานหนักมากเกินไป และชะลอไตเสื่อม ซึ่งเราสามารถลดโซเดียมได้โดย

- หลีกเลี่ยงการกินอาหารแปรรูป อาหารสำเร็จรูป เช่น อาหารกระป๋อง อาหารแช่แข็งที่เข้าไมโครเวฟสามารถนำมารับประทานได้ทันที

- หลีกเลี่ยงอาหารหมักดอง เช่น ผักดอง ผลไม้ดอง ไข่เค็ม ปลาเค็ม

- ลดการปรุงหรือการจิ้มด้วยเครื่องปรุงที่มีรสเค็มเพิ่มเติมเมื่ออาหารได้ผ่านการปรุงมาแล้ว

- หลีกเลี่ยงอาหารที่มีโซเดียมสูง เช่น ข้าวมันไก่ ข้าวขาหมู ข้าวคลุกกะปิ อาหารจานด่วนแบบตะวันตก เป็นต้น

...

นอกจาก "โซเดียม" เรายังบวมจากอะไรได้อีก?

1. ขาดการออกกำลังกาย: เพราะการออกกำลังกายจะช่วยให้เลือดลมไหลเวียนดี ช่วยให้ระบบการลำเลียงของเสียในร่างกายทำงานได้ดี

2. ท้องผูก: เพราะของเสียที่ตกค้างในร่างกายอาจทำให้เกิดแก๊สจนตัวบวมได้

3. มีประจำเดือน: สำหรับผู้หญิงบางคนอาจมีการผลิตฮอร์โมนที่ทำให้เกิดอาการตัวบวมในช่วงมีประจำเดือน แต่เมื่อประจำเดือนหมดก็จะกลับมาเป็นปกติ

4. ดื่มน้ำน้อยเกินไป: เป็นสาเหตุที่ทำให้เลือดข้น ของเหลวไหลเวียนไม่สะดวก จนเกิดอาการท้องผูกตามมา

อย่างไรก็ตาม ถ้าร่างกายของเรามีอาการ "บวมน้ำ" เกิดขึ้น เราจะค่อยๆ กลับมาเป็นปกติเมื่อร่างกายมีการขับของเสีย อาทิ เหงื่อ หรือปัสสาวะออกไป รวมถึงลองยืดเส้นยืดสาย ยืดร่างกายให้ระบบไหลเวียนของเลือดทำงานได้ดีขึ้นก็เป็นอีกทางออกหนึ่งที่ช่วยได้

สาวๆ อย่าลืมเลือกรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ และหมั่นออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอนะคะ ไลฟ์สไตล์ไทยรัฐ อยากให้ทุกคนมีสุขภาพดีไปด้วยกันจ้า.

...

อ่านต่อบทความเกี่ยวกับการ "ลดน้ำหนัก"