ผลประโยชน์มหาศาล อาจทำเอาทหารที่เคยอยู่ในอำนาจสูงสุดของประเทศตายตาไม่หลับ โดยเฉพาะทรัพย์สมบัติที่สะสมมา ขณะที่ว่า "ตายไปแล้วก็ยังใช้ไม่หมด" โดยเฉพาะ ทหารคนดังในประวัติศาตร์ชาติไทย ถ้าพูดชื่อ จอมพลอากาศ พลตำรวจเอกสฤษดิ์ ธนะรัชต์ นายกรัฐมนตรีไทยคนที่ 11 เจ้าของคำพูดประโยคสะเทือนประเทศ "พบกันใหม่เมื่อชาติต้องการ" และ "ข้าพเจ้าขอรับผิดชอบแต่เพียงผู้เดียว" คงไม่มีใครไม่รู้จักเขา
จอมสฤษดิ์ ธนะรัชต์ เสียชีวิตเมื่อวันที่ 8 ธันวาคม พ.ศ. 2506 ในวัยเพียง 55 ปี 175 วัน ด้วยโรคไตพิการเรื้อรัง และอีกหลายโรค กระทั่งหนึ่งเดือนหลังจอมพลสฤษดิ์ถึงแก่อสัญกรรม ดันเกิดปมปัญหา แก่งแย่งทรัพย์มรดกมหาศาล เป็นเหตุให้ เมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2507 บุตรทั้ง 7 คน ของจอมพลสฤษดิ์ ได้ฟ้องท่านผู้หญิงวิจิตรา ธนะรัชต์ ที่พยายามจะตัดสิทธิในส่วนแบ่งอันถูกต้องของทายาท
ศึกชิงสมบัติสุดอื้อฉาว "จอมพล 3 เหล่าทัพ"
สุดท้ายกลายเป็นเรื่องอื้อฉาวสะเทือนไปทั่ว ประชาชนให้ความสนใจ สื่อมวลชนยกให้เป็นคดีที่อื้อฉาวที่สุดในเมืองไทย เมื่อกลายเป็นเรื่องใหญ่ จึงเปิดช่องว่างให้รัฐบาลจอมพลถนอม เข้าแทรกแซงและสอบสวนเบื้องหลังความมั่งคั่งของจอมพลสฤษดิ์ และได้มีการเปิดพินัยกรรมของจอมพลสฤษดิ์ ที่บ้านของจอมพลถนอมเอง ต่อหน้าทนายความและนายทหารคนสำคัญๆ ที่ใกล้ชิดจอมพลสฤษดิ์ ซึ่งตัวพินัยกรรมระบุลงวันที่ 19 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2502 หลังจากจอมพลสฤษดิ์ ได้ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีเพียงเล็กน้อย
...
ข้อสำคัญในพินัยกรรมกล่าวว่า ทรัพย์สินทั้งหมดของจอมพลสฤษดิ์ ให้ตกแก่ท่านผู้หญิงวิจิตรา ธนะรัชต์ แต่เพียงผู้เดียว โดยมีข้อแม้ว่าท่านผู้หญิงต้องให้ลูกเลี้ยง คือพันตรีเศรษฐา ธนะรัชต์ และ ร้อยโทสมชาย ธนะรัชต์ คนละ 1 ล้านบาท พร้อมทั้งบ้านหนึ่งหลังที่เหมาะสมกับฐานะของบุคคลทั้งสอง อย่างไรก็ตาม จะเป็นไปตามเงื่อนไขนี้ ก็ต่อเมื่อทรัพย์สินทั้งหมดที่เป็นเงินสดมีมากกว่า 10 ล้านบาท นอกจากนี้ ที่นาของจอมพลสฤษดิ์ จะต้องแบ่งให้แก่บุตรชายคนโตทั้งสองคนจำนวนเท่า ๆ กัน
เมียถูกกล่าวหา ทำลายพินัยกรรมฉบับที่ 2 ซึ่งทำขึ้นใหม่
โจทก์ร้องเรียนว่า จอมพลสฤษดิ์ ได้เขียนพินัยกรรมขึ้นอีกฉบับหนึ่ง ซึ่งถูกท่านผู้หญิงวิจิตรา ธนะรัชต์ ทำลายไปแล้วหลังจากที่เข้าบุกบ้านส่วนตัวของจอมพลสฤษดิ์ในค่ายกองพลที่ 1 ทั้งนี้บุตรชาย 2 คน ยังกล่าวหาว่า ท่านผู้หญิงวิจิตรา พยายามจะรวบรวมทรัพย์สินทั้งหมดของจอมพลสฤษดิ์ไว้ โดยอ้างว่ามีเงินจำนวนถึง 2,874,009,794 บาท รวมกันอสังหาริมทรัพย์อีกมากมายที่ไม่สามารถจะประมาณได้ ตรงกันข้าม ท่านผู้หญิงวิจิตรา กลับกล่าวว่า ตัวเธอรู้เพียง มีเงินเพียง 12 ล้านบาท เท่านั้น
ม.17 ยึดทรัพย์ สอบปม ฉ้อราษฎร์บังหลวงของจอมพลสฤษดิ์
ขณะที่รอคอยผลการตัดสินจากศาล บุตรของ จอมพลสฤษดิ์ ได้ร้องเรียนจอมพลถนอม ให้ใช้อำนาจพิเศษตามมาตรา 17 แห่งธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักร พุทธศักราช 2502 ในการสอบสวนเรื่องราวนี้ทั้งหมด หลังจากที่พิจารณาอย่างคร่าวๆ แล้ว รัฐบาลรู้สึกว่า หากมิได้ลงมือกระทำการอย่างรวดเร็วแล้ว ก็จะทำให้ฐานะของรัฐบาลไม่ดีในสายตาของประชาชน ดังนั้นเมื่อวันที่ 26 มิถุนายน พ.ศ. 2507 จอมพลถนอมจึงออกประกาศว่าตนจะได้นำมาตรา 17 มาใช้ในการยึดทรัพย์จอมพลสฤษดิ์และตั้งคณะกรรมการสอบสวนขอบข่ายการฉ้อราษฎร์บังหลวงของจอมพลสฤษดิ์
จากรายงานของคณะกรรมการคณะนี้ ปรากฏว่า จอมพลสฤษดิ์ ได้ใช้เงินแผ่นดินเพื่อเลี้ยงดูนางบำเรอและลงทุนในธุรกิจ เงินผลประโยชน์ที่สำคัญๆ 3 แหล่งที่รัฐบาลสนใจคือ เงินงบประมาณ 394 ล้านบาท ที่เป็นเงินสืบราชการลับของสำนักนายกรัฐมนตรี เงิน 240 ล้านบาท จากกองสลากกินแบ่งรัฐบาล และประมาณ 100 ล้านบาท ซึ่งควรที่จะให้แก่กองทัพบก พบได้เปอร์เซ็นต์จากการขายสลากกินแบ่ง
ซุกที่ดินมากกว่า 20,000 ไร่ เงินสดในธนาคารอีก 410 ล้าน
ในระหว่างการสอบสวน อธิบดีกรมทะเบียนการค้าเปิดเผยว่า จอมพลสฤษดิ์ และท่านผู้หญิงวิจิตรามีผลประโยชน์จากบริษัทต่างๆ ถึง 45 แห่ง การถือหุ้นที่ใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งก็คือในบริษัทกรุงเทพกระสอบป่าน ซึ่งมีมูลค่ามากกว่า 20 ล้านบาท ต่อมาสมาชิกผู้หนึ่งในคณะกรรมการบริษัทได้ให้ปากคำว่า หุ้นส่วนเหล่านี้ ได้โอนไปให้น้องชาย จอมพลสฤษดิ์ สองคน ซึ่งทั้งนี้ก็หมายความว่า จอมพลสฤษดิ์ ได้ผลประโยชน์มหาศาลจากอุตสาหกรรมข้าว ซึ่งกฎหมายบังคับให้ซื้อกระสอบป่านจากบริษัทนี้
นอกจากจำนวนหุ้นและบัญชีเงินฝากในธนาคารจำนวนมากมายแล้ว จอมพลสฤษดิ์ยังมีที่ดินอีกจำนวนมหาศาล ดังที่อธิบดีกรมที่ดินกล่าวว่า จอมพลสฤษดิ์มีที่ดินมากกว่า 20,000 ไร่ในต่างจังหวัด และที่ดินอีกนับแปลงไม่ถ้วนทั้งในและทั่วพระนคร ส่วนเงินสดที่เก็บไว้ในธนาคารต่างๆ นั้น จอมพลสฤษดิ์มีอยู่ประมาณ 410 ล้านบาท ซึ่งถูกยึดไว้เพื่อพิจารณาว่าเงินส่วนใดเป็นของรัฐบาลหรือไม่
ในที่สุดศาลก็ได้พิจารณาคดีวิวาทเกี่ยวกับทรัพย์สินของจอมพลสฤษดิ์ตามคำพิพากษาเมื่อวันที่ 22 ตุลาคม พ.ศ. 2507 ศาลแนะนำให้ประนีประนอมกันโดยที่ให้ท่านผู้หญิงวิจิตราและพันโทเศรษฐาเป็นผู้จัดการมรดกร่วมกัน และให้ตกลงกันเองต่อเมื่อปรากฏผลขั้นสุดท้ายของการสอบสวนของรัฐบาลแล้ว
สุดท้ายทรัพย์สินที่ยกให้เมีย ถูกยึดเป็นของรัฐบาล
การยึดทรัพย์ของ จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ อาศัยมาตรา 17 ของรัฐธรรมนูญการปกครองแห่งราชอาณาจักร พ.ศ. 2507 โดยนายกรัฐมนตรีจอมพลถนอม กิตติขจร ในขณะนั้น มีคำสั่งให้ทรัพย์สินกองมรดกของ จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ และทรัพย์สินในกองมรดกของท่านผู้หญิงวิจิตรา ธนะรัชต์ ให้ตกเป็นของรัฐ
**อ้างเหตุผลในการยึดทรัพย์ว่า โดยปรากฏชัดเจนปราศจากข้อสงสัยว่า จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ขณะยังมีชีวิตอยู่ได้ใช้อำนาจหน้าที่ในทางราชการโดยมิชอบกระทำการเบียดบังและยักยอกทรัพย์ของรัฐไปหลายครั้งมีจำนวนมากถึง 604,551,276.62 บาท การกระทำดังกล่าวนี้มีผลเป็นการบ่อนทำลายความมั่นคงของราชอาณาจักร
กรรมตามสนอง "จอมพลถนอม" กับพวกก็ไม่รอดถูกยึดทรัพย์
หลังเหตุการณ์ 14 ตุลา เมื่อเกมอำนาจพลิกขั้ว "จอมพลถนอม" ถูกรัฐบาลใหม่ยึดทรัพย์ โดยการลงนามของนายกรัฐมนตรีชื่อ "สัญญา ธรรมศักดิ์" อาศัยธรรมนูญมาตรา 17 ออกคำสั่ง คำสั่งนายกรัฐมนตรีที่ สรล.40/2516 ลงวันที่ 30 ตุลาคม 2516 ให้ทรัพย์สินของ จอมพลถนอม และ ภริยา จอมพลประภาส และภริยา พ.อ.ณรงค์ และภริยา ทั้งหมดตกเป็นของรัฐทันทีในวันที่ออกคำสั่งนี้ ซึ่งทรัพย์สมบัติของจอมพลถนอม-จอมพลประภาส-พ.อ.ณรงค์ ที่ถูกอายัดรวมกันกว่า 470 ล้านบาท
ยึดทั้งบ้าน เงินสด รถ ที่ดิน มูลค่าหลายร้อยล้าน
หากนับเฉพาะทรัพย์สินของ "จอมพลถนอม" และคุณหญิงจงกล ตามคณะกรรมการตรวจสอบการได้มาซึ่งทรัพย์สิน ที่มีนายบุญมา วงศ์สวรรค์ เป็นประธานได้อายัดไว้ มีอสังหาริมทรัพย์หลายแห่ง อาทิ บ้านเลขที่ 99 ถนนระนอง 2 ดุสิต กทม. โฉนดที่ดินเลขที่ 5890 แขวงนครไชยศรี เขตดุสิต กทม. เนื้อที่ 2 ไร่ 2 งาน เป็นเงิน 5 ล้านบาท ประกอบด้วย
- สิ่งปลูกสร้างเป็นตึกอาศัย 2 ชั้น 600,000 บาท เรือนไม้ชั้นเดียว 60,000 บาท เรือนไทย 500,000 บาท ตึกใหญ่ 2.5 ล้านบาท ตึก 2 ชั้นติดต่อกับตึกใหญ่ 1.3 ล้านบาท สระว่ายน้ำ 400,000 บาท อาคารครึ่งตึกครึ่งไม้ 2 ชั้น เรือนครัวและห้องพัก 400,000 บาท เรือนไม้ 2 ชั้น 60,000 บาท เรือนไม้ชั้นเดียว 40,000 บาท รั้วและถนน 200,000 บาท
- ศาลาที่พักยาม 80,000 บาท ประตูรั้วและป้อมยาม 50,000 บาท การถมดิน ปลูกต้นไม้จัดสวน ทำน้ำพุ 100,000 บาท
- บ้านเลขที่ 89, 89/1 และ 89/2 ถนนระนอง 2 ดุสิต โฉนดที่ 8758 แขวงถนนนครไชยศรี ดุสิต กทม. เนื้อที่ 2 ไร่ เป็นเงิน 4 ล้านบาท ประกอบด้วย สิ่งปลูกสร้าง ตึกหลังใหญ่ 400,000 บาท เรือนไม้ 2 ชั้น 80,000 บาท ตึก 2 ชั้น 250,000 บาท ตึก 2 ชั้น 300,000 บาท เรือนไม้ชั้นเดียว 50,000 บาท
-อาคารถกลสุข โฉนดที่ 5891, 14518, 14519 และ 8989 แขวงถนนนครไชยศรี ดุสิต กทม. เนื้อที่ทั้ง 4 โฉนด รวม 1,207 ตารางวา เป็นเงิน 6,035,000 บาท
- ที่ดินดอนเมือง เนื้อที่ 54 ไร่ 1 งาน 96 ตารางวา ราคาไร่ละ 50,000 บาท รวม 2,724,500 บาท ที่ดินซอยอุดมสุข เนื้อที่ 265 ตารางวา ตารางวาละ 2,500 บาท เป็นเงิน 1,325,000 บาท
- บ้านที่ปากเกร็ด เนื้อที่ 3 แปลง 4 ไร่ 1 งาน 82 ตารางวา เป็นเงิน 2,673,000 บาท
- บ้านที่พัทยา เนื้อที่ 3 ไร่ 2 งาน 44 ตารางวา ตารางวาละ 800 บาท เป็นเงิน 1,155,200 บาท ซึ่งมีสิ่งปลูกสร้าง อาทิ ตึกใหญ่ 2,800,000 บาท อาคารที่พักอาศัย 189,000 บาท ศาลาริมทะเล 70,000 บาท หาดอู่ทองหัวหิน เนื้อที่ 1 ไร่ 3 งาน 88 ตารางวา หรือ 788 ตารางวา ตารางวาละ 500 บาท เป็นเงิน 394,000 บาท ที่ดินชะอำ เนื้อที่ 42 ไร่ 2 งาน 4 ตารางวา รวม 850,000 บาท และยังมีที่ดินบ้านหัวแหลม อยุธยา บ้านเมืองตาก ตำบลหนองหลวง อำเภอเมือง จ.ตาก ซึ่งเป็นบ้านเกิดของจอมพลถนอม ราคา 120,000 บาท ก็ยังถูกอายัด
ทีวีสียี่ห้อ METZ 24 นิ้ว ราคา 28,000 ก็ถูกยึด
ขณะที่สังหาริมทรัพย์ที่อยู่ในบ้านทุกหลังก็ถูกอายัด เช่น ในบ้านเลขที่ 99 ถนนระนอง 2 ดุสิต กทม. สิ่งที่ถูกอายัดส่วนใหญ่เป็นพระพุทธรูป โดยพระพุทธรูปที่มีมูลค่าสูงสุดคือพระพุทธรูปปางลีลา สูง 36 นิ้ว 1 องค์ ราคา 400,000 บาท พระพุทธรูปปางสะดุ้งมารสัมฤทธิ์ หน้าตัก 22 นิ้ว 1 องค์ ราคา 200,000 บาท ของตกแต่งภายในบ้าน อาทิ ทีวีสียี่ห้อ METZ 24 นิ้ว ราคา 28,000 บาท โต๊ะไม้ประดับมุก ต่อ 3 ท่อน 1 ตัว 80,000 บาท
ส่วนหุ้นที่จอมพลถนอมมีอยู่ในบริษัทต่าง ๆ อาทิ ธนาคารกสิกรไทย จำกัด สหธนาคารกรุงเทพ จำกัด บริษัทชลประทานซีเมนต์ รวมกว่า 12,000 หุ้น และหุ้นของคุณหญิงจงกล 407 หุ้น รถยนต์ที่มีในบัญชี 8 คัน ถูกอายัดทั้งหมด โดยรถที่แพงที่สุดคือ รถเบนท์ลีย์ ทะเบียน กทม. ฆ 9555 รุ่นบี 69 ราคา 800,000 บาท
ดังนั้น มูลค่าทรัพย์สินทั้งสังหาริมทรัพย์และอสังหาริมทรัพย์ รวมถึงการถือหุ้นในห้างหุ้นส่วนและบริษัทหลายแห่ง ที่ได้รับการปันผล โบนัสกรรมการ เบี้ยประชุมกรรมการ รวมถึงเงินฝากในธนาคารประเภทกระแสรายวัน ออมทรัพย์ และฝากประจำ ที่จอมพลถนอมและคุณหญิงจงกลมีอยู่ในมือ กว่า 84,905489.86 บาท
อำนาจคืนสู่ทหารอีกครั้ง จอมพลถนอม ทำเรื่องขอทรัพย์สินคืน
การเมืองหลัง 6 ตุลา 2519 พลิกขั้วสลับข้างอีกครั้ง อำนาจการปกครองกลับไปอยู่ในมือของทหาร เป็นช่องทางให้ จอมพลถนอมร้องขอต่อคณะกรรมการที่มี พล.ต.ต.อรรถสิทธิ์ สิทธิสุนทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย เป็นประธาน ให้พิจารณาคืนทรัพย์สิน โดยจอมพลถนอม ได้ทำบัญชีขอคืนยาวเป็นหางว่าว ทั้งบ้านที่ จ.ตาก ที่ดินและสิ่งปลูกสร้างที่ปากเกร็ด ที่ดินและสิ่งปลูกสร้างที่สามเสน การถือหุ้นในบริษัทต่าง ๆ
แต่ที่ทางการคืนให้เพียง 5 รายการ ประกอบด้วย ที่ดินแขวงลาดยาว เขตดุสิต เนื้อที่ 2 ไร่ 16 ตารางวา แต่ไม่รวมอาคารสิ่งปลูกสร้างบนที่ดิน ที่ดิน จ.พระนครศรีอยุธยา เนื้อที่ 33 ไร่ 2 งาน 88 ตารางวา เบี้ยกรรมการบริหาร ของสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล 7,000 บาท เงินโบนัส องค์การเชื้อเพลิง 120,000 บาท รถยนต์เมอร์เซเดส-เบนซ์ ก.ท.ก.4919 และเงินฝากตามบัญชีของพันตรีหลวงจบ กระบวนยุทธ ที่ธนาคารกรุงเทพ จำกัด จำนวน 2 ใน 3 เป็นเงิน 137,819.79 บาท
คืนทรัพย์สินให้ ถ้าหากยอมทำตามข้อแลกแปลี่ยน
ต่อมา มีการฟ้องร้องต่อศาลหลายครั้ง กระทั่งในรัฐบาลเกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ ที่เคยเป็นลูกน้องของจอมพลถนอม มีความคิดที่จะคืนทรัพย์สินให้จอมพลถนอมบางส่วน เช่น ทรัพย์สินที่เป็นมรดกตกทอดที่ จ.ตาก แต่มีปัญหาตรงที่วิธีการคืน ทางเลือกหนึ่งคือ ให้รัฐบาลเสนอร่างพระราชบัญญัติคืนทรัพย์สินเข้าสู่สภานิติบัญญัติแห่งชาติ เพื่อออกเป็นกฎหมาย แต่ทว่า พล.อ.อ.หะริน หงสกุล ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ออกอาการแข็งข้อ-คัดค้าน เพราะเกรงกระแสสังคมตีกลับ จึงให้สัมภาษณ์หนังสือพิมพ์ขณะนั้นว่า
"ถ้ารัฐบาลเสนอร่างกฎหมายคืนทรัพย์สิน ถนอม ประภาส ณรงค์ เข้าสภา จะไม่ยอมรับพิจารณา แต่จะหารือผู้เชี่ยวชาญกฎหมายก่อนว่า อำนาจบริหารของฝ่ายรัฐบาล ก้าวก่ายอำนาจตุลาการหรือไม่ ถ้ารัฐบาลเสนอมาก็คิดว่าตนเองไม่มีหน้าที่รับ เพราะอำนาจทั้ง 3 ไม่ควรก้าวก่ายกัน"
40 ปี ผ่านไป ทายาทจอมพลถนอม ต้องเช่าบ้านจากกรมธนารักษ์
ผ่านไปกว่า 40 ปี "พ.อ.ณรงค์" บุตรชายจอมพลถนอม ยังต้องเช่าบ้านตัวเองที่ถูกยึดไปจากกรมธนารักษ์ โดยจ่ายค่าเช่าเป็นรายปี เช่นเดียวกับ "คุณหญิงทรงสุดา ยอดมณี" ซึ่งเป็นลูกสาวจอมพลถนอม แม้ปัจจุบันเป็น สนช. แต่ในชั้นแจงบัญชีทรัพย์สินต่อ ป.ป.ช.ก็ไม่ปรากฏว่ามีที่ดินหรือบ้านแต่อย่างใด เพราะคุณหญิงทรงสุดาและลูก-หลานของจอมพลถนอม ยังอาศัยอยู่ในบ้านซอยระนอง 2 ที่ถูกอายัดไป
พ.อ.ณรงค์ ลูกชายจอมพลถนอม ย้อนเหตุการณ์ ระบายความในใจออกมาว่า...
"ผมไม่ได้หาประโยชน์อะไรเลย ตอนยึดทรัพย์บัญชีเงินฝากในธนาคารยังไม่มีเลย บ้านผมปลูกมา มีหลักฐานซื้อขายถูกต้องก็ยึดไป ยังไม่ได้คืน บ้านหลังนี้ ที่ตรงนี้คุณแม่ผมซื้อวาละ 35 บาท ตอนสืบสวนกับเจ้าของที่เขาก็ยังไม่ฟัง ทรัพย์สินเรา ที่ดินเมียผมซื้อมาวาละ 140 บาท ก็ถูกยึดไป ต้องเช่าอยู่หมด"
"เขายึดหมดทุกอย่าง รถรา เงินส่วนตัว บ้านที่คุณพ่อเกิดที่จังหวัดตาก อยู่ตั้งแต่แบเบาะ ยังยึดเลย ตอนนี้เอาเป็นห้องสมุดประชาชน บ้านเกิดคุณแม่ผม ที่ดินที่อยุธยา ที่ดินนี้มีมาแต่คุณแม่ผมเกิด ทรัพย์สินที่ใช้อยู่เกือบไม่มีอะไรเป็นชื่อเรา เวลานี้ผมเป็นผู้อาศัย ผู้อาศัยบ้านตัวเอง"
"ผมไม่หวังแล้วนะ ตั้งกรรมการสอบสวนตั้งแต่ก่อนสมัย พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ เป็นนายกรัฐมนตรี พอมา พล.อ.เปรม ก็ตั้งกรรมการ กรรมการเขาลงมติให้คืน ก็ไม่คืน เขาก็เก็บหลักฐานต่าง ๆ ที่สำนักนายกฯ ไม่มีใครกล้าแตะต้อง กลัวคนฮือขึ้นมาอีก ยึด หากต้องคืนทรัพย์สินที่ถูกรัฐบาลยึดต้องออกเป็นกฎหมาย ต้องเข้าสภาผู้แทนฯ เรื่องใหญ่ ทีนี้รัฐบาลไหนเขาจะตั้งเรื่อง มันไม่ใช่เรื่องของเขา"
****จวบจน เหตุการณ์ 14 ตุลา ผ่านมา เข้า 43 ปี แต่ทรัพย์สิน ของจอมพลถนอม ก็ได้รับการคืนแค่บางส่วนเท่านั้น และไม่มีรัฐบาลไหนกล้าคืน