กรมการข้าว เตรียมส่งข้าว กข43 ให้ผู้เชี่ยวชาญตรวจค่าดัชนีน้ำตาลในระดับสากล คาดหวังเปิดทางสู่ตลาดต่างประเทศ หลังเป็นที่นิยมในไทย เพื่อสร้างความมั่นใจแก่ผู้บริโภคได้รับสินค้าที่มีคุณภาพและมาตรฐาน...
เมื่อวันที่ 19 ก.พ.62 นายประสงค์ ประไพตระกูล ผู้ตรวจราชการกระทรวงเกษตรฯ ในฐานะ รักษาราชการแทนอธิบดีกรมการข้าว เปิดเผยว่า ในปี 2562 กรมการข้าวเตรียมส่งตัวอย่างข้าวเพื่อสุขภาพ พันธุ์ กข43 ตรวจวิเคราะห์ค่าดัชนีน้ำตาล (Glycemic index หรือที่เรียกว่า GI) ที่ Sydney University Glycemic Index Research Service (SUGiRS) เป็นหน่วยงานที่มีความเชี่ยวชาญการศึกษาค่าดัชนีน้ำตาลในระดับสากล ซึ่งมีห้องปฏิบัติการมาตรฐานกลางของประเทศออสเตรเลีย ซึ่งเดิมทีกรมการข้าวได้ร่วมมือกับโรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล วิจัยข้าวสารพันธุ์ กข43 แล้วพบว่ามีค่าดัชนีน้ำตาลปานกลางค่อนต่ำ (GI = 57.5) ต่ำกว่าข้าวนุ่มพันธุ์อื่น ๆ ซึ่งหมายถึงข้าว กข43 เมื่อหุงสุกและรับประทาน จะทนต่อการย่อยได้ดีกว่า จึงผลต่อการเปลี่ยนแปลงระดับน้ำตาลในเลือดน้อยกว่าข้าวนุ่มพันธุ์อื่น จากผลการวิจัยดังกล่าวนำไปสู่การต่อยอดการผลิตและการตลาด จนเกิดผลิตภัณฑ์ข้าว กข43
"ความร่วมมือกับ SUGiRS ซึ่งเป็นหน่วยงานที่มีความเชี่ยวชาญการศึกษาค่าดัชนีน้ำตาลในระดับสากล ดำเนินการศึกษาค่าดัชนีน้ำตาลในข้าว กข43 ก่อนจะขอรับรองผลิตภัณฑ์ Low-GI ในประเทศออสเตรเลียต่อไป ทั้งนี้ SUGiRS เป็นหน่วยงานที่ผ่านการรับรองสถาบันตรวจค่าดัชนีน้ำตาลตามมาตรฐาน ISO 26642:2010 และมีเครือข่ายงานวิจัยด้านดัชนีน้ำตาลทั่วโลก ดังนั้น หากมีผลการศึกษาข้าว กข43 จาก SUGiRS จะช่วยเพิ่มช่องทางในตลาดต่างประเทศได้มากยิ่งขึ้น ซึ่งคาดว่าสามารถเผยแพร่ผลการวิเคราะห์ให้หน่วยงานต่างๆ ไปใช้อ้างอิงทางการตลาด ภายในเดือนเมษายนนี้" นายประสงค์กล่าว
...
นายประสงค์ กล่าวต่อว่า ในส่วนแนวทางการขับเคลื่อนโครงการส่งเสริมการผลิตและการตลาดข้าวเพื่อสุขภาพ พันธุ์ กข43 ในปี 2562 นั้น ได้มีการปรับเปลี่ยนหลักเกณฑ์ใหม่ จากเดิมที่กำหนดพื้นที่ส่งเสริมการปลูกเฉพาะในพื้นที่นาแปลงใหญ่ของภาคเหนือตอนล่างและภาคกลาง ขยายเป็นสามารถส่งเสริมการปลูกข้าว กข43 ได้ทั่วประเทศ โดยพิจารณาคุณสมบัติของเกษตรกรและสถาบันเกษตรกรเข้าร่วมโครงการตามเงื่อนไข ดังนี้ 1. เป็นสถาบันเกษตรกร, สหกรณ์, กลุ่มเกษตรกร หรือกลุ่มวิสาหกิจชุมชนที่เป็นนาแปลงใหญ่ 2. สามารถผลิตข้าวตามมาตรฐาน GAP หรืออินทรีย์ 3. มีโรงสีมาตรฐาน GMP หรือโรงสีที่พร้อมเข้าสู่ระบบตรวจรับรอง GMP 4. มีการเชื่อมโยงตลาดรับซื้อ แหล่งรวบรวมผลผลิตโดยสหกรณ์หรือผู้ประกอบการ 5. สามารถรองรับระบบการตรวจสอบย้อนกลับได้
ทั้งนี้เพื่อยกระดับการผลิตข้าวเพื่อสุขภาพพันธุ์ กข43 ให้มีมาตรฐานตลอดห่วงโซ่อุปทาน โดยสินค้าข้าวที่ได้จากโครงการนี้จะได้รับเครื่องหมาย Q หรือ Organic Thailand ตามแต่มาตรฐานที่ผลิต ร่วมด้วยเครื่องหมายข้าวพันธุ์แท้ที่ยืนยันการใช้เมล็ดพันธุ์ข้าวที่รับรองโดยกรมการข้าว และมี QR Code เพื่อตรวจสอบย้อนกลับข้อมูลของแหล่งที่มา สร้างความมั่นใจแก่ผู้บริโภคว่าได้รับสินค้าข้าวสุขภาพที่มีคุณภาพและมาตรฐานอย่างแท้จริง.