ฝุ่นพิษยังเยอะ "เอกชน-ขรก." ทํางานที่บ้าน!
ทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตนฯทรงโพสต์ไอจีภาพสวม หน้ากากอนามัยพร้อมข้อความเป็นห่วงไทยที่ต้องเผชิญสถานการณ์ฝุ่นควันพิษรุนแรง ทรงชี้ปัญหานี้ต้องรีบแก้ไขเร็วที่สุดอย่าปล่อยไว้ พร้อมยกตัวอย่างหลายประเทศมีวิธีแก้ไขปัญหาฝุ่นพิษ กรมควบคุมมลพิษเผยฝุ่นพิษยังเกินมาตรฐาน 35 สถานี ตรวจเข้มรถบรรทุกห้ามวิ่งเข้าพื้นที่กรุงเทพฯชั้นในถึงเดือน มี.ค. หากวิกฤติให้ข้าราชการทำงานที่บ้านเพื่อลดจำนวนรถยนต์ใน ท้องถนน โรงงาน 1,500 แห่งใน 15 จังหวัดทั่วประเทศ หยุดประกอบการชั่วคราวช่วงตรุษจีนช่วยลดควัน ผบช.น.ประชุมเข้มหน่วยงานที่เกี่ยวข้องหารือแก้ PM 2.5 แล้วออกตรวจจับควันดำเจอเต็มๆ ควันดำปี๋ เปรียบเทียบปรับแล้วสั่งแก้ไขหากยังฝ่าฝืนวิ่งโดนหนักแน่ ราชบุรีหยุดเผาโอ่ง พบเด็กป่วย 9 ราย ด้านหน้าพระลาน สระบุรี ที่เป็นเมืองในหมอกมานาน ให้โรงโม่หินติดระบบสเปรย์น้ำพ่นล้างฝุ่นพิษ ยังเป็นประเด็นร้อนในสังคม กับสถานการณ์ “ฝุ่นควันพิษ” ที่ส่งผลกระทบต่อประชาชนคนไทยและหลายฝ่ายกำลังพยายามหาทางแก้ไขให้เบาบางลง
35 พื้นที่ยังวิกฤติฝุ่น PM 2.5
เมื่อเช้าวันที่ 1 ก.พ. กรมควบคุมมลพิษ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม รายงานสถานการณ์ ฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 2.5 ไมครอน หรือ PM 2.5 ในพื้นที่ กทม.และปริมณฑล. ปริมาณ PM 2.5 ปรากฏ ว่าลดลงจากเมื่อวันที่ 31 ม.ค.ในช่วงเวลาเดียวกันเกือบทุกพื้นที่ คุณภาพอากาศอยู่ในระดับคุณภาพปานกลางถึงเริ่มมีผลกระทบต่อสุขภาพโดยมีค่าฝุ่นละอองอยู่ที่ 44-83 มคก./ลบ.ม. โดยปริมาณ PM 2.5 เกินค่ามาตรฐาน (50 มคก./ลบ.ม.) แบ่งเป็นพื้นที่ริมถนนจำนวน 22 สถานี และพื้นที่ทั่วไป จำนวน 13 สถานี รวม 35 สถานี
ห้ามรถบรรทุกขนาดใหญ่เข้ากรุง
...
ทั้งนี้ กรมควบคุมมลพิษได้จัดประชุมแก้ไขปัญหาฝุ่น PM 2.5 จากยานพาหนะและสรุปมาตรการที่จะจัดทำดังนี้ มาตรการเร่งด่วน เช่น ห้ามรถบรรทุกขนาดใหญ่วิ่งเข้าพื้นที่กรุงเทพฯชั้นในตลอดเวลา 24 ชั่วโมง ทันทีจนถึงเดือน มี.ค. ห้ามรถบรรทุกขนาดใหญ่ วิ่งเข้าพื้นที่ กทม.ชั้นนอกตามระยะเวลาที่กำหนดเร่งรัด นำน้ำมันเทียบเท่ามาตรฐาน EURO 5 (กำมะถันไม่เกิน 10 ppm) มาจำหน่ายในพื้นที่ กทม.และปริมณฑลในช่วงเวลาวิกฤติ ให้ข้าราชการทำงานที่บ้านหรือสลับวันในการทำงานที่บ้าน เพื่อลดจำนวนรถยนต์ในท้องถนน และขอความร่วมมือบริษัทเอกชนในการดำเนินการเช่นกัน สำหรับมาตรการระยะกลางและระยะยาว ได้แก่ เร่งรัดการบังคับใช้มาตรฐานน้ำมันเชื้อเพลิงให้เทียบเท่ามาตรฐาน EURO 5 (กำมะถันไม่เกิน 10 ppm) ให้ได้ภายในปี พ.ศ.2564 เร่งรัดการบังคับใช้มาตรฐานการระบายมลพิษทางอากาศจากรถยนต์ขนาดเล็กและรถยนต์ขนาดใหญ่ให้เป็นไปตามมาตรฐาน EURO 6 ภายในปี พ.ศ.2566 ปรับปรุง มาตรฐาน PM 2.5 ค่าเฉลี่ยรายปีในบรรยากาศ ในปีที่มีการบังคับใช้มาตรฐาน EURO6
บช.น.ประชุมเข้มหารือแก้ PM2.5
ที่กองบัญชาการตำรวจนครบาล (บช.น.) ตอนสายวันเดียวกัน พล.ต.ท.สุทธิพงษ์ วงษ์ปิ่น ผบช.น. พล.ต.ต.จิรสันต์ แก้วแสงเอก รอง ผบช.น. พล.ต.ต.นิธิธร จินตกานนท์ ผบก.จร. ร่วมกับเจ้าหน้าที่ รฟม. กรมขนส่งทางบก สมาคมรถบรรทุก ขสมก. รถร่วมบริการ การโยธา กทม. สำนักงานจราจรและขนส่งกรุงเทพมหานคร (สจส.) และบริษัทผู้รับเหมา ก่อสร้างรถไฟฟ้า ประชุมหารือกำหนดมาตรการลดปริมาณฝุ่นละอองที่เกินค่ามาตรฐานในอากาศและมีผลกระทบกับประชาชน โดยเฉพาะใน กทม.และปริมณฑล หน่วยงานหลักคือ บก.จร.และ บก.ต่างๆ แต่ละในพื้นที่สาเหตุหลักที่เกิดฝุ่นควัน PM 2.5 มาจากเครื่องยนต์ดีเซลถึง 65% ขณะนี้มีนโยบายให้ตำรวจจราจรตั้งชุดออกตรวจสอบหรือสุ่มจับรถมีควันดำเกินค่าที่กฎหมายกำหนดเพิ่มขึ้นอีก 5-6 ชุด ผู้ประกอบการสามารถขอให้เจ้าหน้าที่เข้าไปตรวจสอบรถในบริษัทได้ เช่น รถประจำทาง รถยนต์ เพื่อวัดคุณภาพของรถ
ชี้เครื่องดีเซลตัวการเกิดปัญหา
ผบช.น.กล่าวว่า ส่วนประเด็นที่จะให้ใช้รถวันคู่วันคี่ ไม่สามารถดำเนินการได้เพราะอาจเกิดผลกระทบหลายอย่างและจะตัดสินใจผู้เดียวคงไม่ได้ ต้องพูดคุยกับหลายหน่วยงาน หากถามว่าคิดว่าทำได้หรือไม่ ต้องพูดคุยกันในเรื่องของผู้ประกอบการ เพราะอย่างที่บอก สิ่งที่สำคัญที่สุดฝุ่นเกิดจากเครื่องยนต์ ดีเซลและไม่ได้เกิดจากรถยนต์อย่างเดียว เนื่องจากมีผู้ประกอบการหลายอย่างที่เกี่ยวกับเครื่องยนต์ดีเซล มันมีผลกระทบไม่ใช่เฉพาะใน กทม. แต่ส่งผล ไปถึงในเขตปริมณฑล เวลานี้รัฐบาลพยายามหาทางแก้ไขด้วยวิธีการไม่ให้เกิดผลกระทบต่อผู้ประกอบการ เจ้าหน้าที่ตำรวจก็เช่นกันรถของตัวเองควันดำแล้วยังฝ่าฝืนนำมาใช้ ดื้อรั้น ตำรวจก็จะปรับโทษในอัตราสูงสุด ขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาว่า จะมีมาตรฐานการวัดค่าควันดำใหม่จากเดิมร้อยละ 45 เป็นร้อยละ 30 สำหรับการก่อสร้างต่างๆที่อยู่บริเวณพื้นผิวจราจร ส่งผลทำให้รถติดเกิดฝุ่นละอองเช่นกัน บช.น.จึงเชิญผู้ประกอบการเพื่อขอคืนพื้นผิวจราจรบางส่วนเพื่อลดปัญหา หากพบว่าการก่อสร้างเกิดฝุ่นละอองจะเข้าไปพูดคุยหาทางแก้ไขกันต่อไป
ไล่จับรถควันดำเจอเต็มๆ
หลังประชุมเสร็จ เวลา 12.00 น. พล.ต.ต.จิรสันต์ แก้วแสงเอก รอง ผบช.น. พล.ต.ต.นิธิธร จินตกานนท์ ผบก.จร. นำชุดตรวจจับควันดำเคลื่อนที่ออกปฏิบัติการตรวจสอบรถยนต์ รถขนส่ง รถโดยสารประจำทาง ตามมาตรการตรวจจับรถควันดำเพื่อบรรเทาปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็กที่กำลังวิกฤติ บริเวณถนนพิษณุโลก หน้ากระทรวงศึกษาธิการ ด้านหลัง บช.น. ผลการตรวจพบรถมีควันดําเกินกำหนดหลายคัน อาทิ รถประจำทาง ขสมก.สาย 23 ทะเบียน 12-0355 วิ่งระหว่าง เทเวศร์-สำโรง พบค่าควันดำสูงถึงร้อยละ 71 รถกระบะ ทะเบียน บท 5485 กรุงเทพมหานคร พบค่าควันดำถึงร้อยเปอร์เซ็นต์ จึงเปรียบเทียบปรับคันละ 1,000 บาท และให้เร่งแก้ไขภายใน 30 วัน หากฝ่าฝืนนำมาใช้จะถูกปรับในอัตราเพิ่มขึ้นเป็นเงิน 5,000 บาท
...
ทูลกระหม่อมโพสต์ไอจีฝุ่นพิษ
นอกจากนี้ เมื่อเช้าวันที่ 1 ก.พ. ทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตนฯ ได้โพสต์ภาพในไอจีส่วนพระองค์ “nichax” ในอิริยาบถทรงนั่งอยู่บนโขดหินริมแม่น้ำ พระพักตร์สวมหน้ากากป้องกันฝุ่นสีดำ พร้อมเขียนข้อความว่า วันนี้วันศุกร์ คุณหมอท่านอธิบดีกรมสุขภาพจิตที่ทำงานกับดิฉันบอกไปเดินตลาดนัดวันศุกร์ได้ แต่สัปดาห์นี้อดปั่นจักรยาน เพราะยิ่งพรุ่งนี้ค่าฝุ่นพิษ PM 2.5 จะยิ่งสูงมากๆๆๆ ปัญหานี้ต้องแก้ไขอย่างเร็วที่สุดเพราะเด็กๆก็ไปโรงเรียนไม่ได้แล้วนะ น่าเป็นห่วงอนาคตของประเทศ เรามีสถิติ เป็นแชมป์ประเทศที่มีมลพิษเยอะที่สุดอันดับ 4 อันดับ 5 แล้ว อันที่จริงมันเกิดวิกฤติมาแล้ว 2-3 ปี เพราะดิฉันก็แพ้อากาศ ไม่สบายมาตั้ง 2 ปีแล้ว เพิ่งค่อยยังชั่วเมื่อย้ายมาอยู่นอกเมืองตรงนี้แหละ มลพิษก็ตามมาทั่วประเทศอีกแล้ว ความจริงปัญหานี้แก้ได้ ทั้งในระยะยาวและสั้น
แนะการแก้ปัญหาระยะสั้น–ยาว
ในไอจีส่วนพระองค์ของทูลกระหม่อมฯ ยังมีข้อความอีกว่า ที่ LA ก็เคยเป็นเมื่อหลายสิบปีมาแล้ว เขาแก้โดยมีมาตรการควบคุมรถยนต์และพลังงานรถยนต์ที่ใช้ ส่วนที่ประเทศจีนเขาก็มีมาตรการนี้เช่นกัน โดยเขาให้ใช้รถยนต์ไฟฟ้าและรถไฮบริด ย้ายโรงงานอุตสาหกรรมไปอยู่ไกลๆเมือง แต่นั่นเป็นมาตรการระยะยาว จีนและฮ่องกงเขามีหอ Tower เป็นเครื่องกรองอากาศยักษ์ที่ใช้พลังงานแสงอาทิตย์ดูดมลพิษกำจัดได้ภายในหนึ่งวันภายในบริเวณ 10 ตารางกิโลเมตร ในเบื้องแรก แต่อีกหน่อยจะมีเครื่องที่ดูดๆได้ทั้งเมืองเลย เราน่าจะมีอะไรแบบนี้ใช้บ้าง ดิฉันเลยลองศึกษาดูว่าจะทำไงดี เพราะพวกเราจะแย่กันหมดแล้วค้า!
นายกฯแถลงการณ์ฝุ่นยังวิกฤติ
วันเดียวกัน เว็บไซต์รัฐบาลไทย www.thaigov.go.th เผยแพร่แถลงการณ์ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ว่า ได้แก้ไขปัญหาระยะสั้น อย่างต่อเนื่อง ได้แก่ เข้มงวดตรวจจับรถควันดำ ควบคุมการก่อสร้าง เร่งคืนพื้นผิวจราจร ควบคุมการเผาในที่โล่ง ตรวจสอบการปล่อยมลพิษจากโรงงานอุตสาหกรรม ฉีดพ่นละอองน้ำในอากาศ และล้างทำความสะอาดถนน แต่สถานการณ์ของฝุ่นละอองยังไม่คลี่คลายลงเนื่องจากปริมาณการใช้รถยนต์ดีเซลส่วนบุคคลมีจำนวนมาก ประกอบกับไม่มีการถ่ายเทของอากาศ แม้จะตรวจจับรถที่ปล่อยควันดำเกินกว่าที่กฎหมายกำหนดอย่างเข้มข้น รวมทั้งไม่พบการปล่อยมลพิษจากโรงงานเกินกำหนดแต่อย่างใด
...
วอนงดใช้รถดีเซลคลี่คลายปัญหา
แถลงการณ์ระบุอีกว่า รัฐบาลขอความร่วมมือประชาชนใช้รถยนต์ส่วนบุคคลเครื่องยนต์ดีเซลเดินทางเข้ามาในพื้นที่กรุงเทพฯและปริมณฑลเท่าที่จำเป็น หรืองดใช้ระยะหนึ่งจนกว่าสถานการณ์จะคลี่คลาย เพราะเป็นต้นเหตุของการเกิดฝุ่นละอองมากที่สุด สำหรับการแก้ไขปัญหาระยะยาวจะต้องพัฒนาระบบโครงข่ายขนส่งสาธารณะให้เชื่อมโยงกันทุกระบบ ทั้งระบบล้อ รางและเรือ ปรับปรุงคุณภาพน้ำมันเชื้อเพลิง มาตรฐานไอเสียรถยนต์ เพิ่มสถานีบริการน้ำมันที่ไม่ก่อให้เกิดมลพิษ รณรงค์ให้ใช้พลังงานที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ส่งเสริมและผลักดันการใช้รถยนต์ที่ไม่ก่อให้เกิด PM 2.5 อาทิ รถที่ใช้ก๊าซธรรมชาติ รถไฮบริด และรถพลังงานไฟฟ้า รัฐบาลต้องขออภัย สำหรับความไม่สะดวกและขอบคุณภาคส่วนที่สนับสนุนให้ความร่วมมือในการแก้ปัญหาอย่างดียิ่ง
กนอ.ออก 4 มาตรการคุมโรงงาน
น.ส.สมจิณณ์ พิลึก ผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) เปิดเผยว่า กนอ.กำหนด 4 มาตรการเพื่อเป็นแนวทางให้โรงงานอุตสาหกรรมในนิคมอุตสาหกรรม นำไปปฏิบัติในการลดฝุ่น ประกอบด้วย 1.การจัดการในกระบวนการผลิตที่ผู้ประกอบการจะต้องติดตามตรวจสอบระบบบำบัดมลพิษทางอากาศและระบบดูดฝุ่นภายในอาคารโรงงานให้มีประสิทธิภาพอย่างสม่ำเสมอ 2. ให้โรงงานอุตสาหกรรมที่มีการก่อสร้าง ต้องดำเนินการ อาทิ ฉีดพรมน้ำในพื้นที่ก่อสร้างหรือกิจกรรมที่มีการฟุ้งกระจายของฝุ่นละออง ใช้ผ้าใบหรือพลาสติกปิดคลุมกองดิน หรือกองเศษวัสดุต่างๆ ป้องกันการฟุ้งกระจายของเศษดิน 3.ตรวจสอบและบำรุงรักษาเครื่องยนต์ต่างๆ เพื่อลดควันเสียและฝุ่นละอองที่ระบายออกมา, จำกัดความเร็วของยานพาหนะและไม่สนับสนุนการจอดรถติดเครื่องยนต์ 4.ห้ามเผาทำลายขยะในบริเวณโล่งแจ้ง
...
ออมสินนัดบิ๊กคลีนนิ่งเดย์
อีกด้านหนึ่ง นายโชคชัย คุณาวัฒน์ รองผู้อำนวยการธนาคารออมสิน และนายสุชัย สกุลรุ่งเรืองชัย ผู้อำนวยการเขตพญาไท ร่วมพ่นฉีดละอองน้ำจากหลังคาตึกสูง ตามมาตรการเร่งด่วนเพื่อบรรเทาผลกระทบฝุ่นละอองขนาดเล็กในพื้นที่ธนาคารออมสิน สำนักงานใหญ่ เขตพญาไท เพื่อช่วยลดมลพิษทางอากาศ โดยจะพ่นละอองน้ำต่อเนื่องทุกวันจนกว่าสถานการณ์จะคลี่คลายและในวันที่ 3 ก.พ. อยากเชิญชวนประชาชนร่วมเป็นจิตอาสาทำความสะอาด (Big cleaning Day) พร้อมกันทั้งเมือง ตั้งแต่เวลา 09.00 น. ที่สำนักงานเขตพญาไท รวมทั้งยังขอความร่วมมือไปยังหน่วยงานภาครัฐ และเอกชน ที่มีสำนักงานเป็นอาคารสูงตลอดแนวถนนพหลโยธิน ช่วยกันฉีดพ่นน้ำจากชั้นดาดฟ้าของแต่ละอาคาร เพื่อบรรเทาผลกระทบจากสถานการณ์ฝุ่น PM 2.5 ด้วย
ฉีดพ่นน้ำสนามบินสุวรรณภูมิ
บ่ายวันเดียวกัน นาวาอากาศโทสุธีรวัฒน์ สุวรรณวัฒน์ ผู้อำนวยการท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ จัดรถดับเพลิง 3 คันฉีดพ่นละอองน้ำบริเวณจุดต่างๆ ในท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ เพื่อช่วยลดค่าปริมาณฝุ่นละออง PM 2.5 ในอากาศ นาวาอากาศโท สุธีรวัฒน์เผยว่า จากนี้จะนำรถดับเพลิงตระเวนฉีดน้ำตามจุดต่างๆทุกวัน วันละ 3 รอบ เฉลี่ยใช้น้ำวันละ 1.62 แสนลิตร นอกจากนี้ ยังกำหนดแนวทางการควบคุมมลพิษและฝุ่นละอองของรถสาธารณะทุกประเภท เช่น รถเเท็กซี่ รถ shuttle Bus ขสมก. รถร่วม บขส. รถยนต์ รถตู้ และรถทัวร์ ให้ดับเครื่องขณะจอดรอและต้องตรวจสอบสภาพเครื่องยนต์ให้เป็นไปตามมาตรฐานอยู่เสมอ รวมทั้งสุ่มตรวจควันดำยานพาหนะที่ปฏิบัติงานในเขตลานจอดอากาศยาน โดยหวังว่ามาตรการต่างๆจะมีส่วนช่วยให้ค่าฝุ่นละออง PM 2.5 ลดลงได้
1,500 โรงงานปิดโรงงานลดควัน
นายสุรพล ชามาตย์ รองปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยภายหลังหารือร่วมกับนายเกรียงไกร เธียรนุกุล รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ผู้บริหารกระทรวงอุตสาห– กรรม และตัวแทนจาก 8 กลุ่มอุตสาหกรรมใน 15 จังหวัด ว่า ที่ประชุมมีมติในการร่วมลดปริมาณการปล่อยมลพิษในภาคอุตสาหกรรม ที่คาดว่ามีสัดส่วนคิดเป็น 5% จากปริมาณฝุ่นทั้งหมด โดยช่วงตรุษจีนระหว่างวันที่ 4-6 ก.พ.โรงงานประมาณ 1,300-1,500 โรง ใน 15 จังหวัดทั่วประเทศ คือ ปราจีนบุรี สุราษฎร์ธานี ขอนแก่น ราชบุรี สระบุรี สงขลา นครราชสีมา พระนครศรีอยุธยา ฉะเชิงเทรา ระยอง นครปฐม ปทุมธานี ชลบุรี สมุทรสาคร และสมุทรปราการ จะหยุดโรงงาน หรือลดการผลิตลง คิดเป็นสัดส่วน 20-50% คาดว่าจะสามารถลดการปล่อยฝุ่นลงได้ถึง 50% โดยหลังจากนี้หากปริมาณฝุ่นยังเยอะก็จะมีมาตรการอื่นๆต่อไป
ราชบุรีหยุดเผาโอ่งลดมลพิษ
นายรุ่งศักดิ์ มะลิขาว อายุ 56 ปี นายกสมาคมเครื่องเคลือบดินเผา จ.ราชบุรี เผยว่า ได้แจ้งให้สมาชิกผู้ประกอบการโรงโอ่ง จ.ราชบุรี จำนวน 20 โรง หยุดเผาโอ่งเป็นเวลา 5 วัน เพื่อช่วยให้จังหวัดลดมลพิษฝุ่นละอองที่มีค่าเกินมาตรฐานได้ตามเป้าหมาย หลังจากนั้นจะลดการเผาและค่อยผลัดกันเผาแบบให้เกิดควันน้อยที่สุดตามที่ได้ทดลองไปก่อนหน้านี้ สามารถลดควันได้ 60-80% ทั้งนี้ มีรายงานว่า ก่อนหน้านี้มีการนำภาพปล่องควันไฟโรงโอ่งปล่อยควันไฟพวยพุ่งสู่ท้องฟ้าลงในสื่อโซเชียลว่าเป็นส่วนหนึ่งของปัญหาฝุ่นละอองใน จ.ราชบุรี หลังค่าฝุ่นพิษสูงต่อเนื่องมากว่า 1 สัปดาห์ ทำให้นายชยาวุธ จันทร ผวจ.ราชบุรี ต้องขอความร่วมมือโรงงานอุตสาหกรรมที่ใช้ระบบเผาไหม้ ล่าสุดช่วงเช้าวันที่ 1 ก.พ. ค่าฝุ่น ละอองอยู่ที่ 89 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ยังคงเกินมาตรฐานอันจะส่งผลกระทบต่อสุขภาพของชาวบ้าน โดยเฉพาะเด็กป่วยเป็นโรคทางเดินหายใจ
เด็กป่วย 9 ราย–สั่งปิดเรียนด่วน
ส่วนที่โรงเรียนวัดดอนตะโก ต.ดอนตะโก อ.เมืองราชบุรี เป็นอีกพื้นที่เสีี่ยงจากฝุ่นพิษ เนื่องจากโรงเรียนอยูู่่ใต้ทางต่างระดับข้ามสี่แยกดอนตะโก ถนนสายเลี่ยงเมืองราชบุรีทำให้มีปริมาณรถค่อนข้างมากจนเกิดปัญหาฝุ่นละอองฟุ้งกระจาย ส่งผลกระทบต่อเด็กนักเรียนชั้นอนุบาล 1-ป.6 จำนวน 75 คน บางรายป่วยเป็นไข้หวัด ไอ จาม ทำให้โรงเรียนต้องสั่งปิดเรียนวันที่ 1 ก.พ.เป็นเวลา 1 วัน นางวรรณา นาคทับ ครูชำนาญการพิเศษ กล่าวว่า ขณะนี้เด็กป่วยแล้ว 9 คน โรงเรียนเลยสั่งปิดโรงเรียน 1 วัน รวมทั้งประชาสัมพันธ์ให้ครูและนักเรียนสวมหน้ากากอนามัยมาเรียนและอยากขอรถน้ำหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาช่วยฉีดน้ำลดฝุ่นละออง
ขอโรงโม่หินติดระบบสเปรย์น้ำ
ที่ จ.สระบุรี นายแมนรัตน์ รัตนสุคนธ์ ผวจ.สระบุรี ลงพื้นที่ติดตามการทำงานของเจ้าหน้าที่ในการลดมลพิษในพื้นที่ ต.หน้าพระลาน อ.เฉลิมพระเกียรติ หลังพบฝุ่นละอองขนาด 2.5 ไมครอน (PM 2.5) สูงถึง 98 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตรและขนาด 10 ไมครอน (PM 10) อยู่ที่ 270 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตรอยู่ในเกณฑ์มีผลต่อสุขภาพ ก่อนกำหนดมาตรการเร่งด่วน ด้วยการนำรถน้ำล้างทำความสะอาดและดูดฝุ่น รวมถึงกำชับทุกหน่วยงานเข้มงวดการบังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัด ส่วนภาคเอกชนสถานประกอบการให้จัดทำแผนแก้ไขปัญหาให้ชัดเจน ให้ติดตั้งระบบสเปรย์น้ำบริเวณโรงโม่หินทุกจุดที่เกิดฝุ่นละออง โดยให้อุตสาหกรรมเข้าไปตรวจสอบอีกครั้ง ให้ท้องถิ่นช่วยเตือนห้ามชาวบ้านเผาป่าหรือเผาตอซังหรือเศษหญ้าในทุกพื้นที่
อ่างทอง–อยุธยาเร่งตรวจฝุ่น
ที่ จ.อ่างทองซึ่งถูกฝุ่นควันพิษลามไปถึง นายเรวัต ประสงค์ ผวจ.อ่างทอง เปิดเผยว่า ได้เชิญหัวหน้าส่วนราชการที่เกี่ยวข้องร่วมประชุมติดตามแก้ไขปัญหาด้านฝุ่นละอองและสารมลพิษทางอากาศ วันนี้มีค่าเพิ่มขึ้นจากวันที่ 31 ม.ค. จาก 67 มาเป็น 142 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร โดยจัดตั้งคณะทำงานออกตรวจสอบมลพิษฝุ่นละอองจากโรงงาน โรงสีข้าว บ่อทรายในพื้นที่ พร้อมทั้งประสานขอความร่วมมือกรมควบคุมมลพิษภาค 6 นำเครื่องมือมาตรวจวัดความเข้มข้นของสารมลพิษสัปดาห์ละครั้ง ด้านว่าที่ ร.ต.สมทรง สรรพโกศลกุล นายกเทศมตรีเทศบาลนครพระนคร– ศรีอยุธยา สั่งเจ้าหน้าที่ตรวจวัดฝุ่นละอองบริเวณจุดเสี่ยงโรงเรียนอยุธยาวิทยาลัย หลังพบฝุ่นฝุ้งกระจายไปทั่ว พร้อมกับนำรถน้ำมาฉีดเพื่อลดปริมาณฝุ่นละอองไม่ให้เกินค่ามาตรฐาน
ทดลองสูบน้ำเจ้าพระยาพ่นลดฝุ่น
ช่วงเย็น เวลา 16.00 น. ที่สะพานพระพุทธยอดฟ้า พล.ต.ต.ชัยพร พานิชอัตรา รอง ผบช.น. พร้อม กต. ตร.บช.น. เดินทางมาศึกษาความเป็นไปได้ กรณีการใช้วิธีสูบน้ำจากแม่น้ำเจ้าพระยาขึ้นมาพ่นเป็นละอองเพื่อดักจับฝุ่นในอากาศใช้เวลาทดสอบนานกว่า 1 ชม. พล.ต.ต.ชัยพรกล่าวว่า มีแนวคิดร่วมกับทีมงาน กต. ตร.บช.น. นำร่องมาทดสอบการใช้หัวฉีดพ่นละอองน้ำบริเวณสะพานพระพุทธยอดฟ้าโดยเตรียมหัวฉีด 10 หัวต่อสายยาว 50 เมตร และน้ำสะอาด 700 ลิตร ทดลองติดตั้งบริเวณสะพานพระพุทธยอดฟ้า เพื่อดู การพ่นละอองน้ำ ว่าสามารถใช้งานได้จริงหรือไม่ เป็นการช่วยบรรเทาสภาพอากาศให้ดีขึ้น
ได้ผลจับฝุ่นละอองได้ดี
พล.ต.ต.ชัยพรกล่าวอีกว่า จากการนำน้ำลำเลียงผ่านสายระยะทาง 50 เมตรฉีดพ่นละออง พบว่า ได้ผลเป็นที่น่าพอใจ จะเห็นได้ว่าละอองน้ำที่ออกมามีขนาดเล็กน่าจะช่วยจับฝุ่นได้ดี หลังจากนี้จะนำเสนอแนวความคิดกับ ผบช.น. หากผ่านความเห็นชอบเตรียมประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการติดตั้งอุปกรณ์ ที่มีค่าใช้จ่ายเฉลี่ยสะพานละ 10,000 บาท ซึ่งกต.ตร.บช.น.พร้อมให้การสนับสนุน ติดตั้งเสร็จภายใน 1 วัน มีความพร้อมที่จะนำไปใช้กับสะพานต่างๆทั่วกรุงเทพมหานคร และยังมีแนวคิดดึงน้ำจากแม่น้ำเจ้าพระยามาใช้ จะมีขั้นตอนนำน้ำขึ้นมาพักไว้ เปลี่ยนให้กลายเป็นน้ำที่สะอาดก่อนจะใช้ปั๊มน้ำไฟฟ้า ตั้งเวลาในการเปิด-ปิดได้โดยไม่สิ้นเปลืองงบ ทั้งนี้ จะดึงน้ำมาใช้พ่นระยะทาง 100 เมตร ปรับระดับความสูงให้อยู่ในระดับ 30-50 เมตร เพื่อกระจายตัวของละอองน้ำได้ดีและไกล