ถือเป็นการทำตามพินัยกรรมของ พระเทพวิทยาคม หรือ หลวงพ่อคูณ ปริสุทโธ หลังจากท่านละสังขารไปเมื่อ 16 พฤษภาคม 2558 และได้มีการบริจาคร่างกายเป็น “ครูใหญ่” ให้กับคณะกายวิภาคศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น จนกระทั่งเวลาผ่านไปเกือบ 4 ปี ความต้องการสุดท้ายของ “เทพเจ้าแห่งด่านขุนทด” ก็มาถึง เมื่อมีการ พระราชทานเพลิงศพเมื่อวันที่ 29 มกราคมที่ผ่านมา และจะมีการอัญเชิญอัฐิมาลอยอังคาร ที่บริเวณแม่น้ำโขง ตามเจตนารมณ์ที่ยิ่งใหญ่

ถึงแม้หลวงพ่อคูณจะไม่ได้ระบุสถานที่ว่าให้ลอยอังคารที่จุดใด แต่ก็ได้มีการหารือจากผู้เกี่ยวข้องและชี้ชัดตรงกันว่า ควรจะให้ญาติหลวงพ่อคูณนำอัฐิมาลอยอังคารที่ “พระธาตุกลางน้ำ” ซึ่ง หน่วยรักษาความสงบเรียบร้อยตามลำน้ำโขง ก็ได้ร่วมกับทางหน่วยงานต่างๆ จัดขบวนลำเรือ 18 ลำ ร่วมพิธีลอยอังคาร

...

ตามประวัติพระธาตุกลางน้ำนั้น ระบุว่า หลังจากพระพุทธเจ้าดับขันธ์ปรินิพานแล้ว พระมหากัสสปเถระได้เดินทางจากกรุงราชคฤห์มุ่งสู่แคว้นโคตรบูร เพื่อให้เป็นศูนย์กลางเผยแผ่พระพุทธศาสนา โดยเฉพาะการสร้างอุโมงค์บรรจุพระอุรังคธาตุ (กระดูกหน้าอก) เมื่อ พ.ศ.8 ณ ดอยปณคีรี (ภูกำพร้า) อันเป็นที่ประดิษฐานองค์พระธาตุพนมในปัจจุบัน

ต่อมาพระมหากัสสปเถระ ได้มอบให้พระอรหันต์อันเชิญพระบรมสารีริกธาตุจากกรุงราชคฤห์มาประดิษฐานไว้ในดินแดนสุวรรณภูมิลุ่มน้ำโขง พระมหาสังฆวิชเถระหนึ่งในพระอรหันต์ดังกล่าวได้รับมอบพระบรมธาตุพระบาทเบื้องขวา 9 องค์ไปประดิษฐานไว้เมืองหล้าหนอง เมื่อ พ.ศ.19

ในปี พ.ศ.2104 พระเจ้าไชยเชษฐาธิราชได้นำข้าราชบริพารจากเมืองเวียงจันทน์มาร่วมกับชาวบ้านเมืองหนองคาย ตั้งค่ายอยู่ที่วัดธาตุทำการก่อสร้างพระมหาเจดีย์ครอบอุโมงค์หล้าหนองคาย ก่อด้วยอิฐถือปูน รูปทรงแบบศิลปะล้านช้าง ฐานเจดีย์ 15.80 เมตร ได้ตั้งชื่อว่า “พระธาตุหล้าหนองคาย”

ครั้งหนึ่ง พระเทพมงคลรังสี เจ้าคณะจังหวัดหนองคาย กล่าวว่า พระธาตุองค์นี้มีขนาดใกล้เคียงกับองค์พระธาตุพนม อ.พระธาตุพนม จ.นครพนม ซึ่งบริเวณวัดมีพื้นที่กว่า 100 ไร่ และตั้งอยู่ที่ริมฝั่งโขง พอถึงฤดูน้ำหลาก แม่น้ำโขงที่ไหลเชี่ยวกรากกัดเซาะตลิ่งบริเวณวัดธาตุพังทลายหายไป ซึ่งตามประชุมพงศาวดารภาค 70 บันทึกไว้ว่าน้ำโขงกัดเซาะตลิ่งพังไปจนถึงองค์พระธาตุหล้าหนอง และพระธาตุได้พังลงในแม่น้ำโขง เมื่อวันศุกร์ ขึ้น 9 ค่ำ เดือน 9 เวลาใกล้ค่ำ ร.ศ.66 จ.ศ.1204 พ.ศ.2390

ปัจจุบันพระธาตุจมอยู่กลางน้ำโขงห่างจากฝั่งไทย 180 เมตร องค์พระธาตุก่อด้วยอิฐถือปูน ล้มตะแคงไปตามกระแสน้ำทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือ มีฐานเหลี่ยมมุมฉากด้านหนึ่งโผล่ขึ้นมาเหนือน้ำเพียงครึ่งฐาน องค์พรธาตุมีรูปทรงทางสถาปัตยกรรมเท่าที่ยังเหลืออยู่เป็นขั้นพื้นฐาน 2 ชั้น ความสูงของเจดีย์เฉพาะส่วนที่สัมผัสได้ 12.20 เมตร ความกว้างของฐานพระธาตุชั้นล่างสุด 15.80 เมตร ทั้งนี้พระธาตุหล้าหนอง เป็นที่เคารพรักของชาวหนองคายและชาวบ้านได้จัดประเพณีเกี่ยวพระธาตุทุกปี เช่น บุญบั้งไฟเดือน 6 การแข่งเรือยาววันออกพรรษาทุกปี

...

นายเอี่ยม โลธิเสวง คณะกรรมการพระธาตุหล้าหนอง ผู้ที่ดูแลพระธาตุกลางน้ำ
นายเอี่ยม โลธิเสวง คณะกรรมการพระธาตุหล้าหนอง ผู้ที่ดูแลพระธาตุกลางน้ำ

นายเอี่ยม โลธิเสวง คณะกรรมการพระธาตุหล้าหนอง ผู้ที่ดูแลพระธาตุกลางน้ำ ในวัย 76 ปี ซึ่งได้อาศัยอยู่ใกล้กับพระธาตุกลางน้ำเกินครึ่งศตวรรษ เล่าให้ทีมข่าวฟังว่า ชาวบ้านมีความเชื่อว่า พระธาตุกลางน้ำมีความศักดิ์สิทธิ์เป็นอย่างมาก โดยจะมีการปกปักรักษาชาวเมืองหนองคาย โดยเฉพาะช่วงภัยสงคราม นอกจากนี้ หากจะมีภัยธรรมชาติพายุพัดผ่านก็จะไม่เสียหายมาก

“เดิมทีวัดพระธาตุหล้าหนอง นั้นยังไม่มี แต่เนื่องจากพระธาตุกลางน้ำถูกพัดเสียหาย ทางกรมศิลปากร จึงได้ร่วมกับประชาชนก่อสร้างพระธาตุหล้าหนองขึ้น โดยนำพระธาตุที่อยู่กลางน้ำ และของดีต่างๆ ที่เคยจมอยู่ในน้ำ มาเก็บไว้ด้านบนของวัดพระธาตุหล้าหนองและได้ทำการปิดตายไม่ให้ใครได้เข้าไป” นายเอี่ยม กล่าว

...

คณะกรรมการพระธาตุหล้าหนอง เล่าต่อว่า ส่วนเรื่องการที่ประชาชนมาลอยอังคารที่บริเวณจุดนี้เพราะมีความเชื่อว่าอยากฝากฝังวิญญาณไว้กับสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ เพื่อให้วิญญาณได้สงบสุข อยู่ดีกินดี หรือ หากไม่มีที่ไป ก็จะเอาฝากด้วยการลอยอังคารไว้ที่พระธาตุกลางน้ำ

“การวนรอบพระธาตุ 3 รอบ แล้วค่อยลอยนั้น เหมือนกับเป็นการขออนุญาต คารวะสิ่งศักดิ์สิทธิ์ เช่น จะเข้าบ้านก็ต้องมาขออนุญาตเจ้าของบ้านเสียก่อน จากนั้นเจ้าของบ้านก็อาจจะเปิดประตูให้เข้า เพื่อที่จะไปดูแลกันและกัน ตรงนี้เป็นความเชื่อของชาวบ้าน พ่อแม่เล่าให้ฟัง” นายเอี่ยม อธิบายถึงความเชื่อ

...

ในวันออกพรรษา มีบั้งไฟขึ้นเยอะ ส่วนตัวตนไม่ได้ลบหลู่พญานาค แต่ก็ไม่ได้เชื่อเรื่องนี้มาก เพราะเราเองเป็นคนดูที่ดูแลพระธาตุ อีกทั้งที่ผ่านมา ยังได้มีการทำพิธีอัญเชิญสิ่งศักดิ์สิทธิ์จากพระธาตุกลางน้ำ มาที่ศาลพระธาตุหล้าหนอง แล้ว

เมื่อถามว่า ได้อาศัยอยู่ที่นี่มานานกว่า 50-60 ปี เคยเจอ หรือ เคยเห็นปรากฏการณ์ที่เราอธิบายไม่ได้บ้างไหม นายเอี่ยม กล่าวว่า ไม่ค่อยมีอะไรนะ แต่เคยได้ยินว่า เคยมีชาวบ้านคนหนึ่งเหมือนกับกินเหล้ามา แล้วก็นั่งเรือผ่าน พระธาตุกลางน้ำ แล้วดันไปพูดในเชิงลบหลู่ จู่ๆ เรือก็หักจมน้ำเสียชีวิตเลย

อีกหนึ่งความเชื่อ องค์พญานาคราช 15 ค่ำ เดือน 11 บั้งไฟพญานาคผุด

นอกจากความเชื่อเรื่องสิ่งศักดิ์สิทธิ์ต่างๆ เกี่ยวกับพระธาตุหล้าหนองแล้ว ชาวบ้านยังมีความเชื่อเรื่ององค์พญานาคราช โดย ป้าอ้อย หรือ นางพิรุณ พรหมประสิทธิ์ แม่ค้าขายปลาต่างๆ ที่มีให้ทำบุญหน้าวัด กล่าวว่า ที่นี่มีความเชื่อเรื่องสิ่งศักดิ์สิทธิ์ 2 อย่าง คือ ความเชื่อ องค์พ่อปู่ที่ปกปักรักษาพระธาตุหล้าหนอง และองค์พญานาคราช ที่อยู่ใต้น้ำโขงเพื่อคอยดูแลปกปักรักษาองค์พระธาตุกลางน้ำ ซึ่งใครมาลบหลู่ก็จะเกิดเรื่องไม่ดี ซึ่งชาวบ้านได้กราบไหว้มาโดยตลอด

ป้าอ้อย หรือ นางพิรุณ พรหมประสิทธิ์ แม่ค้าขายปลาเพื่อทำบุญหน้าวัด
ป้าอ้อย หรือ นางพิรุณ พรหมประสิทธิ์ แม่ค้าขายปลาเพื่อทำบุญหน้าวัด

เมื่อถึงวันพระ หรือ 15 ค่ำ หรือ 8 ค่ำ คนแถวนี้อาจจะได้ยินเสียงควบม้า เขาถือว่าเป็นองค์ปู่ที่ดูแลพระธาตุหล้าหนอง ขึ้นมาดูแลลูกหลาน ที่ผ่านมา เคยฝันเหมือนกัน เห็นผู้ชายนุ่งผ้าจูงกระเบนสีแดงควบม้าอยู่ริมโขงเพื่อดูแลลูกหลาน

“ช่วงที่ 15 ค่ำ เดือน 11 ที่นี่ก็เป็นอีก 1 ที่ ที่มีบั้งไฟพญานาคเกิดขึ้น และก็มีประชาชนและนักท่องเที่ยวมารอดูที่ริมฝั่งโขง ในแต่ละปีก็จะมีบั้งไฟขึ้น ทั้งนี้ ในช่วงวันที่ 17 กุมภาพันธ์ จะมีพิธีบวงทรวงองค์พระธาตุหล้าหนอง และองค์ปู่นาคราช ด้วย” นางพิรุณ กล่าว

ที่ผ่านมา พระธาตุกลางน้ำอยู่ในแม่น้ำโขงตั้งแต่ ปี พ.ศ.2390 ซึ่งถึงวันนี้ก็เป็นเวลา 253 ปีแล้ว ซึ่งเปรียบเสมือนสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่คอยคุ้มครองประชาชนหนองคายมาโดยตลอด

ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ รายงาน

อ่านข่าวเกี่ยวข้อง