ใช่ว่าเป็นแบรนด์แฟชั่นใหญ่เงินหนาแล้วจะสามารถเรียกตัวเองว่า “กูตูริเยร์” เพราะการจะได้ขึ้นแคตวอล์ก “ปารีส โอต์ กูตูร์” ซึ่งจัดขึ้นปีละ 2 ครั้ง ในซีซันสปริง/ซัมเมอร์ และออทัม/วินเทอร์ จะต้องผ่านการคัดสรรและรับรองอย่างเป็นทางการจากกระทรวงอุตสาหกรรมฝรั่งเศสเท่านั้น โดยปัจจุบันมีแฟชั่นเฮาส์เพียง 15 แบรนด์ ที่เป็นสมาชิกหลักของสมาคมโอต์ กูตูร์ นอกจาก Chanel, Christian Dior, Givenchy, Jean Paul Gaultier, Maison Margiela, Giambattista Valli อีกเกินครึ่งเป็นแบรนด์เก่าแก่ที่คนไทยแทบไม่เคยได้ยินชื่อ แต่คนฝรั่งเศสเชิดชูให้เป็นตำนานของวงการแฟชั่นโลก
หัวใจสำคัญของ “โอต์ กูตูร์” คือเสื้อผ้าที่ตัดเย็บด้วยความประณีตบรรจงกริบทุกรายละเอียด โดยมีการระดมช่างฝีมือชั้นสูงจากทุกแขนง งานของกูตูริเยร์ทุกชิ้นจะตัดเย็บและปักอย่างวิจิตรด้วยมือตั้งแต่ขั้นตอนแรกถึงขั้นตอนสุดท้าย ใช้เวลาตั้งแต่หลายร้อยชั่วโมง จนถึงหลายพันชั่วโมง เพื่อรังสรรค์ผลงานมาสเตอร์พีซที่ควรค่าแก่การจดจำ ซึ่งจะต้องมีเพียงหนึ่งเดียวในโลก รู้อย่างนี้แล้วจึงไม่น่าแปลกใจที่ชุดกูตูร์แต่ละชุดจะมีสนนราคาแพงลิ่วเป็นล้านๆ แต่ถึงมีเงินมากองก็ใช่จะซื้อได้ ถ้าดีไซเนอร์ไม่พึงพอใจจะทำชุดให้ก็จบกัน
...
นอกจากความวิจิตรบรรจงของการตัดเย็บแล้ว ความอลังการงานสร้างของโปรดักชันก็เป็นจุดขายสำคัญที่เรียกแขกให้แคตวอล์กแฟชั่นชั้นสูง ระยะหลังมานี้หลายแฟชั่นเฮาส์หัวเซ็งลี้แข่งกันสร้างอิมแพกต์ให้ฮือฮา ด้วยการเชื้อเชิญเซเลบริตี้และซุป’ตาร์ระดับเอลิสต์มานั่งเบียดเต็มฟรอนต์โรว์ กลยุทธ์นี้พิสูจน์แล้วว่ามันเวิร์กพอๆกับพรมแดงออสการ์ เพราะไม่เพียงจะเรียกแสงแฟลชจากกองทัพสื่อ แต่ยังเป็นช่องทางโปรโมตแบรนด์สู่โลกโซเชียล โดยผ่านสื่อในมือเหล่าอินฟลูเอนเซอร์ ซึ่งมีมูลค่ามหาศาล
ล่าสุด “แคตวอล์กปารีส โอต์ กูตูร์ สปริง/ซัมเมอร์ 2019” แฟชั่นเฮาส์ขาประจำ “Givenchy” ดิสรัปต์ตัวเองครั้งใหญ่ ด้วยการใช้สื่อดิจิทัลดึงดูดความสนใจเต็มรูปแบบ ถือเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ของแฟชั่นชั้นสูง ที่มีการไลฟ์ถ่ายทอดสดแฟชั่นโชว์จากปารีสสู่สายตาแฟชั่นนิสต้าทั่วโลก เสมือนหนึ่งได้นั่งฟรอนต์โรว์ชมแฟชั่นชั้นสูงแบบติดขอบเวที งานนี้เป็นไอเดียล้วนๆของ “แคลร์ เวท เคลเลอร์”
...
ดีไซเนอร์หญิงคนแรกแห่งจีวองชี่ ที่เพิ่งเข้ามากุมบังเหียนเมื่อปี 2017 และสร้างชื่อเสียงโด่งดังไปทั่วโลกจากการออกแบบชุดเจ้าสาวให้ “เมแกน มาร์เคิล” ในพิธีเสกสมรสกับเจ้าชายแฮร์รี่ รัชทายาทอันดับหกของอังกฤษ
ด้านแฟชั่นเฮาส์เจ้าตำรับโอต์ กูตูร์ “คริสเตียน ดิออร์” ภายใต้การนำทัพของ “มาเรีย กราเซีย กีอูรี” ที่ย้ายวิกมาจากวาเลนติโน ทุ่มทุนสร้างเนรมิตโรงละครสัตว์ขึ้นใจกลางปารีส เพื่อสะท้อนความผูกพันของ “มงซิเออร์ดิออร์” ที่มีต่อโลกเหนือจินตนาการ ซึ่งเต็มไปด้วยการแสดงสุดผาดโผน นอกจากจิตวิญญาณเข้มข้นของดิออร์ที่ยังรักษาไว้ทุกอณู งานนี้ดีไซเนอร์มากพรสวรรค์ยังหยิบแรงบันดาลใจจากผลงานภาพถ่ายอันลือลั่นชุด “ตัวตลก” ของศิลปินหญิงร่วมสมัยแห่งยุคเซเว่นตี้ส์ “ซินดี้ เชอร์แมน” ผสมผสานกับกลิ่นอายความเป็นนักกายกรรมยุควิกตอเรียน มาต่อยอดไอเดียสร้างสรรค์ ผลลัพธ์ที่ได้คือเสน่ห์จากความคอนทราสต์สุดขั้ว
...
สำหรับห้องเสื้อใหญ่ทรงอิทธิพลระดับโลกอย่าง “ชาแนล” ก็ไม่ทำให้ผิดหวัง ถึงแม้ “คาร์ล ลาเกอร์เฟลด์” จะป่วยกะทันหัน จนไม่สามารถปรากฏตัวบนแคตวอล์กเพื่อขอบคุณผู้ชมเหมือนทุกครั้ง แต่ The Show Must Go On การแสดงต้องดำเนินต่อไป งานนี้ “แกรนด์ พาเลส์” แลนด์-มาร์กของกรุงปารีส ถูกเนรมิตให้เป็น “วิลล่า ชาแนล” พาเหล่าแฟชั่นนิสต้ารสนิยมหรู ย้อนอดีตกลับไปสัมผัสความรุ่มรวยของวัฒนธรรมและศิลปะในยุคศตวรรษที่ 18 ซึ่งได้รับการขนานนามเป็นยุคสมัยเรืองปัญญา ที่เต็มไปด้วยความเคลื่อนไหวเพื่อปฏิรูปสังคมของเหล่าปัญญาชน ซีซันนี้ผ้าทวีดยังเป็นนางเอกประจำแคตวอล์ก โดยมาในซิลูเอ็ตใหม่ที่ลำตัวยาวขึ้น และเพิ่มสีสันด้วยคอเสื้อแบบ boat-neck ที่ปรากฏให้เห็นทั้งชุดค็อกเทลสั้น ไปจนถึงชุดเดรสยาว กระนั้น ที่เด็ดสุดคือฟินาเล่ชุดเจ้าสาว ที่มาในโครงร่างของชุดว่ายน้ำวันพีซปักเลื่อมระยิบระยับ พร้อมผ้าคลุมผมเจ้าสาวยาวกรุยกรายเข้าเซต เรียกเสียงปรบมือกราวใหญ่จากผู้ชม ที่ทึ่งในไอเดียสุดเซอร์ไพรส์
...
ส่วน “Giambattista Valli” หยิบแรงบันดาลใจจากภาพถ่ายคลาสสิกของ “เฮลมุท นิวตัน” ที่บันทึกภาพเบื้องหลังการฟิตติ้งชุดโอต์ กูตูร์ของ “อีฟส์ แซงต์ โลรองต์” ในห้องทำงาน มาสร้างสรรค์คอลเลกชันเสื้อผ้าชั้นสูงซีซันล่าสุด เพื่อตอกย้ำถึงความเป็นตำนานของดีไซเนอร์บรมครู ต้นกำเนิดความเป็นกูตูริเยร์ของฝรั่งเศส ซึ่งเป็นโรลโมเดลสำคัญที่ทำให้ “เกียบาตติสต้า” เดินทางจากกรุงโรม เข้ามาตามหาความฝันในเมืองปารีเซียง
แม้จะไม่ได้เป็นสมาชิกหลักของสมาคมโอต์ กูตูร์ แต่ “Iris Van Herpen” ดีไซเนอร์เลือดใหม่สัญชาติดัตช์ ก็ใช้สิทธิ์เข้าร่วมโชว์ในฐานะแขกรับเชิญ ทำเอาอึ้งไปทั้งวงการ เพราะถึงจะไม่เด่นดังเท่ารุ่นพี่ แต่เธอคนนี้สร้างสรรค์ 18 ลุค คอลเลกชันเสื้อผ้าชั้นสูง ออกมาได้อย่างลุ่มลึก และเต็มไปด้วยจิตวิญญาณศิลปะ “ไอริส” เพิ่งจะอายุ 34 บอกเล่าว่า คอลเลกชันนี้ได้แรงบันดาลใจจากแผนผังดาราศาสตร์โบราณของ“นิโคลาส โคเปอร์นิคัส” นักเขียนแผนที่ดวงดาวชาวดัตช์-เยอรมัน ซึ่งโด่งดังในยุคเรอเนซองส์ เป็นส่วนผสมของความเพ้อฝันแบบเทพนิยายกับความลี้ลับของโหราศาสตร์ เจอความสดใหม่ไอเดียพุ่งกระฉูดขนาดนี้ เหล่านักวิจารณ์แฟชั่นจึงพร้อมใจกันเทใจให้เป็นสุดยอดโชว์ประจำแคตวอล์กซีซันนี้ เพราะเต็มไปด้วยรายละเอียดล้ำจินตนาการ แถมยังมากเทคนิคขั้นสูง นอกจากจะลงลวดลายสี 3 มิติ เพื่อรังสรรค์ศิลปะชวนฝันบนผืนผ้า เธอยังลงทุนตัดผ้าด้วยเลเซอร์ 3 มิติ เพื่อสร้างมิติให้เกิดความพลิ้วไหวราวกับมีชีวิต.