ประธาน กอปศ.โยนรัฐบาลต้องรับผิดชอบ ย้ำไม่กระทบกฎหมายรอง

เมื่อวันที่ 22 ม.ค. ศ.นพ.จรัส สุวรรณเวลา ประธานคณะกรรมการอิสระเพื่อการปฏิรูปการศึกษา (กอปศ.) เปิดเผยภายหลังการประชุม กอปศ.ว่า ที่ประชุมได้พิจารณาความก้าวหน้ากลไกการปฏิรูปการศึกษา ซึ่งขณะนี้ พ.ร.บ.หลายฉบับมีการประกาศใช้ไปแล้ว และบางฉบับก็ผ่านการพิจารณาของสภานิติบัญญัติ (สนช.) ไปแล้ว นอกจากนี้ ในส่วนของร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ....ขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาของคณะกรรมการกฤษฎีกา ส่วนแผนปฏิรูปประเทศด้านการศึกษากำหนดจะเข้าที่ประชุมกรรมการยุทธศาสตร์ชาติในวันที่ 25 ม.ค.นี้

“สิ่งที่จะมีความชัดเจนในวันนี้คือ เรื่องบทบาทหน้าที่ขององค์การปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ที่ต้องเข้าไปดูแลกลุ่มเด็กปฐมวัยตามร่าง พ.ร.บ.พัฒนาเด็กปฐมวัย พ.ศ.... ทำให้ต้องมีการปรับปรุงเรื่องนี้ อย่างมาก ส่วนระดับประถมศึกษาและมัธยมศึกษานั้น ต้องอาศัยรัฐและเอกชนเป็นเครื่องมือในการดำเนินการ” ศ.นพ.จรัสกล่าวและว่า ขณะนี้ร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.... ยังอยู่ในการพิจารณาของคณะกรรมการกฤษฎีกา ส่วนจะออกมาเป็น พ.ร.บ.ได้เมื่อใดนั้น เป็นหน้าที่ของรัฐบาลว่าจะดำเนินการอย่างไร เพราะ กอปศ.ส่งไปให้ ครม.พิจารณาตั้งแต่เดือน ส.ค.-ก.ย.2561 ซึ่งถือว่าล่าช้าไปมาก ส่วนการผลักดันกฎหมายระดับรองในหลายเรื่อง ขณะนี้สามารถทำได้ทันที ต่อให้กฎหมายฉบับหลักยังไม่เกิดขึ้นก็ไม่กระทบ

ด้าน รศ.นพ.จิรุตม์ ศรีรัตนบัลล์ ประธานอนุกรรมการเฉพาะกิจจัดทำร่างแผนปฏิรูปประเทศด้านการศึกษา กล่าวว่า โดยหลักการเมื่อร่างแผนปฏิรูปประเทศด้านการศึกษาเข้าที่ประชุมคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ จะเป็นการรับรองหลักการและรายละเอียดที่สำคัญ ซึ่งทาง กอปศ.ได้มีการเสนอความก้าวหน้าของการดำเนินการปฏิรูปการศึกษา รวมถึงข้อเสนอแนะเพิ่มเติมไปยังที่ประชุม ดังนั้น เมื่อคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติเสนอมา ทาง กอปศ.ก็จะนำมาปรับปรุงในบางรายละเอียด เช่น กฎหมายระดับรองที่เดิมมีรายละเอียดค่อนข้างมาก แต่เนื่องจากร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.... อยู่ในการพิจารณาของคณะกรรมการกฤษฎีกาอาจมีการปรับปรุงเปลี่ยนแปลง ทำให้ร่างกฎหมายระดับรองต่างๆ อาจต้องมีการกำหนดใหม่ เพราะหากไม่กำหนดใหม่จะส่งผลต่อผู้ที่จะมารับผิดชอบไม่สามารถนำไปปฎิบัติได้ อย่างไรก็ตาม คาดว่าร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.... จะผ่าน สนช.ภายในเดือน ก.พ.นี้.

...