ประเทศไทยยังคงเผชิญปัญหาฝุ่นละอองอย่างต่อเนื่อง โดยฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 2.5 ไมครอน (PM2.5) มีขนาดเล็กกว่า 1 ใน 25 ส่วนของเส้นผ่านศูนย์กลางของเส้นผมมนุษย์ สามารถแพร่กระจายเข้าสู่ระบบทางเดินหายใจ ถุงลมในปอด และกระแสเลือดโดยตรง ส่งผลอันตรายต่อกระบวนการทํางานของอวัยวะต่างๆ ในร่างกาย และเพิ่มความเสี่ยงต่อการเป็นโรคเรื้อรัง
อีกทั้ง ยังเป็นมลพิษข้ามพรมแดนและปนเปื้อนอยู่ในบรรยากาศได้นาน เป็นฝุ่นอันตรายไม่ว่าจะมีองค์ประกอบทางเคมีใดๆ ก็ตาม เช่น ปรอท แคดเมียม สารหนู และโพลีไซคลิกอะโรมาติกไฮโดรคาร์บอน (PAHs) เป็นต้น
กรมควบคุมมลพิษ จึงได้ติดตามตรวจสอบคุณภาพอากาศ พบว่า สถานการณ์ฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5 เฉลี่ย 24 ชั่วโมง ในกรุงเทพฯ และปริมณฑล พบเกินเกณฑ์มาตรฐาน คือ 50 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร โดยในช่วงต้นปี เดือน ม.ค. ถึง มี.ค. และช่วงปลายปี เดือน ธ.ค.ของทุกปี ย้อนหลัง 8 ปี ตั้งแต่ปี 2554-2561
และการติดตามตรวจสอบสถานการณ์ฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5 เฉลี่ย 24 ชั่วโมง ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. ถึง 27 มี.ค. 2561 ในพื้นที่กรุงเทพฯ พบว่าปริมาณฝุ่นละอองขนาดเล็กเริ่มมีแนวโน้มสูงขึ้น จนอยู่ในระดับเกินเกณฑ์มาตรฐานตั้งแต่วันที่ 15 ม.ค. 2562
ในปี พ.ศ.2556 องค์การอนามัยโลก (WHO) จึงกําหนดอย่างเป็นทางการให้ PM2.5 จัดอยู่ในกลุ่มที่ 1 ของสารก่อมะเร็งจนถึงปัจจุบัน จึงได้มีการกำหนดค่ามาตรฐานคุณภาพอากาศขึ้นมา
แต่รู้หรือไม่ว่า “มาตรฐานคุณภาพอากาศ” และ “ดัชนีคุณภาพอากาศ” ของประเทศไทยกับองค์การอนามัยโลกนั้นแตกต่างกัน
...
องค์การอนามัย VS กรมควบคุมมลพิษ มาตรฐานคุณภาพอากาศ แตกต่างกันอย่างไร
มาตรฐานคุณภาพอากาศของประเทศไทย เมื่อเทียบกับข้อแนะนําขององค์การอนามัยโลก “ค่ามาตรฐานรายปีของ PM2.5” อยู่ที่ 25 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร สูงกว่าค่ามาตรฐานขององค์การอนามัยโลก 2.5 เท่า ส่วนค่าเฉลี่ย 24 ชั่วโมง อยู่ที่ 50 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ซึ่งสูงกว่า 2 เท่าเมื่อเทียบกับมาตรฐานขององค์การอนามัยโลก
ส่วน “ค่ามาตรฐานรายปีของ PM10” ของประเทศไทย อยู่ที่ 50 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร เมื่อเทียบกับค่ามาตรฐานขององค์การอนามัยโลก ซึ่งอยู่ที่ 20 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ในขณะที่มาตรฐานเฉลี่ย 24 ชั่วโมง อยู่ที่ 120 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร เมื่อเทียบกับค่ามาตรฐานขององค์การอนามัยโลก 50 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร
ขณะที่ ดัชนีคุณภาพอากาศ (AQI) คือ ค่าตัวเลขที่ใช้เพื่อรายงานคุณภาพอากาศรายวัน ทําให้รู้ว่าอากาศสะอาดหรือสกปรกเพียงใด และอาจจะเกิดผลกระทบสุขภาพต่อกลุ่มคนที่เกี่ยวข้องอย่างไรบ้าง ซึ่งดัชนีคุณภาพอากาศจะเน้นถึงผลกระทบที่เกิดขึ้นต่อสุขภาพของเราภายใน 2-3 ชั่วโมง หรือหลายวัน หลังจากที่หายใจเอาอากาศที่มีมลพิษเข้าไป เมื่อ AQI มีค่าสูงขึ้น เปอร์เซ็นต์ของประชากรที่มีแนวโน้มจะได้รับผลกระทบด้านลบต่อสุขภาพจะยิ่งสูงขึ้น
สำหรับดัชนีคุณภาพอากาศที่ใช้อยู่ในประเทศไทย คํานวณโดยเทียบจากมาตรฐานคุณภาพอากาศในบรรยากาศโดยทั่วไปของสารมลพิษทางอากาศ 5 ประเภท ได้แก่ ก๊าซโอโซน (O3) เฉลี่ย 1 ชั่วโมงก๊าซไนโตรเจนไดออกไซด์ (NO2) เฉลี่ย 1 ชั่วโมง ก๊าซคาร์บอนมอนอกไซด์ (CO) เฉลี่ย 8 ชั่วโมง ก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ (SO2) เฉลี่ย 24 ชั่วโมง และฝุ่นละอองขนาดเล็กกว่า 10 ไมครอน (PM10) เฉลี่ย 24 ชั่วโมง ทั้งนี้ ดัชนีคุณภาพอากาศที่คํานวณได้ของสารมลพิษทางอากาศประเภทใดมีค่าสูงสุด จะใช้เป็นดัชนีคุณภาพอากาศของวันนั้น
จาก Infographic จะเห็นได้ว่า AQI ช่วง 151-200 เกณฑ์ขององค์การอนามัยโลก จัดอยู่ในระดับ “สีแดง” มีผลกระทบต่อสุขภาพ ขณะที่เกณฑ์ของกรมควบคุมมลพิษถูกจัดอยู่ในระดับ “สีส้ม” เริ่มมีผลต่อสุขภาพ
มาตรฐานประเทศอื่นเป็นอย่างไร?
...
เหตุใดค่ามาตรฐานจึงต่างกัน?
นายสนธิ คชวัฒน์ เลขาธิการสมาคมวิทยาศาสตร์อนามัยสิ่งแวดล้อม กล่าวถึงปมเหตุที่ประเทศไทยมีค่ามาตรฐานคุณภาพอากาศสูงกว่าองค์การอนามัยโลก เนื่องจากประเทศไทยเป็นประเทศที่กำลังพัฒนา เพราะฉะนั้นการกำหนดมาตรฐานจึงต้องอิงปัจจัยเศรษฐกิจและสังคมด้วย หากกำหนดไว้เท่ากับองค์การอนามัยโลก ที่กำหนดค่าเฉลี่ย 24 ชั่วโมง อยู่ที่ 25 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร อาจจะควบคุมไม่ให้เกินมาตรฐานไม่ได้
ไฉนมาตรฐานสุขภาพต้องอิงปัจจัยทางเศรษฐกิจและสังคม? ผู้สื่อข่าวถามกลับ
นักวิชาการด้านสิ่งแวดล้อม อธิบายว่า กรมควบคุมมลพิษดูแลในเรื่องสิ่งแวดล้อม ส่วนเรื่องสุขภาพนั้น กระทรวงสาธารณสุขเป็นผู้ดูแล แต่ผู้ที่ออกมาตรฐานสิ่งแวดล้อม คือ กรมควบคุมมลพิษ ทำให้ตอนนี้ประเทศไทยพูดเรื่องมาตรฐานสิ่งแวดล้อม ไม่ใช่เรื่องสุขภาพอนามัย ซึ่งความจริงควรจะเป็นกระทรวงสาธารณสุขที่ต้องออกเกณฑ์ด้านอนามัยโดยยึดขององค์การอนามัยโลก
แต่เมื่อให้อำนาจกรมควบคุมมลพิษออกมาตรฐาน จึงต้องดูความเป็นไปได้ของผู้ประกอบการ เศรษฐกิจและสังคม จึงทำให้เกณฑ์ดังกล่าวเป็นเรื่องของ “มาตรฐานสิ่งแวดล้อม” มากกว่า “มาตรฐานสุขภาพ” นั่นเอง
...
“องค์การอนามัยโลกเขาดูเรื่องสุขภาพเป็นหลัก แต่ของเราไปดูเรื่องเศรษฐกิจ สังคม มารวมกับเรื่องสุขภาพ ทำให้มาตรฐานของเราสูงกว่าขององค์การอนามัยโลก เพราะกลัวว่าจะทำตามมาตรฐานที่ตั้งไว้ไม่ได้ ใช้เงินในการลงทุนมากมาย
พอมาถึงวันนี้ทุกอย่างมันปรากฏชัดแล้วว่า ถึงแม้ประเทศไทยจะกำหนดไว้ที่ 50 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ก็เอาไม่อยู่ เพราะวันนี้พุ่งไปถึง 70-80 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ขณะที่ประชาชนเริ่มมีปัญหาด้านสุขภาพแล้ว” เลขาธิการสมาคมวิทยาศาสตร์อนามัยสิ่งแวดล้อม กล่าว
ผลลัพธ์ของเกณฑ์มาตรฐานไม่เท่ากัน
เมื่อเกณฑ์มาตรฐานคุณภาพอากาศไม่เท่ากัน โดยเกณฑ์ขององค์การอนามัยโลกจัดอยู่ในระดับมีผลกระทบต่อสุขภาพ ขณะที่เกณฑ์ของกรมควบคุมมลพิษถูกจัดอยู่ในระดับเริ่มมีผลต่อสุขภาพ อะไรจะเกิดขึ้น?
ประชาชนไม่สวมหน้ากากกันฝุ่นละอองใช่หรือไม่ เพราะยังไม่ถึงเกณฑ์ที่น่าอันตรายต่อสุขภาพ และหากไม่สวมหน้ากากจะเกิดผลกระทบต่อสุขภาพอย่างไรบ้าง?
...
ฝุ่นละอองขนาดเล็กกว่า 2.5 ไมครอน สามารถหายใจเข้าไปได้ถึงระบบทางเดินหายใจส่วนล่างและถุงลมปอด มีผลกระทบต่อสุขภาพทั้งแบบเฉียบพลัน (ชั่วโมงหรือวัน) และผลเรื้อรัง (เดือนหรือปี) ได้แก่ อาการป่วยทางระบบหายใจและหลอดเลือดหัวใจ เช่น หอบหืด อาการป่วยของระบบหายใจ และการเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล และการเสียชีวิตจากโรคระบบหายใจและหลอดเลือดหัวใจรวมถึงมะเร็งปอด
ฝุ่นละอองขนาดเล็กกว่า 2.5 ไมครอน มีผลเสียต่อสุขภาพอย่างชัดเจนมากกว่าฝุ่นหยาบที่มีขนาดใหญ่กว่า มีผลการศึกษาที่ประมาณว่า อัตราการเสียชีวิตจากทุกโรคเพิ่มขึ้น 0.2-0.6% ต่อ PM10 ที่เพิ่มขึ้น 10 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ในขณะที่อัตราการเสียชีวิตเฉพาะจากโรคระบบหายใจเพิ่มขึ้น 6-13% ต่อ PM2.5 ที่เพิ่มขึ้น 10 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร
ขณะที่ องค์การอนามัยโลก ให้ข้อมูลเรื่องมลพิษทางอากาศไว้อย่างน่าสนใจ โดยมลพิษทางอากาศทำให้คนเสียชีวิตก่อนวัยอันควรราว 7 ล้านคนต่อปี ด้วยโรคไม่ติดต่อ ในปี 2016 มลพิษทางอากาศทำให้คนเสียชีวิตมากถึง 4.2 ล้านคน เฉพาะมลพิษทางอากาศจากการหุงหาอาหารในครัวเรือน การเผาไหม้เชื้อเพลิง และเทคโนโลยี มีผลทำให้คนเสียชีวิตถึง 3.8 ล้านคนในปีเดียวกัน
ประชากร 9 ใน 10 หายใจเอาอากาศที่มีมลพิษสูงเข้าในร่างกาย เช่น ผงฝุ่นเขม่าดำที่เข้าไปเกาะลึกในปอดและระบบหัวใจและหลอดเลือด การเผาเชื้อเพลิงแข็ง เช่น ถ่าน ไม้ ฟืน เพื่อการประกอบอาหารหรือกิจกรรมอื่นๆ และการเผาไหม้เชื้อเพลิงของเครื่องยนต์ โดยเฉพาะไอเสียจากการเผาไหม้ของน้ำมันดีเซล เป็นต้น
การเสียชีวิตมากกว่า 90% จากสาเหตุมลพิษทางอากาศเกิดขึ้นในประเทศที่มีรายได้ต่ำถึงปานกลาง โดยส่วนใหญ่ในเอเชียและแอฟริกา รองลงมาคือประเทศที่มีรายได้ต่ำถึงปานกลางในเมดิเตอร์เรเนียนตะวันออก ยุโรป และอเมริกา
ประชากรราว 3 พันล้านคน หรือมากกว่า 40% ของประชากรโลก ยังไม่เข้าถึงเชื้อเพลิงและเทคโนโลยีที่สะอาดสำหรับการหุงหาอาหารของครัวเรือน ซึ่งเป็นสาเหตุหลักของมลพิษทางอากาศที่มาจากครัวเรือน เช่น ยังมีการใช้เชื้อเพลิงชีวภาพ มูลสัตว์ ถ่านหิน น้ำมันก๊าด
นอกจากนี้ 91% ของประชากรโลกอาศัยในพื้นที่ที่คุณภาพอากาศต่ำกว่ามาตรฐานที่องค์การอนามัยโลกกำหนด และ 80% ของประชากรในเขตเมืองประสบกับมลพิษทางอากาศที่สูงเกินเกณฑ์ขององค์การอนามัยโลก
ตกมาตรฐานโลก ผ่านมาตรฐานไทย! เรียกร้องกำหนดให้เท่าสหรัฐฯ
นายสนธิ กล่าวต่อว่า นักวิชาการด้านสิ่งแวดล้อมได้พยายามเรียกร้องให้ประเทศไทยกำหนดมาตรฐานคุณภาพอากาศให้เท่ากับประเทศสหรัฐอเมริกา คือ 35 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร เป็นอันดับแรกก่อน จากนั้นจึงค่อยปรับลดลงให้เท่ามาตรฐานขององค์การอนามัยโลก คือ 25 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร แต่ปัจจุบันประเทศไทยกำหนดคือ 50 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ซึ่งสูงถึง 2 เท่า
กล่าวโดยสรุปค่าฝุ่นละอองในประเทศไทยตอนนี้ถึงขั้นวิกฤติ ต้องหามาตรการป้องกัน โดยทางภาคประชาชนมองว่า เหตุใดไม่ใช้ พ.ร.บ.ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ.2535 มาตรา 9 เมื่อมีเหตุฉุกเฉินหรือเหตุภยันตรายต่อสาธารณชน อันเนื่องมาจากภัยธรรมชาติ หรือภาวะมลพิษที่เกิดจากการแพร่กระจายของมลพิษ ซึ่งหากปล่อยไว้เช่นนั้นจะเป็นอันตรายอย่างร้ายแรงต่อชีวิต ร่างกายหรือสุขภาพอนามัยของประชาชน ให้นายกรัฐมนตรีมีอำนาจสั่งตามที่เห็นสมควร และอาจจะมอบหมายให้ผู้ว่าฯ จังหวัดต่างๆ ไปจัดการตามที่นายกฯ มอบหมายให้ โดยสแกนแหล่งกำเนิดทุกแหล่งและเคลียร์ให้หมด
“ของเรามันไม่ได้มาตรฐานโลก แต่มันเป็นมาตรฐานไทย ซึ่งถ้าปรับลดให้ต่ำกว่า 50 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร คงเอาไม่อยู่ เพราะติดปัญหาต่างๆ ต้องยอมรับว่า ในกรุงเทพฯ รถยนต์บนท้องถนนมีปริมาณมากเกินไป ระบบขนส่งมวลชนยังไม่ดี และยังมีการก่อสร้างอีกมากมาย หากกำหนดมาตรฐานฝุ่นให้ลดลงมาต่ำๆ แล้วทำไม่ได้ จะเกิดคำถามขึ้นมาว่า ทำไมราชการทำงานไม่มีประสิทธิภาพ” เลขาธิการสมาคมวิทยาศาสตร์อนามัยสิ่งแวดล้อม สรุปปมปัญหาทิ้งท้าย
ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ รายงาน
อ่านข่าวเกี่ยวข้อง