ต้องยอมรับว่า “เจ้าฝุ่นจิ๋ว” หรือ “ฝุ่นพีเอ็ม 2.5” มีพิษร้ายกาจทีเดียว สร้างความตระหนกตกใจ หวาดผวาให้คน กทม. พอสมควรตั้งแต่ต้นปี และเมื่อช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา ถือว่าเข้าขั้นวิกฤติ เพราะเกิดขึ้นรวดเร็ว และอยู่นานกว่าปกติ ส่งผลหลายพื้นที่ของ กทม. เริ่มมีผลกระทบกับร่างกายแล้ว โดยเฉพาะริมถนนดินแดง ถนนลาดพร้าว
แม้ระหว่างสัปดาห์ ฝนจะตกลงมาบ้างในบางวัน แต่สถานการณ์ยังคงน่าห่วงอยู่ และยังไม่มีคำตอบชัดเจนจากภาครัฐว่า คนกรุงต้องเผชิญฝุ่นจิ๋วนี้ไปอีกนานแค่ไหน แต่ก็มีการตื่นตัว ออกมาตรการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าต่างๆ อาทิ สวมหน้ากากป้องกันฝุ่นเมื่อออกจากบ้าน งดกิจกรรมกลางแจ้งเป็นเวลานานๆ
ค่าฝุ่นละออง PM 2.5 เป็นสิ่งที่มองไม่เห็น และมีอานุภาพร้ายแรง ส่งผลเสียต่อสุขภาพผ่านทางเดินหายใจเข้าสู่ปอดและกระแสเลือดได้ง่าย อีกทั้งเมื่อเข้าสู่ร่างกายเป็นระยะเวลานานๆ จะเพิ่มความเสี่ยงต่อการเป็นโรคเรื้อรังอื่นๆ ตามมา อาทิ เช่น โรคหัวใจ โรคทางเดินหายใจ นี่จึงเป็นเหตุผลที่ทำให้คน กทม. กังวลใจ และป้องกันตัวเองเบื้องต้นโดยใส่หน้ากากยามอยู่นอกบ้าน
...
แต่ขณะที่ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ ลงสำรวจ 3 พื้นที่วิกฤติของฝุ่นละออง ริมถนนลาดพร้าว ถนนดินเเดง และ ม.เกษตรศาสตร์ เขตจตุจักร กลับพบ 2 อาชีพที่ทำงานคลุกฝุ่น และท่ามกลางมลพิษทางอากาศ ซึ่งเป็นสาเหตุหนึ่งที่ก่อให้เกิดฝุ่น PM2.5 โดยไม่มีการใส่หน้ากากป้องกัน ตลอดการทำงานอย่างต่ำ 8 ชั่วโมงในแต่ละวัน
ทีมข่าวฯ เกิดความคลางแคลงใจ ด้วยพื้นที่ทั้ง 2 จุดกำลังมีการก่อสร้างรถไฟฟ้า ในแต่ละวันต้องสูดดมควันพิษจากท่อไอเสียรถ และฝุ่นจากการก่อสร้างเข้าสู่ร่างกายเป็นจำนวนมาก พวกเขาไม่เกรงกลัวอันตรายหรือ และพวกเขาใช้ชีวิตให้อยู่รอดปลอดภัยจากเมืองเปื้อนฝุ่น PM 2.5 ได้อย่างไร เพราะแค่ทีมข่าวฯ อยู่ในบริเวณดังกล่าวไม่เกินชั่วโมงก็รู้สึกระคายเคืองจมูก แสบจมูก แสบตาจนต้องหลบเลี่ยงเข้าภายในร้านกาแฟริมทาง
หรืออาจเป็นยาชูกำลัง? ทำงานหนัก คลุกฝุ่น แต่ร่างกายกลับแข็งแรง
หนึ่งในกรรมกรก่อสร้างรถไฟฟ้าสายหนึ่ง ของ กทม. เปิดใจกับทีมข่าวฯ ขณะพักรับประทานอาหารนอกบริเวณพื้นที่ทำงาน ว่า ตนเป็นคนภาคอีสาน มาขายแรงงานเป็นกรรมกรก่อสร้างตามไซต์งานต่างๆ กับหลายๆ บริษัทใน กทม. มากว่าสามสิบปี กับปัญหาฝุ่นละอองจากการก่อสร้าง แต่ละบริษัทที่เคยทำจะในทุกวันก็มีมาตรการป้องกัน โดยมีหน้ากากให้ใส่ป้องกันฝุ่นตลอดการทำงาน แต่บางครั้งตนก็ใส่บ้าง ไม่ใส่บ้าง เพราะเมื่อใส่หน้ากากแล้วรู้สึกหายใจอึดอัด และทำงานไม่ถนัด
แล้วมีปัญหาสุขภาพอะไรตามมาหรือไม่? กรรมกรวัย 40 กว่า นั่งคิดสักพัก แล้วเล่าต่อว่า แรกๆ ที่ตัดสินใจมาทำงานก่อสร้าง มีปัญหาสุขภาพเจ็บป่วย ออดๆ แอดๆ เช่น ไช้หวัด ไอ หายใจไม่สะดวกเกือบทุกสัปดาห์ สาเหตุเป็นเพราะร่างกายยังไม่คุ้นชินกับการทำงานกลางแดดจ้า และอากาศร้อนอบอ้าว แต่ทำงานได้ 2-3 เดือน ร่างกายเริ่มคุ้นชิน และปรับตัวได้ ก็ไม่ได้ป่วยบ่อย
ตอนนี้อายุเริ่มมากขึ้นมีเจ็บป่วยนานๆ ที แต่สำหรับโรคประจำตัว โดยเฉพาะคนภายนอกกังวลว่าจะเป็นโรคเกี่ยวกับระบบทางเดินหายใจ หรือปอด เพราะต้องทำงานคลุกฝุ่นทั้งวันนั้นยังไม่มี สำหรับเหตุผลที่ยังสุขภาพแข็งแรงดี ห่างไกลโรคเหล่านี้ เขาตอบด้วยน้ำเสียงใสซื่อว่า
...
“กรรมกรขายแรงอย่างพวกผม ก็ต้องทำงานหนัก ตากแดด อาบเหงื่อทั้งวัน ที่คนภายนอกมองว่ามันลำบาก ก็ลำบากจริงๆ แหละ แต่สำหรับผม ร่างกายคงชินกับการทำงานหนักไปแล้ว และมันเหมือนเป็นการออกกำลังกาย นี่ละมั้งจึงทำให้ผมยังไม่มีโรคประจำตัว”
เผย 3 มาตรการ ป้องกันสังคม กรรมกร จากฝุ่นก่อสร้างรถไฟฟ้า
สำหรับปัญหาฝุ่นก่อสร้าง เป็นสาเหตุหนึ่งของฝุ่นพิษที่คน กทม. กำลังเผชิญ และกังวลเรื่องสุขภาพ แต่กรรมกรผู้แข็งแกร่ง ของบริษัทหนึ่ง ที่รับสนองนโยบายก่อสร้างรถไฟฟ้าสายหนึ่งของ กทม. รายนี้ กลับบอกอย่างมั่นใจว่า “ไม่กลัวอันตราย” พร้อมเผย 3 มาตรการป้องกัน และกำจัดฝุ่นขณะทำงานในพื้นที่ก่อสร้างที่บริษัทได้ปฏิบัติกันมาอย่างเคร่งครัด อย่างสม่ำเสมอตลอด 3 ปีของการก่อสร้าง ดังนี้
...
ระหว่างปฏิบัติงาน ตั้งแต่เวลา 08.00-17.00 น. หรือทำโอทีต่อไม่เกินเวลา 21.00 น. หากผู้สัญจรไปมาสังเกตดีๆ จะพบเห็นท่อประปาขนาดเล็ก ตลอดแนวขอบแบริเออร์พื้นที่การก่อสร้าง และบางจุดจะพบสายยางด้วย ซึ่งใช้รดพื้นดินให้ชุ่ม เพื่อป้องกันการกระจายของฝุ่นขณะทำงาน ต่อมาเวลา 22.00-05.00 น. รถดูดฝุ่น ของ รฟม. จะมาทำความสะอาด กวาดและดูดฝุ่นบนถนน ตามแนวสายทางโครงการฯ จากนั้นเวลา 23.00-02.00 น. จะมีรถมาล้างถนนตามแนวสายก่อสร้างของโครงการ
...
สำหรับการป้องกันสุขภาพของกรรมกร ทางบริษัทมีนโนบายปฏิบัติ ดังนี้ ก่อนเริ่มปฏิบัติงาน โฟร์แมนจะมีการให้ความรู้ ความเข้าใจเรื่องการป้องกันฝุ่น เพื่อให้ตระหนักถึงความรับผิดชอบที่เกิดกับสังคม และจะมีการแจกหน้ากากป้องกันฝุ่น ซึ่งเป็นการป้องกันเบื้องต้น ส่วนในระยะยาว คือมีการตรวจสุขภาพประจำปี
“พวกผมก็ช่วยกันป้องกันฝุ่นละอองตามนโนบายบริษัทมาตลอด เพื่อตัวเรา และสังคมด้วย บริษัทมีตรวจสุขภาพให้ทุกปี ผมจึงรู้ว่าแต่ละปีสุขภาพแข็งแรงดีอย่างไร จึงยังคงทำงานนี้ต่อ พ่อแม่ ที่ต่างจังหวัดก็เป็นห่วง โทรมาถามไถ่ตลอดเรื่องฝุ่นพิษ แต่ถ้าคนไทยช่วยกันหลายๆ ช่องทาง ฝุ่นพิษก็จะลดลง” กรรมกรชาวอีสานกล่าว
ดมยา หาที่โล่ง ต้นไม้เยอะๆ สารพัดวิธี คนขับรถเมล์ ปัดป้องควันพิษ
อีกอาชีพที่น่าสงสารและเห็นใจ หลังทีมข่าวฯ ลงพื้นที่พูดคุย เพราะต้องเผชิญกับมลพิษทางอากาศจากการใช้รถยนต์บนท้องถนน ที่ก่อให้เกิดฝุ่น PM2.5 ได้เช่นกัน นั่นคือ คนขับรถเมล์ ด้วยหน้าที่ที่ต้องแวดล้อมควันและฝุ่นพิษเช่นเดียวกับกรรมกรก่อสร้างนี้เอง พวกเขาจึงต้องระวังตัวเป็นพิเศษ และมีวิธีป้องกันเสริมในแบบฉบับของตัวเอง
คนขับรถเมล์ธรรมดาสายหนึ่งใน เขตดินแดง กทม. ซึ่งเป็นอีกพื้นที่วิกฤตฝุ่นพิษของ กทม. เปิดใจกับทีมข่าวฯ จากประสบการณ์ชีวิตการทำงานมาเกือบ 30 ปี โดยเริ่มย้อนรอยเปรียบเทียบมลพิษทางอากาศ ว่า 10 กว่าปีก่อน การใช้รถยนต์ส่วนตัวไม่มากเท่าปัจจุบัน มลพิษทางอากาศยังพอหายใจได้สบายจมูกบ้าง
แต่ปัจจุบันมลพิษทางอากาศเยอะมาก ยิ่งเวลารถมาออกันเยอะๆ มลพิษจากท่อไอเสียเหม็นมาก ทำให้อากาศไม่ค่อยดี ส่งผลให้แสบจมูก เจ็บคอหายใจไม่สะดวกบ้าง วิธีป้องกันดูแลสุขภาพตัวเอง นอกจาก องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) จะมีการตรวจสุขภาพ 2 ครั้งต่อปี ก็มีวิธีเซฟตัวเอง โดยก่อนขับรถเมล์ จะไม่ลืมพกหน้ากากอนามัยติดตัวเสมอ แต่ก็ไม่ได้นำมาใช้ทุกครั้ง จะใส่เมื่อวิกฤติจริงๆ เช่น รถติดหนักหลายชั่วโมง ซึ่งเมื่อทีมข่าวฯ ถามถึงเหตุผล ก้ได้รับคำตอบเหมือนคนอื่นๆ ที่เคยใส่หน้ากากแล้วสักพักก็หยุดใช้ว่า
“มันอึดอัด หายใจไม่ค่อยออก รู้สึกไม่ชิน และขับรถไม่ถนัดด้วย ผมทำงานตรงนี้ ก็ต้องเจอฝุ่น ควันรถทุกวัน ก็อยู่ที่เราว่าจะป้องกันตัวเองให้ดีที่สุดอย่างไร หน้ากากก็ใส่บ้าง ถ้าเหม็นมากๆ และไม่ไหวจริงๆ พอขับรถครบรอบก็จะเดินไปหาที่โล่งๆ บริเวณต้นไม้เยอะๆๆ ให้อากาศสดชื่นได้เข้าร่างกาย ดมยาดมดมผ่อนคลายให้รู้สึกดี” คนขับรถเมล์ชาวเหนือเปิดใจ ขณะจอดพักริมถนนหลังขับครบรอบ
ขสมก. ไม่ขึ้นค่าโดยสารทุกประเภท ส่งเสริมใช้แทนรถส่วนตัว หวังลดสร้างฝุ่นพิษ
สำหรับการจัดการควันดำจากท่อไอเสียของรถเมล์ คนขับรถเมล์เปิดเผยว่า ใช่จะมีหน้าที่ขับรถเมล์อย่างเดียว การดูแลรถก็เป็นอีกหนึ่งหน้าที่ที่คนขับต้องรับผิดชอบ นอกจากนี้ยังต้องหมั่นตรวจเช็กสภาพรถด้วย หากพบว่าเกิดควันดำต้องรีบแจ้งไปทาง ช่างของ ขสมก. เพื่อดำเนินการแก้ไขทันที
“ปัญหาฝุ่นพิษ อยากให้รัฐจัดการอย่างจริงจัง เพราะตอนนี้ไม่ได้แค่คนขับรถที่ต้องเจอ ทุกคนในเมืองสูดควันพิษหมด ตอนนี้ทุกคนต้องช่วยกัน ถ้ามีการลดใช้รถส่วนตัวลง ปัญหาฝุ่นก็อาจจะดีขึ้น ตอนนี้ ขสมก. ชะลอการปรับขึ้นอัตราค่าโดยสารรถทุกประเภทออกไปก่อน เพื่อให้คน กทม. หันมาใช้รถสาธารณะ ในช่วงที่เกิดสถานการณ์ปัญหาฝุ่นละออง ถามว่ากลัวไหม ผมก็กลัวนะ แต่ให้ไปทำอย่างอื่น ก็คงไม่ไป เพราะอายุเยอะแล้ว” คนขับรถเมล์กล่าว
สืบเสาะข่าว รับเรื่องราวร้องทุกข์ สามารถส่งเรื่องราว หรือประเด็นปัญหาของท่านมาได้ที่
reporter.thairath@gmail.com หรือช่องทาง Facebook : ทีมข่าวเฉพาะกิจ