งดใช้รถควันดำ ห้ามเผาในที่โล่ง จับหน้ากากแพง
กระทรวงสาธารณสุขเร่งสร้างความตระหนักรับรู้เรื่องฝุ่นละออง PM 2.5 จัดทำชุดความรู้ที่ถูกต้อง ให้ประชาชนและกลุ่มเสี่ยง มีความรู้ในการป้องกันผลกระทบต่อสุขภาพ ช่วยกันรณรงค์ลดปริมาณฝุ่นละอองในอากาศ นายกแพทยสภาแนะปลูกตะขบกรองฝุ่นละอองขนาดเล็ก เผยเร่งสรุปข้อมูลผลกระทบจากฝุ่นละอองส่งถึงผู้มีอำนาจช่วยแก้ปัญหาฝุ่น ชี้ผลกระทบระยะยาวรุนแรงถึงขั้นเป็นมะเร็งปอด สมองเสื่อม อัลไซเมอร์ เด็กพัฒนาการล่าช้า ชี้อยู่พื้นที่ สีแดงยาว 1 ปีเท่ากับสูบบุหรี่ 1 ซอง นาน 30 ปี “อาคม” ลงพื้นที่ตรวจอู่รถเมล์ ขสมก.สั่งด่วนให้รถเมล์ทั้งหมดเปลี่ยนใช้น้ำมัน B20 ภายใน 1 ก.พ. หวังลดมลพิษ
ความคืบหน้าประเด็นร้อนในสังคมเกี่ยวกับสภาพอากาศของกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ที่มีฝุ่นละอองขนาดเล็กเกินมาตรฐานสร้างมลภาวะเป็นพิษในอากาศ จนกระทบต่อสุขภาพประชาชนและหน่วยงานรัฐหลายฝ่ายกำลังแก้ไขปัญหากันอยู่นั้น
ก.สาธารณสุขเฝ้าระวังฝุ่นพิษ
ที่กระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี เมื่อวันที่ 17 ม.ค. นายแพทย์สุขุม กาญจนพิมาย ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวในการเปิดเสวนาเรื่องฝุ่นละออง PM 2.5 ปัญหาสุขภาพและแนวทางการแก้ไข ที่แพทยสภาและกระทรวงสาธารณสุขจัดขึ้นว่า กระทรวง ดำเนินการลดผลกระทบสุขภาพประชาชนจากสถานการณ์ฝุ่นละออง PM 2.5 ใน กทม.และปริมณฑล โดย 1.เปิดศูนย์ปฏิบัติการฉุกเฉินด้านการแพทย์และสาธารณสุข (EOC) ระดับกระทรวงติดตามสถานการณ์และเฝ้าระวังผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากสถานการณ์ 2.เร่งสร้างความรอบรู้แก่ประชาชน สื่อสารความรู้ผ่านสื่อต่างๆ ทั้งสื่อหลัก สื่อโซเชียล เว็บไซต์ของหน่วยงานในสังกัด 3.ให้ความรู้เชิงรุก จัดทีมพยาบาลและเจ้าหน้าที่สาธารณสุขออกให้ความรู้ประชาชนทั่วไป กลุ่มเสี่ยง เช่น ศูนย์เด็กเล็ก โรงเรียน โรงพยาบาล สถานีตำรวจ การทางพิเศษแห่งประเทศไทย
...
จัดทำชุดความรู้แจกประชาชน
4.จัดประชุมผู้เชี่ยวชาญของกระทรวงสาธารณสุขได้แก่ กรมควบคุมโรค กรมอนามัย กรมการแพทย์ กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ จัดทำชุดความรู้ที่ถูกต้องสำหรับประชาชนและกลุ่มเสี่ยง 5.รณรงค์สร้างความตระหนักแก่ประชาชน นักเรียน ลดการเผาขยะในที่โล่งแจ้งในเขต กทม.และปริมณฑล ไม่ใช้รถควันดำ 6.เฝ้าระวังผู้ป่วย โรคระบบทางเดินหายใจ โรคระบบหัวใจและหลอดเลือด ในโรงพยาบาลเครือข่ายกรุงเทพมหานครและปริมณฑลรวม 22 แห่ง 7.เตรียมโรงพยาบาลของกระทรวงสาธารณสุขทุกแห่งให้พร้อมดูแลประชาชน สอบถามข้อมูลได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค 1422 หรือติดตามข้อมูลการดูแลตนเองจากเว็บไซต์กรมอนามัย www.anamai.moph.go.th คลิกที่หัวข้อ “ภัยสุขภาพจากฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 (กทม.และปริมณฑล)
ลงพื้นที่แจกหน้ากากให้จราจร
จากนั้น นพ.สุขุมได้ลงพื้นที่สร้างการรับรู้เรื่องฝุ่นละออง PM 2.5 แจกหน้ากากอนามัยที่ สน.พญาไท สำนักงานเขตราชเทวี และด่านการทาง พิเศษดินแดง โดยมอบสื่อรณรงค์เรื่องฝุ่นละออง PM 2.5 และหน้ากากอนามัยให้กับผู้ว่าการการทางพิเศษแห่งประเทศ ไทยและประธานบอร์ดการทางพิเศษแห่งประเทศไทย
นายกแพทยสภาแนะปลูกต้นตะขบ
ด้าน นพ.ประสิทธิ์ วัฒนาภา นายกแพทยสภา กล่าวว่า สถานการณ์ฝุ่นละอองขนาดเล็กที่เกิดขึ้นขณะนี้ข้อดีคือทำให้เกิดการตื่นตัวของประชาชน ที่สำคัญคือหน่วยงานที่มีอำนาจจะต้องลงมาแก้ไขอย่างจริงจัง อย่าลืมว่าฝุ่นพีเอ็ม 2.5 นั้นส่งผลกระทบระยะยาว แพทยสภาจะรวบรวมข้อมูลทางวิชาการ ข้อมูลผลกระทบจากราชวิทยาลัยต่างๆ ส่งถึงผู้มีอำนาจตัดสินใจในการแก้ปัญหาเรื่องนี้ ส่วนมาตรการดูแลระยะยาว เช่น เรื่องการปลูกต้นไม้ อาทิ ต้นตะขบ เพราะใบจะมีขน จึงดูดซับฝุ่นได้ดี
ตายปีละ7ล้านจากมลพิษทางอากาศ
นพ.ดนัย ธีวันดา รองอธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า องค์การอนามัยโลกมีการเปิดเผยข้อมูลจากทั่วโลกที่พบว่า 9 ใน 10 ของประชากรที่สัมผัสฝุ่นละอองเกินค่ามาตรฐาน เป็นสาเหตุอันดับ 2 ของการเกิดโรคไม่ติดต่อ รองจากการสูบบุหรี่ โดยพบว่าเป็นสาเหตุการเสียชีวิตด้วยโรคหลอดเลือดสมอง 24% ปอด อุดกั้นเรื้อรัง 43% โรคหัวใจขาดเลือด 25% มะเร็งปอด 29% ทุกปีประชากรจำนวน 7 ล้านคนจะเสียชีวิตก่อนเวลาอันควรจากมลพิษทางอากาศ โดยเด็ก 0-5 ปี เสียชีวิตจากมลพิษทางอากาศ 5.7 แสนคนต่อปี กระทบต่อพัฒนาการและความสามารถในการรับรู้ ในปี 2561 พบว่ามีการเสียชีวิตจากมะเร็งปอด 1.8 ล้านคน และพบผู้ป่วยรายใหม่ 2.1 ล้านคน
ต้องผจญฝุ่นควันอีกยาวนาน
นพ.เกียรติ รักษ์รุ่งธรรม ผู้แทนราชวิทยาลัยแพทย์แห่งประเทศไทย กล่าวว่า คาดว่าเราต้องอยู่กับฝุ่นพีเอ็ม 2.5 อย่างน้อยอาจจะปลายเดือน ก.พ.-มี.ค. สิ่งสำคัญคือประชาชนต้องระวัง อย่างไรก็ตามร่างกายมีกระบวนการกำจัดสิ่งแปลกปลอมที่เข้าสู่ร่างกายอยู่แล้ว แต่อาจจะกำจัดได้ไม่หมด หากได้รับในปริมาณมากและร่างกายไม่แข็งแรงพอ ส่วนการแจกหน้ากาก ควรแจกคนที่ได้รับผลกระทบโดยตรง เช่น ตำรวจจราจร แม่ค้าริมถนน คนขับรถรับจ้างประเภทต่างๆ โรงเรียนในพื้นที่เสี่ยงควรมีการประเมิน ให้เด็กอนุบาลและประถมต้นเลื่อนเวลาการเข้าเรียนอาจจะเป็นช่วง 10 โมงก็ได้
19–21 ม.ค. เจออีกระลอก
ขณะที่นายภูเวียง ประคำมินทร์ อธิบดีกรมอุตุนิยมวิทยา กล่าวถึงสภาพอากาศที่จะเข้ามาช่วยลดฝุ่นละออง 2.5 ไมครอน หรือ PM 2.5 ปกคลุมหลายพื้นที่ในกรุงเทพฯและปริมณฑล ว่า ในวันที่ 17-18 ม.ค. ความกดอากาศสูงกำลังปานกลางจากประเทศจีนแผ่ลงมาปกคลุมประเทศไทยตอนบนทะเลจีนใต้ ทำให้ประเทศไทยตอนบน รวมกรุงเทพฯ และปริมณฑลมีอุณหภูมิหนาวเย็นลง และโชคดีอากาศหนาวเย็นรอบนี้อากาศถ่ายเทได้ดี มีลมตะวันออกเฉียงเหนือความเร็วประมาณ 10-30 กม.ต่อ ชม. ทำให้ลมเข้ามาช่วยพัดฝุ่นละอองออกไปได้บ้าง แต่สิ่งที่น่าเป็นห่วงในวันที่ 19-21 ม.ค. ในกรุงเทพฯ และปริมณฑลอากาศจะเริ่มกลับมาอุ่นร้อนขึ้น ไม่มีมวลอากาศเย็นลงมา ทำให้ต้องเจอภาวะอากาศปิดและลมสงบนิ่ง อาจทำให้ค่าฝุ่นละออง 2.5 ไมครอน ที่ผลิตขึ้นมาใหม่มีปริมาณสะสมเพิ่มขึ้นอีกได้ สำหรับการแยกระหว่างละอองหมอกและฝุ่นละออง สังเกตได้จากละอองหมอกเกิดขึ้นและสลายตัวไม่เกินเวลา 10.00 น. หลังจากนั้นจะเป็นฝุ่นละอองควัน
...
กรมควบคุมมลพิษรายงานสถานการณ์
วันเดียวกัน กรมควบคุมมลพิษ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม รายงานสถานการณ์ฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 2.5 ไมครอน หรือ PM 2.5 ในพื้นที่ กทม.และปริมณฑล มีค่าฝุ่นอยู่ที่ 41-76 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร (มคก./ลบ.ม.) ค่าฝุ่นตามมาตรฐานอยู่ที่ 50 มคก./ลบ.ม. คุณภาพอากาศอยู่ในระดับคุณภาพปานกลางถึงเริ่มมีผลกระทบต่อสุขภาพ โดยพื้นที่ที่ตรวจพบค่าฝุ่นเกินมาตรฐานได้แก่ บริเวณริมถนนกาญจนาภิเษก เขตบางขุนเทียน กรุงเทพฯ, ริมถนนลาดพร้าว เขตวังทองหลาง กรุงเทพฯ, ริมถนนดินแดง เขตดินแดง กรุงเทพฯ, แขวงพลับพลา เขตวังทองหลาง กรุงเทพฯ, ต.นครปฐม อ.เมืองนครปฐม จ.นครปฐม, ต.บางกรวย อ.บางกรวย จ.นนทบุรี, ต.ทรงคนอง อ.พระประแดง จ.สมุทรปราการ, ต.อ้อมน้อย อ.กระทุ่มแบน จ.สมุทรสาคร, ริมถนนคู่ขนานพระราม 2 อ.เมือง
ศรีสุวรรณนำทีมฟ้องนายกฯ
ที่สำนักงานศาลปกครอง ถนนแจ้งวัฒนะ ตอนสาย สมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อน นำโดยนายศรีสุวรรณ จรรยา นายกสมาคม พร้อมประชาชนในเขตจตุจักร บางเขน ลาดพร้าว ที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็กเกินมาตรฐานรวม 5 ราย ยื่นฟ้องคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ นายกรัฐมนตรี และผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ต่อศาลปกครองกลาง กรณีละเลยในการปฏิบัติหน้าที่ตาม พ.ร.บ.ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ 2535 จนเกิดวิกฤตการณ์สะสมของฝุ่นละอองขนาดเล็ก เป็นเหตุให้ประชาชนจำนวนมากเจ็บป่วยและก่อปัญหาด้านสุขภาพตามมามากมาย
ห้ามเผาซังนาข้าว-ห้ามตัดต้นไม้
ในคำฟ้องนายศรีสุวรรณกล่าวอีกว่า จึงขอให้ศาลไต่สวนฉุกเฉินเพื่อมีคำสั่งให้นายกฯใช้อำนาจตามมาตรา 9 พ.ร.บ.ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติสั่งการให้ส่วนราชการที่เกี่ยวข้องร่วมกันควบคุม ระงับหรือบรรเทาอันตรายและความเสียหายที่เกิดจากปัญหาฝุ่นละอองดังกล่าวอย่างทันท่วงทีภายใน 3 วันนับแต่ศาลมีคำสั่ง ให้นายกฯสั่งการให้ผู้ว่าราชการจังหวัดทุกจังหวัดยึด “กำแพงเพชรโมเดล” เป็นตัวอย่างในการแก้ไขปัญหาฝุ่นละอองในอากาศ ด้วยการสั่งห้ามเผาไร่อ้อยเพื่อเก็บเกี่ยวผลผลิต ห้ามเผาซังนาข้าวหลังเก็บเกี่ยวอย่างเด็ดขาด รวมทั้งสั่งให้ผู้ว่าฯกทม.ออกมาตรการที่เป็นรูปธรรมในการแพร่กระจายฝุ่นละอองขนาดเล็ก พร้อมเพิ่มพื้นที่ปลูกต้นไม้เพื่อดูดซับฝุ่นพิษ และห้ามมีการตัดต้นไม้ที่มีอยู่บริเวณริมทางเท้าริมถนน โดยเด็ดขาด เว้นแต่เป็นการตัดแต่งเพื่อความสวยงามหรือป้องกันอุบัติภัยเท่านั้น
...
ไทยติดอันดับคุณภาพอากาศแย่
อีกด้าน น.ส.เกศปรียา แก้วแสนเมือง โฆษกพรรคเพื่อชาติ กล่าวว่า จากการศึกษาดัชนีของไทยเปรียบเทียบ 5 ปีก่อนและหลังการรัฐประหาร ทั้งดัชนีความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ คอร์รัปชัน ความยุติธรรม ความเป็นประชาธิปไตยและมลภาวะ Pollution Index ได้ผลทางเดียวกันคือไม่ดีขึ้น มีแต่คงสภาพเดิมหรือลดลง โดยดัชนีมลภาวะ Pollution Index เมื่อปี 2558 กทม.อยู่ในอันดับที่ 74 คะแนน ปี 2561 อยู่อันดับ 71 ปัจจุบันเดือน ม.ค.2562 กรีนพีซจัดให้ กทม.อยู่ในอันดับ 9 เมืองหลวงที่มีคุณภาพอากาศแย่ ปัญหาสิ่งแวดล้อมถ้าประเทศมีผู้บริหารจัดการที่ไม่มีวิสัยทัศน์ ไม่มีการวางแผน ก็ทำร้ายประเทศและประชาชนได้เช่นกัน การที่รองนายกฯระบุให้รออีก 3 ปีการสร้างรถไฟฟ้าเสร็จสิ้นก็หายนั้น แสดงว่าคณะรัฐประหารไม่มีวิสัยทัศน์ในการแก้ปัญหา
รมว.คมนาคมสั่งตรวจรถ ขสมก.
บ่ายวันเดียวกัน นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คมนาคม เปิดเผยหลังลงพื้นที่ตรวจเข้มรถโดยสารประจำทางของ ขสมก. ที่ใช้น้ำมันดีเซลก่อนออกให้บริการ ตามนโยบาย “One Transport ปลอดฝุ่น PM 2.5 คมนาคมรวมใจ ช่วยลดฝุ่น เพื่อความสุข สุขภาพดีของประชาชน” ว่า ได้จัดเจ้าหน้าที่ตรวจสอบรถโดยสารในอู่จอดรถทั้ง 20 อู่ของ ขสมก.และจุดที่มีค่าควันเกินมาตรฐาน คือเขตดินแดงและจตุจักร ใช้เวลาดำเนินการ 2 วัน คือวันที่ 17-18 ม.ค. และยังได้สั่งการให้กรมการขนส่งทางบก นำสติกเกอร์ติดรถที่ผ่านการตรวจค่าควันดำพร้อมแสดงค่าควันที่ตรวจได้ ให้ ขสมก. ทำ Big Cleaning บริเวณอู่รถ ส่วนมาตรการเพื่อลดปริมาณควันดำในเบื้องต้นคือ ให้รถโดยสารฯ ที่ใช้น้ำมันดีเซล เปลี่ยนไปใช้น้ำมัน B 20 ทั้งหมดภายในวันที่ 1 กุมภาพันธ์
รถไฟฟ้าเพิ่มเที่ยวคนใช้บริการมาก
นายสุเทพ พันธุ์เพ็ง กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท รถไฟฟ้า ร.ฟ.ท. จำกัด หรือผู้ให้บริการรถไฟฟ้า แอร์พอร์ต เรล ลิงก์ เผยว่า กระทรวงคมนาคมมีนโยบายส่งเสริมให้ประชาชนหันมาใช้บริการขนส่งสาธารณะเพื่อลดมลพิษในอากาศ บริษัทจึงปรับเพิ่มจำนวนเที่ยวในการให้บริการรถไฟฟ้าช่วงเวลาเร่งด่วนเช้า-เย็น โดยเพิ่มช่วงเวลาละ 3 เที่ยว เนื่องจากพบว่ามีผู้โดยสารใช้บริการมาก
...
แฉเหตุฝุ่นควันมาจากน้ำมันดีเซล
ขณะที่นายคณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) กล่าวว่า กรณีมลพิษในเขตกรุงเทพฯ จากการศึกษาฝุ่นละอองที่เกิดขึ้นส่วนใหญ่มากจากการเผาน้ำมันดีเซลในพื้นที่จำกัด โดยเฉพาะน้ำมันดีเซลที่มีการเผาไหม้แต่มีบางส่วนไม่ย่อยสลายในอากาศและก่อตัวเป็นมลพิษ แผนงานของอีอีซี ได้กำหนดอุตสาหกรรมเป้าหมาย ที่เน้นการใช้เทคโนโลยีไม่กระทบสิ่งแวดล้อมและโครงสร้างพื้นฐานที่จะลดปริมาณการขนส่งทางรถยนต์จากท่าเรือแหลมฉบังเข้ามายังท่าเรือคลองเตย กรุงเทพฯให้น้อยลง และใช้ระบบรางทดแทน
กลุ่มนักร้องรณรงค์ใส่หน้ากากอนามัย
วันเดียวกัน นักร้องสังกัดค่ายอาร์สยาม ใบเตย อาร์สยาม บิว-กัลยาณี ต้นข้าว อาร์สยามและบิว-พงศ์พิพัฒน์ ร่วมรณรงค์ใส่หน้ากากอนามัยป้องกันฝุ่น PM 2.5 เพื่อลดผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชน โดยคนบันเทิงและประชาชนที่ทำงานหรือใช้ชีวิตกลางแจ้งก็เป็นกลุ่มเสี่ยง ที่อาจได้รับผลกระทบเพราะมีการสัมผัสกับมลพิษทางอากาศ
เตือนอย่าแชร์เว็บไซต์ข่าวปลอม
ขณะเดียวกัน ตามที่โลกโซเชียล มีการแชร์ข่าวเกี่ยวกับฝุ่นละออง PM 2.5 เกินมาตรฐาน และมีเว็บไซต์หนึ่งเสนอข่าวปลอมมีข้อมูลเป็นเท็จ อ้างว่ามีประชาชนได้รับฝุ่น PM2.5 จนเกิดอาการผิวหนังพุพองและช็อกเสียชีวิต สร้างความหวาดกลัวให้ประชาชนที่รับข่าวสาร จนกระทรวงสาธารณสุขออกมาเตือนว่าเป็นข่าวมั่ว เป็นการนำภาพผู้ป่วยที่แพ้ยาจากสาเหตุอื่นมาสร้างข่าวให้เกิดความตื่นตระหนกนั้น เมื่อค่ำวันที่ 17 ม.ค. พ.ต.อ.ศิริวัฒน์ ดีพอ ผกก.3 บก.ปอท. โฆษก บก.ปอท. กล่าวถึงเรื่องนี้ว่า ศูนย์เฝ้าระวังโซเชียล บก.ปอท. ได้ตรวจสอบเรื่องนี้ ทราบว่า เป็นเว็บไซต์ชื่อ “gmmwork.com” และ ผบก.บก.ปอท.ได้สั่งการให้ฝ่ายสืบสวนตรวจสอบ เสนอกระทรวงดิจิทัลเศรษฐกิจและสังคม ดำเนินการปิดกั้นเว็บไซต์ดังกล่าว ขอเตือนประชาชนในเรื่องการรับส่งข้อมูลข่าวสารในโลกออนไลน์ ให้ใช้ความระมัดระวังตรวจสอบข้อมูลก่อนส่งต่อหรือแชร์ เพราะนอกจากจะเป็นการส่งข่าวปลอมแล้ว ยังอาจมีความผิดตาม พ.ร.บ.คอมพ์ ควรรับฟังข้อมูลข่าวสารหรือตรวจสอบจากแหล่งข่าวที่เชื่อถือได้ เช่น เว็บไซต์ของรัฐบาล หรือหน่วยงานราชการ หรือสำนักข่าวที่มีมาตรฐานเชื่อถือได้