กองทัพเรือ ส่งหมู่เรือไปต้อนรับ เรือหลวงภูมิพลอดุลยเดช เรือฟริเกตสมรรถนะสูงลำใหม่ที่จะมาเสริมเขี้ยวเล็บด้วยความสามารถรบแบบ 3 มิติ เดินทางฝ่าคลื่นลมถึงอ่าวไทย เตรียมเข้าประจำการ 7 ม.ค.62...

เมื่อเวลา 16.00 น. วันที่ 5 ม.ค.2562 เรือหลวงภูมิพลอดุลยเดช เรือฟริเกตสมรรถนะสูง ซึ่งได้รับพระราชทานชื่อจาก สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร แทนชื่อเดิม เรือหลวงท่าจีน ได้เดินทางเข้าสู่น่านน้ำไทย เพื่อเตรียมเข้าพิธีต้อนรับ และขึ้นระวางเรือประจำการในวันที่ 7 ม.ค. 2562 ที่ท่าเรือแหลมเทียน ฐานทัพเรือสัตหีบ จ.ชลบุรี โดยเรือฟริเกตลำดังกล่าว ต่อจาก DSME.-DAEWOO Shipbuilding & Marine Engineering CO., LTD.) เกาหลีใต้ งบประมาณการก่อสร้างลำละเกือบ 1.46 หมื่นล้านบาท โดยมี พล.ร.อ.ลือชัย รุดดิษฐ์ ผบ.ทร.เป็นประธานในพิธี ทั้งนี้กองทัพเรือได้จัดเรือหลวงนเรศวร เรือหลวงตากสิน และเรือหลวงรัตนโกสินทร์ ไปต้อนรับเรือลำใหม่ที่ผ่านเข้าน่านน้ำไทยตามธรรมเนียมปฏิบัติด้วย

สำหรับเรือฟริเกตลำนี้ มีแบบแผนการพัฒนาต่อยอดมาจากเรือพิฆาตชั้น Kwanggaeto Class Destroyer (KDX-I) ของกองทัพเรือเกาหลีใต้ โดยใช้มาตรฐานทางทหารของสหรัฐฯ และกองทัพเรือเกาหลีใต้ในการต่อเรือมีระวางขับน้ำสูงสุด 3,700 ตัน ความเร็วสูงสุดต่อเนื่อง 30 นอต ระยะปฏิบัติการประมาณ 4,000 ไมล์ทะเล กำลังพล 136 นาย สามารถทนสภาวะทะเลได้ระดับ 6 ขึ้นไป (Sea State 6) โครงสร้างเรือแข็งแรง เพิ่มโอกาสอยู่รอดสูงในสภาพแวดล้อมของการสู้รบ และการปนเปื้อนทางนิวเคลียร์ เคมี ชีวะ และสามารถตรวจการณ์ครอบคลุมทุกมิติ และทั้งกลางวันและกลางคืน เนื่องจากมีการติดตั้งระบบอำนวยการรบและระบบตรวจการที่ทันสมัยมีขีดความสามารถสูง เชื่อมโยงข้อมูลและสื่อสารกับเรือรบ อากาศยาน และหน่วยบนฝั่ง

...

เรือหลวงภูมิพลอดุลยเดช สามารถปฏิบัติการรบได้ทั้ง 3 มิติ ทั้งผิวน้ำ ใต้น้ำ และทางอากาศ โดยการปฏิบัติการสงครามใต้น้ำ สามารถตรวจจับเป้าหมายระยะไกลด้วยโซนาร์ตรวจจับลากท้าย และโซนาร์ติดใต้ท้องเรือ แล้วต่อสู้เรือดำน้ำระยะไกลด้วยจรวดปราบเรือดำน้ำแบบ Vertical Launch Anti-Submarine Rocket หรือ แอสร็อค จากแท่นยิงแนวดิ่งแบบ Mk.41 VLS 1 แท่น 8 ท่อยิง หรือ ตอร์ปิโดนำวิถีปราบเรือดำน้ำ

การปฏิบัติการสงครามต่อต้านภัยทางอากาศ ใช้เรดาร์ตรวจการณ์ 3 มิติระยะไกล และระยะปานกลางในการค้นหา ตรวจจับ และติดตามเป้าข้าศึก รวมทั้งแลกเปลี่ยนและประสานการปฏิบัติกับเรือและอากาศยานที่ร่วมปฏิบัติการ แล้วโจมตีเป้าหมายด้วยอาวุธปล่อยนำวิถี อากาศ-สู่-อากาศแบบ ESSM (ESSM : Evolved SeaSparrow Missile) จากแท่นยิงแนวดิ่ง Mk.41 VLS และอาวุธปืนประจำเรือ แบบออโตเมราล่า 76/62 คาลิเบอร์ ซุปเปอร์เรพิด 

มีระบบการป้องกันทางอากาศระยะไกล (ผิวน้ำ) หรือพื้นที่ชั้นนอกของกองเรือ (Battle Group) จะใช้การปฏิบัติการร่วมกับอากาศยานของกองทัพอากาศในการค้นหา ตรวจจับและโจมตี และการปฏิบัติการสงครามผิวน้ำ โดยสามารถโจมตีเป้าหมายได้ที่ระยะไกล โดยปฏิบัติร่วมกับเรือและอากาศยานในการพิสูจน์ทราบเป้า ส่งมอบเป้าและให้ใช้อาวุธจากระยะพ้นขอบฟ้า ด้วยอาวุธปล่อยต่อต้านเรือผิวน้ำแบบ RGM-84D ฮาร์พูน รวมทั้งโจมตีเป้าพื้นน้ำ และใต้น้ำด้วยเฮลิคอปเตอร์ประจำเรือ

ส่วนการป้องกันตนเองนั้น จะโจมตีด้วยอาวุธปล่อยนำวิถีปืนใหญ่เรือ และปืนรองต่อสู้อากาศยาน ระบบอาวุธป้องกันระยะประชิด (CIWS) แบบ Raytheon Mk 15 Phalanx (ฟาลังซ์) บล็อก 1B ขนาด 20 มม.ลำกล้องหมุน ระบบลวงทางอิเล็กทรอนิกส์ แบบแท่นยิงเป้าลวง Terma DL-12T 2 แท่น แท่นละ 12 ท่อยิง สำหรับเป้าลวงอาวุธปล่อยนำวิถี แท่นยิงเป้าลวง Terma Mk 137 4 แท่น แท่นละ 6 ท่อยิง สำหรับเป้าลวงตอร์ปิโด ระบบควบคุมความเสียหายแบบรวมการที่สั่งการได้จากศูนย์กลาง หรือ แยกสั่งการ มีระบบควบคุมการแพร่สัญญาณออกจากตัวเรือ อีกทั้งสามารตรวจจับ ดักรับ วิเคราะห์ และก่อกวนสัญญาณแม่เหล็กไฟฟ้าของเป้าหมายได้

ทั้งยังสามารถใช้ในการปฏิบัติการรบร่วม โดยผ่านระบบเชื่อมโยงข้อมูลทางยุทธวิธี ให้สามารถปฏิบัติการรบร่วมในลักษณะกองเรือ (Battle Group) ได้แก่ ร.ล.จักรีนฤเบศร เรือฟริเกต ชุดเรือหลวงนเรศวร เรือคอร์เวต ชุด เรือหลวงรัตนโกสินทร์ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ รวมทั้งการปฏิบัติการรบร่วมกับ เครื่องบินกองทัพอากาศ ตามบทบาทหน้าที่ที่จะได้รับมอบหมาย ซึ่งเรือฟริเกตสมรรถนะสูง จะทำหน้าที่ควบคุมการปราบเรือดำน้ำเป็นหลัก

ในการต่อเรือชุดนี้กองทัพเรือยังได้รับการถ่ายทอดเทคโนโลยีการต่อเรือ เพื่อเสริมสร้างขีดความสามารถของการต่อเรือภายในประเทศ โดยกองทัพเรือจะทำการต่อเรือฟริเกตสมรรถนะสูงเองอีก 1 ลำ มีการจัดทำบันทึกความเข้าใจร่วมกัน (MOU) กับกองทัพเรือ และบริษัท อู่กรุงเทพ จำกัด บริษัทในด้านความร่วมมือการพัฒนาขีดความสามารถในการซ่อม สร้าง และดัดแปลงเรือ ของกรมอู่ทหารเรือให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้นด้วย.