วิษณุ จ่อหารือ กกต. กำหนดวันเลือกตั้งใหม่ โดยต้องอยู่ใน 150 วัน นับจาก 11 ธ.ค.61 แต่ต้องไม่เกิน 9 พ.ค.62 ยันไม่กระทบพระราชพิธีช่วง 4-6 พ.ค.นี้...

นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวก่อนเข้าร่วมประชุมกับคณะกรรมการการเลือกตั้ง หรือ กกต. ถึงการกำหนดวันจัดการเลือกตั้งที่เหมาะสมว่า วันนี้จะไปพูดรายละเอียดและปัญหาของรัฐบาล ที่จะไปเกี่ยวข้องกับวันเลือกตั้ง เนื่องจากงานพระราชพิธีบรมราชาภิเษก ซึ่งก่อนวันพระราชพิธี 4-6 พฤษภาคม จะมีรายละเอียดของงานพระราชพิธีก่อนหน้าประมาณครึ่งเดือน และหลังงานพระราชพิธีอีกครึ่งเดือน ซึ่งเป็นขั้นตอนตามพระราชประเพณี ทั้งการเตรียมน้ำอภิเษก จารึกพระสุพรรณบัตร บวงสรวงพระบรมราชบุพการี ซึ่งการจะประกอบพระราชพิธีบรมราชาภิเษก จะต้องมีการดำเนินพิธีกรรมต่างๆ ให้ถูกหลักจารีตประเพณี เป็นเรื่องที่ กกต.ต้องรู้ ดังนั้นจะเอาทั้งหมดไปกางและอธิบายให้ กกต.รับทราบ เมื่อทราบแล้วคิดว่ายังมีความเป็นไปได้อยู่อีกหรือไม่ที่จะกำหนดวันเลือกตั้งเป็นวันที่ 24 กุมภาพันธ์ หรือจะขยับ ถ้าขยับจะขยับอย่างไร ต้องเอาให้ทุกอย่างสอดคล้องกัน ระหว่างขั้นตอนตามรัฐธรรมนูญ และขั้นตอนตามพระราชประเพณี

นายวิษณุ กล่าวย้ำว่า ต้องเข้าใจอย่างนี้ เรื่องการเลือกตั้ง วันเลือกตั้งอย่างไรเสียก็ต้องอยู่ใน 150 วัน คือไม่เกิน 9 พฤษภาคม และวันเลือกตั้งจริงๆ ไม่ได้กระทบอะไรกับพระราชพิธี การหาเสียงก่อนนั้นก็ไม่กระทบอะไร แน่นอนว่าต้องเกิดความสงบเรียบร้อย แต่นั่นเป็นเรื่องปกติธรรมดา แต่พอหลังจากเลือกตั้งมีกิจกรรมทางการเมืองที่จะต้องทำหลายอย่าง เมื่อลิสต์ออกมา 10 อย่าง แต่ละอย่างจะทำสะเปะสะปะไม่ได้ รัฐธรรมนูญกำหนดเวลาไว้หมดแล้ว

"พอเป็นอย่างนั้น ต้องดูว่าวันเหล่านั้นไปตรงล็อกกับพระราชพิธีหรือไม่ ถ้าตรงล็อก เราจะขยับพระราชพิธีไม่ได้ แล้วเราจะขยับวันเวลากิจกรรมทางการเมืองก็ไม่ได้ ฉะนั้นอาจจะต้องยกเอาวันเลือกตั้งออกไปจากเดิมเสีย เพื่อคำนวณกิจกรรมไม่ให้ไปทับซ้อน โดยเราจะทำอย่างนี้ได้ ก็ต่อเมื่อเอาปฏิทินวันเลือกตั้ง 24 กุมภาพันธ์มาวาง แล้วไล่ดูไปว่า จะมีการทำกิจกรรมทางการเมืองอะไรทับซ้อนบ้าง ซึ่งกิจกรรมเหล่านั้นไม่ได้กำหนดเองส่งเดช แต่รัฐธรรมนูญกำหนดไว้ทั้งสิ้น ตอนนั้นกำหนดโดยที่เราไม่มีพระราชพิธี บัดนี้ต้องเอาปฏิทินพระราชพิธีทับลงไปอีก แล้วจะมองเห็นความทับซ้อนเกิดขึ้นทันที เมื่อเป็นเช่นนั้น ใครจะหนีใคร แล้วถ้าอย่างนั้นก็มีปฏิทินแผ่นที่สามทับลงไปว่า ขยับอย่างนี้ได้หรือไม่ แล้วจะเห็นว่าไม่มีอะไรทับซ้อน ดังนั้นขยับแล้ว วันใดเป็นวันที่เหมาะที่สุด ต้องเร็วที่สุดไม่ขยับแล้วช้า และต้องไม่ทับซ้อน ก็เท่านั้น" รองนายกรัฐมนตรี กล่าว

...

เมื่อถามว่า กรณีที่ยังไม่ได้ประกาศพระราชกฤษฎีกา กฤษฎีกาเลือกตั้งในเวลานี้จะเกิดผลกระทบอะไรหรือไม่ นายวิษณุ กล่าวว่า เขาปรับได้อย่าง นายสมชัย ศรีสุทธิยากร สมาชิกพรรคประชาธิปัตย์กล่าวไว้ หากต้องการยึดเวลาเดิม แต่ต้องปรับอะไรของเขาต่อ เดิมทีเราตรึงหัวให้มีประกาศพระราชกฤษฎีกาเลือกตั้งวันที่ 2 มกราคม และตรึงท้ายให้มีเลือกตั้งวันที่ 24 กุมภาพันธ์ แต่เมื่อ 2 มกราคมไม่มีการประกาศและขยับออกไป แต่ต้องการตรึงท้ายไว้เช่นเดิม ก็อาจจะต้องมีการปรับตรงกลาง แต่ไม่สำคัญอะไร เพราะส่วนตัวห่วงว่าเมื่อตรึงท้ายไว้ กิจกรรมหลังจากนั้นจะทำอย่างไร

รองนายกรัฐมนตรี กล่าวด้วยว่า ตัวอย่างเช่น การประกาศผลเลือกตั้งต้องประกาศภายใน 60 วัน หรือ 24 เมษายน ที่ลงล็อกกับจารึกพระสุพรรณบัตร กกต.จะตอบอย่างไร เว้นแต่ กกต.จะบอกว่า ก็ประกาศผลให้มันเร็วกว่า โดยก็ทำได้ ไม่มีใครมีสิทธิ์ไปเกี่ยงเลย แต่คำถามคือ คุณแน่ใจหรือไม่ ถ้าประกาศไม่ได้คุณจะทำอย่างไร เช่น ถ้าเลื่อนให้เร็วเป็น 23 เมษายน ก็เจอพระราชพิธีอีก ถ้าเร็วกว่านั้นก็เจอพระราชพิธีสงกรานต์ 13-16 เมษายนอีกทีนี้.