"จาตุรนต์" ฟัน พลังประชารัฐ (พปชร.) ต่อให้คืนเงินโต๊ะจีน หนีผิดไม่พ้น ถือความผิดสำเร็จแล้ว ชี้ ภาระใหญ่ กกต.พิสูจน์เป็นกลางแค่ไหน บอกดี พปชร.ประกาศเลือกพรรคได้ "บิ๊กตู่" ทำคนไทยตัดสินใจง่าย
วันที่ 23 ธ.ค. นายจาตุรนต์ ฉายแสง สมาชิกพรรคไทยรักษาชาติ (ทษช.) และประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์พรรค กล่าวถึงกรณีหลายฝ่ายเรียกร้องให้มีการตรวจสอบการจัดโต๊ะจีนระดมทุนพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) หลังมีข่าวหน่วยงานราชการบริจาคซื้อโต๊ะ อาจเข้าข่ายผิดกฎหมายพรรคการเมืองว่า เรื่องนี้น่าจะเป็นภาระหนักทั้งของฝ่ายพรรคพลังประชารัฐ โดยเฉพาะในส่วนที่เป็นแกนนำที่เป็นรัฐมนตรีและคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เพราะเรื่องนี้น่าจะเข้าข่ายผิดกฎหมายเกี่ยวกับพรรคการเมือง เกี่ยวกับความเป็นกลางของข้าราชการ พนักงานรัฐวิสาหกิจ และข้าราชการการเมือง เพราะการบริจาคเงินจำนวนมาก โดยปรากฏว่าผู้ซื้อโต๊ะเป็นกระทรวง หน่วยงานรัฐวิสาหกิจบ้าง เข้าข่ายผิดกฎหมาย การที่หน่วยงานราชการและรัฐวิสาหกิจไปสนับสนุนด้วยการบริจาคเป็นเงินและทรัพย์สินให้แก่พรรคการเมือง นอกจากนั้น รัฐมนตรีไปร่วมงานด้วย ไปนั่งโต๊ะด้วย จากข้อมูลหลายโต๊ะเป็นการจัดหามาของรัฐมนตรีบางคน ซึ่งมีปัญหาในเรื่องของเป็นข้าราชการการเมืองเป็นรัฐมนตรีแล้วไปเรี่ยไร
นอกจากนั้น ปัญหาคือใครบริจาคกันแน่ บริจาคจำนวนเท่าไร และถ้าบริจาคจำนวนมากเอาเงินมาจากไหน ส่วนคนที่มานั่งกินโต๊ะจีนที่เป็นข้าราชการ และพนักงานรัฐวิสาหกิจ จะชี้แจงยากว่า มาในสถานะอะไร ใครเป็นคนซื้อโต๊ะให้กันแน่ เป็นเรื่องที่เข้าข่ายมีความผิดที่ร้ายแรง และจะชี้แจงแสดงหลักฐานยากมาก ในขณะที่กฎหมายพรรคการเมืองบังคับให้ต้องชี้แจงกับ กกต. และต้องเปิดเผยต่อสาธารณะภายใน 30 วัน หากพบว่าเป็นความผิดต้องลงโทษผู้เกี่ยวข้องจำนวนมาก รวมทั้งจะมีผลกระทบต่อพรรคพลังประชารัฐโดยตรง จะเป็นความลำบากของ กกต.ในการพิสูจน์การทำหน้าที่ กกต.อีกครั้งหนึ่ง ทำหน้าที่เป็นกลางได้มากน้อยแค่ไหน
...
แต่ทั้งนี้ ไม่ใช่เรื่องที่เกี่ยวกับข้อกฎหมายเพียงอย่างเดียว ยังมีปัญหาเกี่ยวกับความถูกต้อง กฎ กติกาโดยรวมด้วย คือ คสช.ยังแทรกแซงการทำงาน กกต.เป็นระยะ และไม่ได้ประกาศว่า จะไม่แทรกแซงอีก เพราะ คสช.ยังสามารถปลดกรรมการ กกต. อย่างที่ทำมาแล้วได้ด้วย เป็นเรื่องหนึ่งทำให้คงไม่มีใครแน่ใจ กกต.เป็นกลาง และทำได้ถูกต้องได้ 100 เปอร์เซ็นต์ ส่วนอีกปัญหาที่ใหญ่กว่านั้น คือ การที่รัฐมนตรีไปชักชวนให้คนมาบริจาค หรือเข้าข่ายลักษณะเรี่ยไร มีปัญหาซ้อนเข้ามา คือ รัฐมนตรีเล่านี้ยังคงมีอำนาจในฐานะรัฐมนตรีอย่างสมบูรณ์ และสามารถใช้อำนาจของการเป็นเจ้ากระทรวง ให้คุณ ให้โทษ กับห้างร้านเอกชนได้ และมีอำนาจกำกับกระทรวงและรัฐวิสาหกิจได้ด้วย รวมถึงอาจเสนอเรื่องเข้า ครม.อนุมัติงบประมาณ หรือโครงการที่เอื้อกับเอกชนก็ได้ด้วย ปัญหาจึงมาอยู่ที่การที่ ครม.หรือรัฐบาลนี้ไม่อยู่ในสภาพเป็นรัฐบาลรักษาการทำให้สามารถใช้อำนาจให้คุณให้โทษ และเป็นประโยชน์ในการเลือกตั้งของพรรคการเมืองที่ตัวเองเป็นแกนนำ ปัญหาพันกันไปหมด แต่เรื่องใหญ่กลายเป็นเรื่องที่ว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ซึ่งเป็นหัวหน้ารัฐบาล และหัวหน้าคณะรักษาความความสงบแห่งชาติ (คสช.) ยังอยู่ในสถานะที่สามารถใช้อำนาจเพื่อให้ได้เปรียบแก่พรรคการเมืองที่สนับสนุนเป็นนายกฯ ได้
เมื่อถามว่า การที่พรรคพลังประชารัฐ ระบุว่า หากตรวจสอบแล้วผู้ใดไม่สามารถบริจาคได้ตามข้อกฎหมายจะคืนเงิน ตรงนี้ถือว่าความผิดได้เกิดขึ้นก่อนแล้วหรือยัง นายจาตุรนต์ กล่าวว่า ตอนจัดงาน และมีคนบริจาคมาแล้ว และรับเงินมาแล้วต้องเปิดเผย ถ้าจะคืนต้องชี้แจงและเปิดเผยเช่นเดียวกัน คนจะสนใจว่า คืนเพราะอะไร ซึ่งสันนิษฐานได้ว่า ที่คืนเงินนั้นผิดกฎหมาย ปัญหาตามมาคือความผิดได้สำเร็จไปแล้ว การคืนเงินก็ไม่ได้ทำให้พ้นผิดได้ แต่การพูดออกมาเร็วๆ ว่า ถ้าพบผิดจะคืน แสดงให้เห็นแล้วว่าที่ทำไปไม่ได้ระมัดระวัง หรือขั้นย่ามใจว่าจะทำอะไรก็ได้ และที่กระทบความรู้สึกคนมากคือ ทำไมถึงจัดงานครั้งเดียวได้เงินมหาศาลขนาดนี้ และเป็นเงินของราชการกับวิสาหกิจด้วย ซึ่งหมายความว่าเอาเงินประชาชนมาบริจาคให้พรรคการเมืองใช่หรือไม่ และคำถามใหญ่ที่ตามมาอีกคือจะใช้เงินมากขนาดนี้ไปทำอะไร
ส่วนกรณีที่หลายฝ่ายมองว่า การลงพื้นที่ พล.อ.ประยุทธ์ เป็นการเอาเปรียบทางการเมือง และประกาศจะอยู่เป็นรัฐบาลทำหน้าที่จนจบนั้น นายจาตุรนต์ กล่าวว่า เป็นการเขียนรัฐธรรมนูญเอาไว้ในลักษณะเพื่อเอื้อให้ พล.อ.ประยุทธ์ ทั้งในฐานะนายกฯ และหัวหน้า คสช. เอาเปรียบพรรคการเมื่องอื่นๆ คือ สามารถใช้อำนาจหน้าที่ในการที่จะใช้เงินงบประมาณแผ่นดินไปหาเสียงได้ตามใจชอบ ซึ่งผิดหลักการที่จะทำให้การเลือกตั้งเสรีเป็นธรรม และยังเป็นการใช้อำนาจอย่างไม่ชอบธรรม ซึ่งจะแก้ได้ต้องให้ พล.อ.ประยุทธ์กับครม.ลาออก แล้วให้ปฏิบัติหน้าที่ต่อไป แต่ต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขที่รัฐธรรมนูญกำหนด ในการเป็นรัฐบาลรักษาการ ส่วนการแก้ได้ในการเป็นหัวหน้าคสช. พล.อ.ประยุทธ์ ต้องประกาศไม่ใช้อำนาจ คสช.แทรกแซงการทำงาน และเวลานี้ใครๆ ก็รู้ว่า พล.อ.ประยุทธ์ พยายามที่จะเป็นนายกฯ หลังการเลือกตั้ง พรรคการเมืองก็พูดออกมาแล้วจะเสนอชื่อ พล.อ.ประยุทธ์ ในบัญชีพรรคการเมือง เพื่อเป็นแคนดิเดต เพียงแต่ยังไม่เป็นทางการ แต่เมื่อเป็นทางการจะเห็นภาพรวมชัดเจนของการใช้วิธีสารพัดที่ไม่ชอบธรรม เพื่อการเป็นนายกฯ ต่อไป
การที่พรรคพลังประชารัฐประกาศถ้าเลือกพรรคตนเองเข้าไป จะได้ พล.อ.ประยุทธ์ เป็นนายกฯ ชัดยิ่งกว่าชัดอยู่แล้ว แต่นั่นก็เป็นข้อดีอยู่เหมือนกัน ทำให้คนไทยตัดสินใจง่ายขึ้นว่าถ้าต้องการให้ พล.อ.ประยุทธ์ เป็นนายกฯ และบริหารประเทศอย่างที่บริหารมาแล้ว 4-5 ปี นี้ต่อไป ก็ให้เลือกพรรคพลังประชารัฐ ถ้าไม่ต้องการให้ พล.อ.ประยุทธ์ และต้องการเปลี่ยนแปลงบ้านเมืองให้ดีขึ้น ต้องเลือกพรรคการเมืองที่ไม่สนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ เป็นนายกฯ อย่างชัดเจน ตนคิดว่าจากการที่พรรคพลังประชารัฐประกาศขึ้นมาอย่างนี้ จะทำให้เรื่องนี้เป็นประเด็นสำคัญในการเลือกตั้งครั้งนี้ไปจนถึงวันเลือกตั้ง
นายจาตุรนต์ กล่าวว่า ขณะที่กลไกหลังการเลือกตั้งต้องจับตาดูด้วยแน่ เพราะแนวโน้มที่พรรคพลังประชารัฐจะได้เสียงสูงถึง 126 เสียงขึ้นไป มันยากมาก ใครที่ติดตามการเมืองมาจะรู้ว่ายากถึงขั้นเป็นไปไม่ได้เลยด้วยซ้ำ เพราะฉะนั้นส่ิงที่น่าติดตามคือ พล.อ.ประยุทธ์ ทั้งฐานะนายกฯ และฐานะหัวหน้า คสช. จะใช้อำนาจแทรกแซงการทำงานของ กกต. และแทรกแซงผลการเลือกตั้ง และใช้อำนาจของตนเองไปบีบคั้นพรรคการเมืองต่างๆ เพื่อสนับสนุนให้ตนเป็นนายกฯ อย่างไรหรือไม่ เป็นเรื่องที่ต้องติดตามกันต่อไป ส่วนทางเลี่ยงที่จะไม่ให้ พล.อ.ประยุทธ์ ใช้อำนาจเข้าไปแทรกแซงการเลือกตั้ง และไปบีบคั้นพรรคการเมืองให้ไปสนับสนุนตนเองเป็นนายกฯ นั้น
"สิ่งที่ทำได้ง่ายสุด คือ การที่ประชาชนพร้อมใจกันไม่สนับสนุนพรรคการเมืองที่สนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ เป็นนายกฯ และทำให้พรรคการเมืองที่ไม่สนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ เป็นนายกฯ ได้รับชัยชนะอย่างท่วมท้น ก็จะทำให้เราสามารถป้องกันเดตล็อก หรือวิกฤติการเมืองที่จะเกิดขึ้น โดยเฉพาะการป้องกันการใช้อำนาจ คสช.แทรกแซงในการจัดตั้งรัฐบาลได้" นายจาตุรนต์ กล่าว