ภาพ Credit : Neil Davies

ในช่วง 160 ปีที่ผ่านมา มีรายงานการค้นพบซากดึกดำบรรพ์หรือฟอสซิล (fossil) รอยเท้าไดโนเสาร์ตามชายฝั่งของเทศมณฑลซัสเซ็กส์แห่งสหราชอาณาจักร โดยเฉพาะพื้นที่รอบเมืองโบราณเฮสติ้งส์ ถือเป็นหนึ่งในสถานที่ที่อุดมไปด้วยซากฟอสซิลไดโนเสาร์และอิกัวโนดอน สิ่งมีชีวิตชนิดหนึ่งในกลุ่มไดโนเสาร์กินพืชที่รู้จักกันครั้งแรกในปี พ.ศ.2368 ทว่ายังไม่มีการพบครั้งสำคัญมากนัก อีกทั้งผลการวิจัยก่อนหน้าก็มีความแตกต่าง ข้อมูลรายละเอียดก็น้อยกว่ายุคปัจจุบัน

ล่าสุด นักบรรพชีวินวิทยาจากมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ เผยว่า ช่วงปี พ.ศ.2557-2561 มีการค้น พบรอยเท้าไดโนเสาร์กว่า 85 รอย ขนาดตั้งแต่ 2-60 เซนติเมตร โดยพบตามช่วงเวลาการกัดเซาะชายฝั่งบริเวณหน้าผาใกล้เมืองเฮสติ้งส์ ซึ่งธรรมชาติก็ได้เก็บรักษารอยเท้าไว้เป็นอย่างดี ทำให้มองเห็นรายละเอียดของผิว เกล็ด และกรงเล็บได้ง่าย เมื่อนำไปตรวจสอบก็สามารถระบุได้ว่ารอยเท้าเหล่านี้เป็นของไดโนเสาร์อย่างน้อย 7 สายพันธุ์ที่แตกต่างกัน จากยุคครีเตเชียสอายุระหว่าง 145-100 ล้านปีที่ผ่านมา

อย่างไรก็ตาม แม้จะเป็นเพียงซากฟอสซิลรอยเท้า แต่นักบรรพชีวินเชื่อว่าซากรอยเท้าดังกล่าวมีความสำคัญต่อการศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับองค์ประกอบของชุมชนไดโนเสาร์ในพื้นที่แห่งนี้ รวมทั้งจะช่วยเติมช่องว่างทางความรู้และคาดคะเนได้ว่าไดโนเสาร์ชนิดใดที่อาศัยอยู่ในพื้นที่เดียวกันและในเวลาเดียวกัน.

...