จากเกาะเซนติเนลเหนือที่ซ่อนเร้นจากแสงสีแห่งโลกาภิวัตน์ สู่ดินแดนมากด้วยตำนานใจกลางจังหวัดอุตรดิตถ์ของไทย หลายคนเคยฟังเรื่องเล่ามาตั้งแต่เยาว์วัย หลายคนเคยสงสัยแต่ไม่ได้รู้แจ้ง ทีมข่าวเจาะประเด็น ย้อนเล่าเรื่องราวสุดพิศวงที่หลายคนไม่เคยได้รู้ “เรื่องเล่าเมืองลับแล”

หากจะพูดถึงตำนานเมืองลับแลนั้น กล่าวได้ว่ามีเรื่องราวหลายด้านด้วยกัน โดยทีมข่าวเจาะประเด็น ไล่เรียงไว้ ดังต่อไปนี้...

...

“ลับแล” ตำนานความรักหญิง-ชาย สุดเจ็บช้ำ

ตำนานพื้นเมือง เล่าว่า เมืองลับแลเป็นเมืองแม่ม่าย ตั้งอยู่ในภูมิประเทศที่ลี้ลับซับซ้อน พลเมืองมีแต่ผู้หญิง ยึดมั่นแต่ความดี มีศีลธรรม และวาจาสัตย์ ต่อมามีชายชาวเมืองทุ่งยั้งคนหนึ่งเดินหลงทางเข้าไปในป่าเมืองลับแล และเกิดพบรักกับหญิงสาวคนหนึ่ง ด้านหญิงสาวได้พาชายผู้นี้ไปอยู่ด้วยกันฉันสามีภรรยา

หญิงสาวให้ชายหนุ่มสัญญาว่าจะไม่พูดเท็จ ซึ่งชายหนุ่มก็รับปากเป็นอย่างดี จากนั้นเป็นต้นมา สองสามีภรรยาอยู่ด้วยกันจนมีบุตรหนึ่งคน วันหนึ่งขณะที่ภรรยาออกไปเก็บผักหักฟืน ลูกเกิดหิวนม จึงร้องไม่หยุด พ่อปลอบให้ลูกหยุดร้องไห้ โดยหลอกว่า แม่กลับมาแล้ว ลูกจึงหยุดร้องไห้ เมื่อภรรยาทราบว่า สามีกล่าวเท็จต่อลูก ก็จำเป็นต้องให้สามีออกจากเมืองไป เพราะไม่รักษาวาจาสัตย์ตามสัญญา

ก่อนออกเดินทางภรรยามอบย่ามให้สามีพร้อมกำชับไม่ให้เปิดดูระหว่างเดินทาง แต่สามีไม่เชื่อภรรยา จึงได้เปิดย่ามเห็นเป็นขมิ้น จึงนำเอาของในย่ามทิ้งออกบ้าง ครั้นไปถึงบ้านของตน จึงพบว่า ขมิ้นที่เหลืองเพียงหัวเดียวนั้นเป็นทองคำ

จากหลักฐานและตำนานพื้นบ้านดังกล่าว ทำให้อนุมานได้ว่า ลับแลเป็นชื่อที่ตั้งตามลักษณะภูมิประเทศที่ลี้ลับซับซ้อน เพราะมีภูเขาและป่าไม้บดบังมิให้ผู้คนภายนอกเดินทางเข้าไปโดยสะดวก ประกอบกับสมัยก่อน ชาวพื้นเมืองลับแลเองค่อนข้างจะไม่อยากพบปะเกี่ยวข้องกับบุคคลต่างถิ่น สภาพลักษณะภูมิประเทศและอุปนิสัยของชาวลับแลดักล่าว จึงทำให้บริเวณนี้มีชื่อเรียกว่า “ลับแล” โดยบริเวณที่ได้ชื่อว่า ลับแล คือ พื้นที่ตอนเหนือของอำเภอลับแล ในตำบลชัยจุมพล ตำบลศรีพนมมาศ ตำบลฝายหลวง ตำบลแม่พูล และตำบลนานกกก

...

“ลับแล” ลี้ลับ ธรรมชาติบดบัง ปิดกั้นจากสายตา

ตำนานทางพุทธศาสนา เล่าว่า เมื่อครั้งที่สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้เสด็จมาโปรดเวไนยสัตว์ที่หมู่บ้าน ซึ่งต่อมาชื่อ “เมืองทุ่งยั้ง” พระองค์ได้ประทับนั่งบำเพ็ญภาวนาที่พระแท่นศิลาอาสน์ แล้วเสด็จเดินจงกรมที่วัดพระยืนพุทธบาทยุคล ได้ทอดพระเนตรไปในทางทิศเหนือ เห็นหนองน้ำกว้างใหญ่ ต่อมาหนองน้ำนี้เรียกว่า “หนองพระแล” และพระองค์ได้ทอดพระเนตรไปยังที่ตั้งของเมืองลับแล ปรากฏว่า มีต้นไม้บังมากมาย ดังกับเป็นที่ลี้ลับ ดินแดนแห่งนี้ จึงมีชื่อเรียกกันว่า “ลับแล”

...

อย่างไรก็ดี เมืองลับแลตั้งอยู่ในภูมิประเทศลี้ลับซับซ้อน เมื่อมองจากภายนอกจะเห็นแต่ป่าไม้ ไม่ค่อยพบเห็นบ้านเรือน กล่าวกันว่าหากคนต่างถิ่นหลงเข้าไปในดินแดนเมืองลับแลอาจหาทางออกไม่ได้ ข้อความดังกล่าวคงจะเป็นจริง เพราะภูมิประเทศเมืองลับแลเป็นป่าเขาสลับซับซ้อน มีบรรยากาศเยือกเย็นยามพลบค่ำแม้ดวงอาทิตย์จะยังไม่ตกดินก็มืดแล้ว ป่าบริเวณนี้จึงได้ชื่อว่า “ลับแลง” ต่อมาได้เรียกเพี้ยนเป็นคำว่า “ลับแล” และด้วยเหตุที่ชาวลับแลส่วนใหญ่มีอาชีพทำสวนทุเรียนสวนลางสาด ซึ่งอยู่บนภูเขา ดังนั้น ผู้ชายลับแลจึงต้องไปใช้ชีวิตในสวนเป็นเวลานานๆ ปล่อยให้ภรรยาและลูกๆ หลานๆ อยู่เฝ้าบ้าน เมื่อผู้คนผ่านไปมา พบเห็นแต่ผู้หญิงเป็นส่วนใหญ่ จึงให้ฉายาเมืองลับแลว่า “เมืองแม่ม่าย”