หนุ่มลำปาง เล่าอุทาหรณ์หลังสูญเสียแม่ เหตุใช้เครื่องดูดเสมหะไม่เป็น เนื่องจากเจ้าหน้าที่นำเครื่องมาให้ แต่ไม่อธิบายวิธีการใช้งาน พร้อมร้องไปยังศูนย์ดำรงธรรมแล้ว...

เมื่อเวลา 12.00 น. วันที่ 27 พ.ย. 61 ผู้สื่อข่าวลงพื้นที่บ้านที่ 20 หมู่ที่ 2 ตำบลบ้านกิ่ว อ.แม่ทะ จ.ลำปาง พบ สิบเอกรังสรรค์ วงศ์โห้ อายุ 43 ปี ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่เทศบาลแห่งหนึ่งในอำเภอแม่ทะ พร้อมนำผู้สื่อข่าวลงไปดูเครื่องดูดเสมหะและอุปกรณ์ทางการแพทย์ที่ได้รับมาจากโรงพยาบาลของรัฐและ รพ.สต.แห่งหนึ่งในจังหวัดลำปาง ซึ่งมีเครื่องดูดสเลดพร้อมสายดูด ถังออกซิเจน และอุปกรณ์จำนวนหนึ่ง

ทางด้าน ส.อ.รังสรรค์ เผยว่า แม่ของตนเข้าทำการรักษาด้วยอาการนิ่วในถุงน้ำดี มากว่า 1 เดือน กระทั่งเมื่อวันที่ 16 พ.ย.ที่ผ่านมา แพทย์ได้ให้กลับมาพักฟื้นที่บ้าน โดยที่ต้องให้อาหารทางสายยางและต้องคอยดูดเสมหะให้กับผู้ป่วย โดยในวันที่ออกจากโรงพยาบาล เจ้าหน้าที่ได้ให้ตนไปฝึกดูดเสมหะ โดยใช้เครื่องหรืออุปกรณ์ที่ติออยู่บนหัวเตียง เพื่อฝึกการผสมและให้อาหารทางสายยางในระยะเวลาสั้นๆ

...

จากนั้น ได้นำแม่มาพักฟื้นที่บ้านโดยถึงบ้านในช่วงค่ำ พบว่ามี เจ้าหน้าที่ รพ.สต.แห่งหนึ่ง ได้นำอุปกรณ์ดูดสเลดและถังออกซิเจนมาทิ้งไว้ให้ก่อนหน้าแล้ว โดยยังไม่ได้พบเจ้าหน้าที่ที่มาส่งอุปกรณ์ดังกล่าว กระทั่งเวลาประมาณ 21.00 น. สังเกตเสียงแม่มีอาการคล้ายสเลดเยอะ จึงทำการดูดเสมหะ ปรากฏว่าเครื่องดังกล่าวใช้ไม่เป็น เพราะเป็นคนละชนิดกับอันที่เจ้าหน้าที่สอนมา จึงพยายามใช้เครื่องดังกล่าวดูดสเลดให้แม่ แต่ก็ดูดไม่ขึ้น จึงพยายามติดต่อผู้รู้มาช่วย แต่ก็ดูดเสมหะไม่ขึ้นเช่นเดียวกัน

เมื่อสังเกตเห็นแม่เริ่มอ่อนแรงลง จึงรีบนำแม่ส่งโรงพยาบาล แต่ก็ไม่ทันเพียงแค่ไม่กี่นาทีแม่ก็เสียชีวิตลง หลังเหตุการณ์แม่เสียชีวิตไปแล้ว ได้พยายามลองนำเครื่องดังกล่าวมาดูดน้ำเปล่าในแก้ว ปรากฏว่าเครื่องดูดขึ้นบ้างไม่ขึ้นบ้าง ส่วนหนึ่งคาดว่าอาจจะมาจากข้อต่อหลวม หรืออุปกรณ์นำมาให้อาจจะไม่ครบ ทำให้เครื่องไม่สามารถดูดเสมหะได้ และอาจเป็นเหตุผลที่แม่ต้องเสียชีวิตลงก่อนเวลาอันควร

อย่างไรก็ตาม ส่วนตัวไม่ได้ติดใจในการรักษาของแพทย์ เพราะแพทย์ทำการรักษาแม่ของตนดีที่สุดแล้ว แต่อยากให้เรื่องดังกล่าวเป็นอุทาหรณ์กับเจ้าหน้าที่ หรือผู้ที่เกี่ยวข้อง เพราะไม่อยากให้ผู้ป่วยคนอื่นมีต้องมาพักฟื้นที่บ้านในลักษณะเดียวกันกับแม่ต้องเจอปัญหาแบบนี้อีก เพราะการที่เจ้าหน้าที่สอนให้ญาติหรือผู้ดูแลผู้ป่วยดูดเสมหะในระยะเวลาเพียงสั้นๆ ญาติหรือผู้ดูแลผู้ป่วยและคนทั่วไปจะไม่สามารถทำได้ ซึ่งอุปกรณ์ที่นำมาให้ก็เป็นคนละแบบกับเจ้าหน้าที่ที่ให้เรียน

อีกทั้ง คนที่นำอุปกรณ์มาส่งเพื่อช่วยเหลือผู้ป่วย ก็ไม่ได้อธิบายการใช้เครื่องให้ฟัง ทำให้ใช้เครื่องไม่เป็น จนแม่เสียชีวิต หากเกิดเรื่องแบบนี้กับคนที่เป็นกำลังหลักของครอบครัวและผู้ที่มีภาระที่ต้องรับผิดชอบในครอบครัวจะทำยังไง จึงอยากฝากเรื่องดังกล่าวไว้เป็นอุทาหรณ์ และได้ร้องไปยังศูนย์ดำรงธรรมและสาธารณสุขจังหวัดลำปางแล้ว.