จากกรณีการเสียชีวิตของ นายจอห์น อัลเลน เชา ชายชาวอเมริกัน ที่ลักลอบขึ้นเกาะเซนติเนลเหนือของประเทศอินเดีย จนถูกชนเผ่าเซนติเนลที่อาศัยอยู่บนเกาะแห่งนี้ใช้ธนูระดมยิงตาย จนเป็นที่สนใจจากคนทั่วโลก หรือแม้กระทั่งชาวไทย ก็ยังติดตามข่าวนี้อย่างใกล้ชิดตลอดช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา
กระทั่ง ทีมข่าวเจาะประเด็น มีโอกาสได้พูดคุยกับ ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ นักวิชาการด้านทะเลและสิ่งแวดล้อม จนได้รับทราบว่า “คนไทยโบราณเคยผ่านไปในละแวกเกาะเซนติเนลเหนือ โดยมีบันทึกเป็นหลักฐานชัดเจนอยู่ในประวัติศาสตร์ไทยตั้งแต่สมัยอยุธยา เรื่อยไปจนถึงรัตนโกสินทร์ และคนไทยที่สัญจรผ่านไปมาบริเวณเกาะแห่งนี้ จะเรียกขานที่นี่ว่า เกาะนาควารี”
...
จากนั้นทีมข่าวฯ ได้มีโอกาสพูดคุยกับ อาจารย์ ดร.อุเทน วงศ์สถิตย์ หัวหน้าภาควิชาภาษาตะวันออก คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร ในประเด็นนี้อีกครั้ง แต่ลงรายละเอียดในประเด็นดังกล่าวลึกซึ้งกว่าเดิม ซึ่ง ดร.อุเทน กล่าวไปในทิศทางเดียวกับ ดร.ธรณ์ ว่า “เกาะเซนติเนลเหนือถูกบันทึกในประวัติศาสตร์ไทยมาโดยตลอด และเป็นเรื่องจริงแท้แน่นอนที่คนไทยเคยผ่านไปยังเกาะแห่งนี้ด้วย”
“คนไทยเราเรียกเกาะแห่งนี้ว่า นาควารี ซึ่งตำแหน่งของเกาะนาควารีที่บันทึกเอาไว้ในประวัติศาสตร์ทุกฉบับ ตรงกันกับเกาะเซนติเนลเหนืออย่างแน่นอน” ดร.อุเทน ยืนยันหนักแน่น
“สมุดภาพไตรภูมิจะวาดด้วยโลกทัศน์แบบชาวพุทธ จึงมีการระบุรายละเอียดเส้นทางที่จะไปยังสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ทางพุทธศาสนา และสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่คนไทยเดินทางไปเยือนก็คือ รอยพระพุทธบาทที่ศรีลังกา ซึ่งเส้นทางก่อนจะถึงสถานที่ศักดิ์สิทธิ์จะต้องผ่านเกาะนาควารี (เกาะเซนติเนลเหนือ)”
...
“พระภิกษุชาวไทยตั้งแต่สมัยสุโขทัย เดินทางไปศึกษาเล่าเรียนพระธรรมคัมภีร์ที่ศรีลังกากันเป็นว่าเล่น โดยบันทึกทางประวัติศาสตร์ไทยจะพบว่า ตั้งแต่ช่วงพุทธศตวรรษที่ 19 (ช่วงเวลาระหว่าง พ.ศ.1801-1900) มีพระเถระรูปหนึ่งเดินทางไปที่ศรีลังกา และในสมัยอยุธยาก็มีพระภิกษุเดินทางไปที่นั่นอยู่บ่อยครั้ง ซึ่งมีการบันทึกถึงเกาะนาควารี (เกาะเซนติเนลเหนือ)อยู่เสมอ”
...
“และสิ่งที่ถูกบันทึกลงไปในสมุดภาพไตรภูมิที่บันทึกตั้งแต่สมัยอยุธยา จนถึงรัชกาลที่ 5 ในสมัยรัตนโกสินทร์ จะระบุไปทำนองเดียวกันก็คือ ความโหด ความดิบของผู้ที่อาศัยอยู่บนเกาะนาควารี (เกาะเซนติเนลเหนือ) ซึ่งมีความน่ากลัวเป็นอย่างยิ่ง และผู้เดินเรือไม่ควรหยุดพัก หรือไม่ควรย่างกรายเข้าไปใกล้เกาะแห่งนี้โดยเด็ดขาด” ดร.อุเทน กล่าวตามเอกสารโบราณที่ถูกบันทึกไว้ในประวัติศาสตร์ไทย
ทั้งนี้ ดร.อุเทน เคยใช้ชีวิตอยู่ในประเทศอินเดียมาเป็นเวลานานหลายปี และศึกษาประวัติศาสตร์อินเดียมาอย่างมากมาย โดย ดร.อุเทน ได้ระบุว่า ราวๆ ปี พ.ศ.2510 เคยมีนักมานุษยวิทยาชาวอินเดียกลุ่มหนึ่ง พร้อมกองกำลังทหารคุ้มกัน พยายามเดินทางไปยังเกาะเซนติเนลเหนือถึง 2 ครั้ง เพื่อทำการศึกษาวิจัยชาวเซนติเนลให้ถ่องแท้ แต่พวกเขาก็ไม่ได้รับการต้อนรับจากชาวเซนติเนลแต่อย่างใด
...
“แม้แต่ในนิทานสันสกฤตของอินเดียก็ยังมีการกล่าวถึงเกาะกลางทะเลแห่งนี้ว่า มีความน่ากลัว และกลุ่มคนที่อยู่บนเกาะจะต้อนรับบุคคลแปลกหน้าด้วยการฆ่า”
“ในขณะที่บันทึกทางการศึกษาต่างๆ ของประเทศอินเดีย ได้มีการระบุว่า คนกลุ่มนี้คือชาวเกาะอายุเก่าแก่ถึง 6 หมื่นปี และใช้ชีวิตแบบดั้งเดิมมาอย่างยาวนาน แต่ไม่ชัดเจนว่าพวกเขามาจากกลุ่มชนชาติใด ซึ่งมีการระบุถึงจำนวนผู้อาศัยบนเกาะไว้อย่างกว้างๆ คือ จำนวน 5-1,500 คน (ไม่เคยมีใครทำสำรวจได้สำเร็จ) และผู้ที่อาศัยอยู่บนเกาะนี้ยังถือเป็นชาวเกาะที่โดดเดี่ยวที่สุดในโลกอีกด้วย”
“ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา มีนักวิชาการ และผู้สนใจที่จะศึกษาเกาะแห่งนี้เป็นจำนวนมาก หลายคนพยายามเข้าไป หลายคนได้วางแผนปฏิบัติการเอาไว้แต่ไม่สำเร็จ เพราะเกาะแห่งนี้เปรียบเสมือนขุมทรัพย์ทางวิชาการ และไม่ใช่แค่นักมานุษยวิทยาที่อยากเข้าไป แต่นักภาษาศาสตร์ ก็อยากเข้าไปเรียนรู้ด้านภาษา นักชีววิทยาทั้งพืชและสัตว์ก็อยากเข้าไปศึกษาสิ่งมีชีวิต ฉะนั้น หากใครเดินทางไปยังเกาะแห่งนี้ได้สำเร็จ คนผู้นั้นจะได้รับความสนใจจากแวดวงวิชาการเป็นอย่างมาก”
“หากเรายึดตามข้อมูลของอินเดีย คุณลองคิดดู เกาะแห่งนี้ไม่เคยถูกแตะต้องจากมือใครมานานถึง 6 หมื่นปี ชาวเกาะเซนติเนลเหนือ อาจจะเทียบได้กับมนุษย์ที่อาศัยอยู่บนโลกเมื่อ 6 หมื่นปีก่อน ฉะนั้น ผู้ที่เข้าไปทำการศึกษาเกาะแห่งนี้ได้สำเร็จ เขาจะเจอพืชและสัตว์จำนวนมหาศาลสปีชีส์ และวิถีชีวิตของคนบนเกาะนั้น เป็นเรื่องที่น่าศึกษาอย่างมาก”
ส่วนประเด็นที่ว่า เกาะแห่งนี้ผ่านยุคล่าอาณานิคมของประเทศอังกฤษมาได้อย่างไรนั้น ดร.อุเทน ให้ความเห็นว่า “การศึกษาพื้นที่ต่างๆ ในอินเดียของชาวอังกฤษในช่วงล่าอาณานิคมนั้น แค่เฉพาะพื้นที่หลักๆ ในประเทศอินเดียก็ใช้เวลาค่อนข้างนาน และมีค่าใช้จ่ายมากอยู่แล้ว อีกทั้งการเดินเรืออยู่ในทะเลเพื่อศึกษาเกาะแก่งต่างๆ ไม่คุ้มค่าทั้งเรื่องของเวลา และค่าใช้จ่าย ดังนั้น เกาะเซนติเนลเหนือ จึงรอดจากยุคล่าอาณานิคม”
จากการที่ ดร.อุเทน ติดตามข่าวสารเกี่ยวกับประเทศอินเดียอยู่เสมอนั้น ดร.อุเทน ได้กล่าวว่า “ในเวลานี้ ข่าวการเสียชีวิตของ นายจอห์น อัลเลน เชา ชายชาวอเมริกันที่ลักลอบขึ้นเกาะเซนติเนลเหนือนั้น เป็นที่สนใจของประชาชนชาวอินเดียมากพอสมควร ซึ่งความรู้สึกนึกคิดของคนอินเดียส่วนใหญ่จะมองว่า การเดินทางไปยังเกาะแห่งนี้โดยไม่ได้รับอนุญาตนั้น ถือเป็นเรื่องที่ผิด”
“ส่วนการติดตามนำศพนายจอห์น อัลเลน เชากลับมานั้น ไม่ใช่ประเด็นหลักที่ชาวอินเดียสนใจเท่าใดนัก เนื่องจากชาวต่างชาติที่เดินทางไปยังอินเดีย พวกเขาจะมองว่า คนเหล่านี้เป็นบุคคลระดับที่ 2 ซึ่งเขาจะให้ความสำคัญกับประชากรในประเทศมากกว่าคนต่างชาติ ซึ่งแตกต่างจากแนวคิดของคนไทยที่ดูแลต้อนรับชาวต่างชาติเป็นอย่างดี” ดร.อุเทน กล่าวถึงกระบวนการนึกคิดของชาวอินเดีย
ในขณะที่ ผศ.ดร.รุ่งโรจน์ ภิรมย์อนุกูล อาจารย์ภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์ ม.รามคำแหง ก็ได้เปิดเผยกับทีมข่าวเจาะประเด็นในประเด็นเดียวกันว่า เมื่อทราบข่าวการเสียชีวิตของชาวอเมริกันที่ถูกชาวเกาะเซนติเนลใช้ธนูยิงจนเสียชีวิตบนเกาะเซนติเนลเหนือนั้น ตนก็ทราบได้ทันทีว่า เกาะแห่งนี้ คือ “เกาะนาควารี” ที่คนไทยเรียกขานกันมาช้านาน เนื่องจากมีบันทึกในสมุดภาพไตรภูมิกล่าวถึงเกาะดังกล่าวอยู่หลายครั้ง
“ในบันทึกเก่าแก่ของไทย มักจะระบุถึงเกาะแห่งนี้ในทำนองที่ว่า ทางสยามได้มีการส่งคณะสมณทูตไทยไปยังลังกา ระหว่างที่แล่นเรือผ่านหมู่เกาะอันดามันและนิโคบาร์ พระสงฆ์ไทยจะบันทึกว่า ทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือของเกาะนาควารี (นิโคบาร์) เดินทางไป 3 วัน จะมีเกาะๆ หนึ่ง ชาวเกาะจะช่วยกันไล่ยิงคนนอกด้วยหน้าไม้ เมื่อจับตัวได้จะเชือดเนื้อกินเป็นอาหาร” ผศ.ดร.รุ่งโรจน์ ให้ความรู้ตามประวัติศาสตร์ไทย.