เกษตรกรบนพื้นที่สูงแม้จะอยู่ในพื้นที่ต้นน้ำ แต่มีปัญหาการใช้น้ำ เพราะไฟฟ้าเข้าไม่ถึง ครั้นจะใช้เครื่องสูบน้ำมีปัญหาค่าเชื้อเพลิงสูง ชาวบ้าน ต.วังกวาง อ.น้ำหนาว จ.เพชรบูรณ์ เลยร่วมกันคิดผลิตเครื่องตะบันน้ำ สูบน้ำได้โดยไม่ต้องพึ่งพาน้ำมันและไฟฟ้า ภายใต้ “โครงการพลิกไทย” มี ดีแทค เป็นที่ปรึกษาสนับสนุนงบประมาณ ผลิตเครื่องตะบันน้ำไปแล้วมากกว่า 55 ตัว ช่วยให้ชาวบ้านมีน้ำใช้ภาคเกษตรกรรมอย่างยั่งยืน และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

“เคยไปดูเครื่องตะบันน้ำที่วางขายราคาสูงถึงแสนบาท พวกเราชาวบ้านไม่มีปัญญาซื้อ เลยมาร่วมกันคิดค้นทำเครื่องตะบันน้ำ ตอนแรกๆทำจากท่อพีวีซีธรรมดา แต่มีแรงดันน้ำน้อย ใส่น้ำลงไปมากท่อแตกง่าย จึงเปลี่ยนมาใช้ถังเหล็ก ที่มีความทนทาน แต่ยังมีข้อจำกัดในเรื่องขนาดของถังที่ไม่เท่ากัน และเกิดรอยรั่ว การส่งน้ำไม่สม่ำเสมอ ในที่สุดมาลงเอยตรงถังแก๊สขนาด 15 กก.”

นายจีระศักดิ์ ตรีเดช นายกสมาคมเพื่อการอนุรักษ์และพัฒนาเทือกเขาเพชรบูรณ์ อธิบายถึงการสร้างเครื่องตะบันน้ำที่คิดทำกันขึ้นมาเองว่า เริ่มจากการนำถังแก๊ส 2 ถังมาแช่น้ำเพื่อระบายแก๊สเก่าออกให้หมด

...

จากนั้นตัดแต่งเชื่อมเช็กวาล์ว 2 ตัวเข้ากับถัง โดยตัวนึงติดบนหัวถังตัวแรก อีกตัวเชื่อมสองถังเข้าด้วยกัน โดยวางถังสลับหัวกัน ขั้นต่อมาเจาะข้างถังใบแรกเพื่อติดตั้งทางน้ำเข้าขนาด 4 หุน และวางระบบท่อน้ำเข้าขนาด 16 หุน (2 นิ้ว) และติดข้อต่อลดขนาดลงไปสู่ท่อขนาด 4 หุน

เมื่อน้ำถูกบีบให้เข้ามา อากาศในถังจะถูกดันไปปิดเช็กวาล์ว น้ำจะเกิดการคลั่งค้างในถังแรก ก่อนจะดีดออกผ่านเช็กวาล์วตัวที่สอง จากนั้นน้ำจะไหลไปเข้าถังที่สองจนเกิดแรงดันอากาศ ผลักให้น้ำไหลออกสู่ด้านล่างของถังที่สองไปตามท่อ 4 หุนที่ต่อไว้ เครื่องจะทำงานแบบนี้อย่างต่อเนื่อง สูบน้ำทุกๆ 4 วินาที จะได้น้ำวันละ 300 ลิตร ส่งน้ำไปได้สูง 8-10 เมตร โดยอาศัยพลังงานธรรมชาติ ไม่ต้องพึ่งไฟฟ้าหรือน้ำมันเชื้อเพลิง

จีระศักดิ์ บอกว่า เครื่องตะบันน้ำนี้จะสามารถสูบน้ำได้สูงเกิน 10 ม. ก็ทำได้ แต่น้ำที่ไหลเข้าไปในถังจะต้องเป็นน้ำจากลำห้วยที่มีความสูงกว่าเครื่องตะบันน้ำ 2 ม.ขึ้นไป ถึงจะส่งน้ำไปไกลหลายกิโลเมตร และได้น้ำมากกว่า 1,500 ลิตรต่อวัน เกษตรกรสนใจสามารถติดต่อได้ที่ 08-5269-4264.