เชื่อว่าหลายคนคงได้เห็นภาพชุด "ช้าง" ชุดประจำชาติไทย ในคอนเซปต์ "Chang, the Icon of Siam" ในการประกวด มิสยูนิเวิร์ส 2018 (Miss Universe 2018) ที่จะจัดขึ้นในประเทศไทย ณ อิมแพค อารีน่า เมืองทองธานี วันจันทร์ที่ 17 ธันวาคม 2561...(แฟชั่น 5 ชุดประจำชาติ Miss Universe 2018)

และไฮไลต์ของการประกวดที่หลายคนตั้งตารอ ก็คงหนีไม่พ้นการประกวดรอบชุดประจำชาติ "National Costume" ที่ถือได้ว่าเป็นสีสันของงาน ทุกประเทศต่างพากันนำเสนอสิ่งที่น่าสนใจในประเทศของตนผ่านการออกแบบชุดสุดอลังการ

ไลฟ์สไตล์ไทยรัฐ เป็นสื่อเดียวที่มีโอกาสได้สัมภาษณ์ ‘พลัฏฐ์ จิรพุฒินันท์’ หนึ่งในสุดยอดนักออกแบบเครื่องประดับของเมืองไทย หนึ่งในทีมงานผู้สรรค์สร้างชุดสุดอลังการ และยังเคยอยู่เบื้องหลังงานเครื่องประดับสำหรับชุดอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นชุด Jewel of Thailand สวมใส่โดย 'น้ำตาล-ชลิตา ส่วนเสน่ห์' และสร้อยคอเพชรสุดตระการตาที่ 'มารีญา พูนเลิศลาภ' ใส่ในการประกวดรอบพรีลิมมินารี่เมื่อปีที่ผ่านมา เรียกได้ว่า พลัฏฐ์ จิรพุฒินันท์ เป็นผู้อยู่เบื้องหลังความสำเร็จของเหล่านางงาม ให้ผู้ชมได้ประทับใจมาแล้วถึง 3 ปีซ้อน

พลัฏฐ์ จิรพุฒินันท์
พลัฏฐ์ จิรพุฒินันท์

...

พลัฏฐ์ เล่าให้ทีมงานฟังว่า เขามีความหลงใหลในงานด้านการออกแบบมาตั้งแต่อายุยังน้อย จึงตัดสินใจเข้าศึกษาต่อในระดับ ปวช. ที่กาญจนาภิเษกวิทยาลัย ช่างทองหลวง เพื่อเรียนรู้ถึงเกี่ยวกับศิลปกรรมโบราณของไทยที่หาเรียนที่อื่นไม่ได้ ไม่ว่าจะเป็น งานสลักดุน, งานขึ้นรูป, งานยาถม, รวมถึงงานรูปพรรณสมัยใหม่หรือจิวเวลรี่

หลังจากนั้น พลัฏฐ์ ได้เข้าศึกษาต่อในสาขาการออกแบบเครื่องประดับ คณะมัณฑนศิลป์ มหาวิทยาลัยศิลปากร ซึ่งเขาก็ได้สร้างผลงานมากมายไว้ที่นี่ ก่อนจะบินลัดฟ้าไปศึกษาต่อที่ Birmingham City University ประเทศอังกฤษ ซึ่งเป็นมหาวิทยาลัยที่ได้รับการจัดให้เป็นอันดับ 1 มหาวิทยาลัยที่ดีที่สุดในยุโรป ด้าน Jewellery Design พร้อมคว้าเกียรตินิยมกลับมาได้สำเร็จ

การเริ่มต้นทำงานในสายนางงาม

หลังกลับมายังประเทศไทยไม่นาน พลัฏฐ์ ได้ถูกทาบทามให้เข้ามาร่วมทีมทำชุดประจำชาติ โดยทำหน้าที่เป็นผู้ออกแบบเครื่องประดับสำหรับชุดประจำชาติ Jewel of Thailand ในการประกวด Miss Universe 2016 ที่ในปีนั้นผู้สวมใส่คือ "น้ำตาล ชลิตา ส่วนเสน่ห์" ตัวแทนของประเทศไทยที่ได้รับตำแหน่ง Miss Universe Thailand 2016

สำหรับชุดประจำชาติในปีนั้น เราเริ่มแบบสเกตช์จากภาพ Reference เครื่องประดับไทยสมัยรัชกาลที่ 5 ตอนปลาย ถึงสมัยรัชกาลที่ 6 ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่ตรงกับยุค Art Deco, มีการ Research รูปแบบผลงานเครื่องประดับ และได้ศึกษาเครื่องประดับโบราณอายุร่วม 120 ปี เพื่อหาข้อจำกัดในเรื่องน้ำหนักและตำแหน่ง รวมทั้งวิธีการที่จะนำงานไทยโบราณมาประยุกต์ให้ร่วมสมัย

...

และถึงแม้ว่าจะไม่ได้รับรางวัลชุดประจำชาติยอดเยี่ยมในปีนั้น แต่ความงดงามของชุดทำให้กลายเป็นที่ถูกพูดถึงมากที่สุดในวงการแฟชั่นปี 2016

ยังคงสานต่อเครื่องประดับสำหรับนางงาม

ในปี 2017 พลัฏฐ์ ถูกทาบทามอีกครั้งเพื่อให้ออกแบบเครื่องประดับชุดราตรีรอบ Preliminary หรือรอบอุ่นเครื่องก่อนชิงมงกุฎจักรวาล Miss Universe 2017 ที่ลาสเวกัส สหรัฐอเมริกา ซึ่งสวมใส่โดย "มารีญา พูนเลิศลาภ" ตัวแทนนางงามจักรวาลไทย

...

...

และแน่นอนว่า ชุดราตรีชุดนี้จะไม่ใช่ชุดที่สวมใส่ในรอบตัดสินจริง แต่เป็นบทพิสูจน์แล้วว่าเมื่อมารีญาสวมใส่ชุดนี้ ทำให้ต่างชาติหันมาจับจ้องตัวแทนนางงามจากประเทศไทยมากขึ้น และยังถูกพูดถึงในสื่อแฟชั่นจากต่างประเทศอยู่พักหนึ่งเลยทีเดียว

โอกาสกลับมาอีกครั้งในปี 2018

สำหรับประเทศไทยในปีนี้ กองประกวดมิสยูนิเวิร์สได้จัดประกวดและคัดเลือกชุด "Chang, the Icon of Siam" ที่ออกแบบโดย "ธีร์ ผาสุก" มาเป็นชุดประจำชาติในปีนี้ เนื่องจากเล็งเห็นว่า "ช้าง" คือความเป็นไทยวัฒนธรรม อารยธรรมและวิถีของคนไทยมาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ที่สำคัญเรายังใช้ช้างเป็นทูตวัฒนธรรมในการเจริญสัมพันธไมตรี ระหว่างประเทศอีกด้วย

เมื่อถูกชักชวนให้มาเป็นส่วนหนึ่งในทีมออกแบบเครื่องประดับในปีนี้ พลัฏฐ์ จึงไม่ลังเลที่จะเข้ามามีส่วนร่วมในทีม พร้อมเสนอดีไซน์ใหม่ๆ ให้ถ่ายทอดความสวยงามของชุดประจำชาติในปีนี้ให้ออกมาได้มากที่สุด 

เบื้องหลังของแรงบันดาลใจ 

การทำงานเครื่องประดับนั้นเป็นงานที่ยากและต้องใส่ใจในรายละเอียด เพราะนอกจากจะต้องส่งเสริมให้ชุดที่ใส่ร่วมด้วยดูสวยแล้ว ตัวเครื่องประดับก็ต้องมีคุณค่าในตัวของมันเองด้วย เพราะฉะนั้นในการทำงานโดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับเวทีมิสยูนิเวิร์ส ผมพยายามอย่างมากที่จะนำเสนอกลิ่นอายความเป็นไทยในมุมมองใหม่ๆ เข้าไป และทำให้ดูมีความโมเดิร์นด้วย อย่างเช่นในชุด Chang, the Icon of Siam ผมได้ช่วยคุณธีร์ออกแบบเครื่องประดับที่จะนำเสนอความมีพลังของช้าง ผสานกับความงดงามของ นิ้ง ตัวแทนนางงามของเรา

กระบวนการดีไซน์

เริ่มต้นจากการนำเส้นรัศมีจากเหรียญตราเครื่องราชอิสริยาภรณ์ มาจัดเรียงองค์ประกอบศิลป์ใหม่ร่วมกับลายกระจังที่เป็นหนึ่งในลายไทยพื้นฐาน และประดับด้วยคริสตัลของสวารอฟสกี ที่จัดเรียงล้อเลียนกับการร้อยมาลัย หรือแม้แต่จัดเรียงคล้ายขนนกยูงซึ่งได้แรงบันดาลใจมาจากมงกุฎของนิ้งที่ชนะการประกวดภายในประเทศ จะเห็นได้ว่าผมพยายามสอดแทรกความหมายในทุกรายละเอียด เพื่อให้งานนำเสนอความมีอารยธรรมของเรา และส่งเสริมใช้ชุดดูโดดเด่นไปด้วยพร้อมๆ กัน

ด้วยความมั่นใจของทีมออกแบบที่เต็มเปี่ยมขนาดนี้ เชื่อเถอะว่าส่งให้ "นิ้ง-โศภิดา" คว้ามงกุฎนางงามจักรวาลคนที่ 3 ของไทยมาได้ในที่สุด.

ติดตามผลงานออกแบบอื่นๆ ของ พลัฏฐ์ จิรพุฒินันท์ ได้ที่ : Tiara by Palat

ที่มาภาพบางส่วน: เฟซบุ๊กเพจ Miss Universe Thailand