เมื่อวันที่ 14 พ.ย.ที่อาคารรัฐสภา 2 คณะกรรมาธิการการสังคม เด็ก เยาวชน สตรี ผู้สูงอายุ คนพิการ และผู้ด้อยโอกาส สภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.) จัดสัมมนา “ปัญหาและอุปสรรคในการบังคับใช้กฎหมายการส่งเสริมการมีงานทำของคนพิการตามมาตร 35” โดยนายวัลลภ ตังคณานุรักษ์ ประธานคณะกรรมาธิการการสังคมฯ กล่าวว่า

กองทุนส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ เป็นกองทุนที่ใช้จ่ายอยู่ตรงกลาง ระหว่างเงินของรัฐกับเงินของภาคประชาชน เป็นเงินก้อนใหญ่ที่กระจายถึงกลุ่มคนพิการค่อนข้างเร็วและสะดวก จึงอาจเป็นช่องทางให้เกิดการทุจริตได้ โดยอาจจะมีการไปรับแทนคนพิการ หรืออาจจะจ่ายให้คนบางคนแทนการจ่ายเงินเข้ากองทุน ดังนั้น เมื่อใครรู้ว่ามีการทุจริตก็น่าจะบอกออกมา และเป็นหน้าที่ของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องไปจัดการ

นายมนเฑียร บุญตัน รองประธานคณะกรรมาธิการการสังคมฯ กล่าวว่า การบังคับใช้กฎหมายในต่างประเทศจะบังคับหน่วยงานรัฐก่อน เพราะมีกลไกนำนโยบายสู่การปฏิบัติได้ง่ายกว่า โดยเฉพาะการจ้างงานคนพิการไม่ว่าจะเป็นญี่ปุ่น อินเดีย จีน รัฐบาลจ้างมากกว่าเอกชนเป็น 2 เท่า จึงอยากเสนอให้ทบทวนสัดส่วนการจ้างงานในภาครัฐของไทยให้เพิ่มเป็น 2 เท่าของภาคเอกชน

ขณะที่นายสุชาติ โอวาทวรรณสกุล นายกสมาคมสภาคนพิการทุกประเภทแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ในการประชุมสภาคนพิการทุกประเภทแห่งประเทศไทยเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมามีมติว่า มาตรา 35 ใน พ.ร.บ.ส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ ควรยังคงอยู่ แต่ให้แก้ไขในส่วนที่เป็นประเด็นปัญหา และยังเห็นชอบให้เพิ่มสัดส่วนการจ้างงานในภาครัฐมากขึ้นจาก 100:1 เป็น 50:1 ส่วนเอกชนคงสัดส่วนเดิม.