คณะรัฐมนตรี มีมติเห็นชอบแก้ไข พ.ร.บ.ยาเสพติดฯ เปิดทางให้ "กระท่อม-กัญชา" นำมาศึกษาวิจัยและใช้ทางการแพทย์ ภายใต้การควบคุมของแพทย์ เตรียมส่ง สนช.พิจารณาตามขั้นตอนต่อไป...

เมื่อวันที่ 13 พ.ย.2561 ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี มีมติเห็นชอบให้แก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 ที่บังคับใช้มาเป็นเวลานาน และมีบทบัญญัติบางประการที่ไม่ทันต่อ สถานการณ์ปัจจุบันนอกจากนี้ ในปัจจุบันส่วนของกัญชาปรากฏผลวิจัยว่าสารสกัดจากกัญชามีประโยชน์ทางการแพทย์หลายประเทศทั่วโลกได้มีการผ่อนปรน โดยแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายอนุญาตให้ประชาชนใช้พืชกระท่อมและกัญชาทางการแพทย์หรือเพื่อการนันทนาการได้โดยชอบด้วยกฎหมาย

แต่สำหรับประเทศไทยปัจจุบันพืชกระท่อมและกัญชายังคงเป็นสารเสพติดให้โทษประเภท 5 ตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ 2522 มีการกำหนดโทษผู้เสพและผู้ครอบครองทั้งที่ในสภาพความเป็นจริงพบว่ามีผู้ป่วยบางส่วนลักลอบใช้กัญชาเพื่อรักษาโรคมานานหลายปีแล้ว ทั้งผลิตใช้เองและมีผู้ผลิตในเชิงพาณิชย์เป็นผลให้มีราคาแพง และอาจไม่ถูกต้องตามหลักวิชาการแพทย์ และตำรับยา

...

สมควรแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 เพื่อเปิดโอกาสให้สามารถนำกัญชาและพืชกระท่อมไปทำการศึกษาวิจัยเพื่อประโยชน์ทางการแพทย์ และสามารถนำไปใช้ในการรักษาภายใต้การดูแลและควบคุมของแพทย์ได้

สำหรับเนื้อหาของร่างพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษที่แก้ไขเพิ่มเติม ห้ามไม่ให้ผลิตนำเข้าหรือส่งออกยาเสพติดประเภท 5 เว้นแต่ได้รับใบอนุญาตจากผู้อนุญาตเฉพาะกรณีจำเป็นเพื่อประโยชน์ทางราชการ

ห้ามไม่ให้ผู้ใดจำหน่ายหรือมีไว้ครอบครองยาเสพติดให้โทษประเภท 5 เว้นแต่ได้รับใบอนุญาตและกำหนดให้มียาเสพติดให้โทษประเภท 5 ไว้ในครอบครองคำนวณเป็นสารบริสุทธิ์ได้ตั้งแต่ 10 กิโลกรัมขึ้นไปให้สันนิษฐานว่ามีไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย

ในกรณียกเว้น ให้มียาเสพติดให้โทษประเภท 5 ไว้ในครอบครองไม่เกินจำนวนที่จำเป็น สำหรับใช้รักษาโรคเฉพาะตัวหรือสำหรับใช้ประจำในการปฐมพยาบาล หรือ กรณีเกิดเหตุฉุกเฉินในเรือเครื่องบิน หรือยานพาหนะอื่นใดที่ใช้ในการขนส่งสาธารณะระหว่างประเทศ

ให้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด มีอำนาจกำหนดเขตพื้นที่ทดลองปลูกพืช ที่ให้ผลผลิตเป็นยาเสพติดให้โทษประเภท 5

ห้ามไม่ให้โฆษณายาเสพติดให้โทษประเภท 5 เว้นแต่เป็นการโฆษณาต่อผู้ประกอบวิชาชีพที่ได้รับอนุญาต

กำหนดให้ผู้รับอนุญาตที่ประสงค์จะจำหน่าย หรือมีไว้ในครอบครองซึ่งยาเสพติดประเภท 5 เกินปริมาณที่กำหนดให้ยื่นคำร้องให้ยื่นคำขอรับใบอนุญาต.