นักวิชาการ ไขข้อสงสัยพ่อแม่ลูกขับรถเก๋งจะไปเที่ยวบางแสน กลางทางเกิดหมดสติทั้ง 3 คน เผยระหว่างทางรู้สึกว่ามีอาการวูบและมีกลิ่นเหม็นไหม้ในรถ เหตุเพราะสูดดมก๊าซคาร์บอนมอนอกไซด์(CO) เข้าไป หลังจากท่อไอเสียรั่วบริเวณห้องเครื่อง...

จากกรณี พ่อแม่ลูก 3 ชีวิต ขับรถออกมาจากบ้านที่พระราม 3 เพื่อไปท่องเที่ยวที่บางแสน จ.ชลบุรี โดยใช้เส้นทางด่วนบูรพาวิถี แต่จู่ๆ ผู้เป็นพ่อ ซึ่งเป็นผู้ขับรถมีอาการเวียนศีรษะ และวูบ ทำให้ขับรถต่อไปไม่ไหว รวมทั้งภรรยาก็บอกว่าจะหมดสติ จึงต้องรีบขับรถเข้าข้างทางก่อนจะหมดสติไป

จากนั้น เจ้าหน้าที่กู้ภัยทางด่วนบูรพาวิถีมาพบรถจอดอยู่ข้างทาง จึงพยายามตะโกนเรียก และเขย่ารถ แต่ทั้งสามชีวิตในรถไม่มีใครตื่น ไม่กี่นาทีต่อมา คนขับตื่นขึ้นมาแต่อยู่ในอาการสั่นเทา เกร็ง ลิ้นแข็ง และปัสสาวะราด พยายามจะกดปุ่มเพื่อลดกระจกลง ใช้เวลาประมาณ 5 นาทีก็สามารถเอากระจกลงได้ ส่วนภรรยาหมดสติอยู่ในอาการตาค้าง น้ำลายฟูมปาก ปัสสาวะราด ชักเกร็ง ไม่รู้สึกตัว ด้านลูกสาวนอนหมดสติ ปัสสาวะราดอยู่ที่เบาะด้านหลังคนขับ (อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง : ได้กลิ่นเหม็นไหม้! กู้ภัยช่วย พ่อแม่ลูกหมดสติคารถ ตัวสั่น น้ำลายฟูมปาก)

...

จากเหตุการณ์ดังกล่าว ได้สร้างความสงสัยให้กับเจ้าหน้าที่ และผู้ที่ทราบข่าวเป็นอย่างมาก โดยทีมข่าวเจาะประเด็นได้พูดคุยกับ รศ.ดร.วีรชัย พุทธวงศ์ อาจารย์ประจำภาควิชาเคมี คณะศิลปศาสตร์และวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ถึงสาเหตุของเหตุการณ์ดังกล่าว ได้รับคำตอบว่า “ท่อไอเสียรั่วบริเวณห้องเครื่อง หรือด้านหน้าตัวรถ จึงทำให้ไอเสียรถยนต์เข้ามาในห้องโดยสารในระหว่างที่รถวิ่ง”

รศ.ดร.วีรชัย พุทธวงศ์
รศ.ดร.วีรชัย พุทธวงศ์

“ข้อมูลหลังจากสอบปากคำ ผู้เป็นพ่อและแม่นั้น ได้ให้การว่า ระหว่างที่นั่งรถได้กลิ่นเหม็นไหม้แปลกๆ คล้ายกลิ่นควันท่อไอเสียลอยเข้ามาในรถแล้วเริ่มมีอาการเวียนศีรษะ สิ่งนี้เป็นเครื่องยืนยันว่า ท่อไอเสียมันรั่วบริเวณห้องเครื่อง ซึ่งไอเสียได้เข้ามาในห้องโดยสาร และไอเสียที่ว่านี้ คือ ก๊าซคาร์บอนมอนอกไซด์ (CO)

รศ.ดร.วีรชัย อธิบายต่ออีกว่า ถ้าเครื่องยนต์เผาไหม้ตามปกติ จะมีก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์(CO2) แต่ถ้าก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ เข้ามาในห้องโดยสาร จะทำให้ผู้โดยสารในรถเกิดอาการอ่อนเพลีย อากาศหายใจน้อย

แต่ถ้าเครื่องยนต์เผาไหม้โดยไม่สมบูรณ์ จะมีก๊าซคาร์บอนมอนอกไซด์(CO) เข้ามาในห้องโดยสาร ตัวนี้แหละ จะทำให้ผู้โดยสารถึงกับหมดสติ เพราะก๊าซคาร์บอนมอนอกไซด์จะจับออกซิเจนในร่างกายของเรา แทนที่เลือดของเรา ซึ่งปกติร่างกายจะมีฮีโมโกบิน(ฮีโมโกบินช่วยนำออกซิเจนไปเลี้ยงส่วนต่างๆ ของร่างกาย)คอยจับออกซิเจน เพื่อนำออกซิเจนไปหล่อเลี้ยงร่างกาย แต่ก๊าซคาร์บอนมอนอกไซด์ จะมาแย่งจับ และความสามารถของก๊าซคาร์บอนมอนอกไซด์ในการจับออกซิเจน ทำได้ดีกว่าฮีโมโกบิน ถึง 300 เท่าเสียด้วย

...

“ดังนั้น ผู้โดยสารที่สูดดมก๊าซคาร์บอนมอนอกไซด์เข้าไป ร่างกายจะไม่มีการแลกเปลี่ยนออกซิเจน ซึ่งจะทำให้เกิดอาการอ่อนเปลี้ยเพลียแรง หมดสติ เวียนศีรษะรุนแรง อาจถึงขั้นเป็นลม หัวใจเต้นเร็วขึ้นผิดปกติ หรืออย่างร้ายแรงที่สุด คือ เสียชีวิต” รศ.ดร.วีรชัย ให้ความรู้

โดยผลกระทบของก๊าซคาร์บอนมอนอกไซด์ที่มีผลต่อสุขภาพมนุษย์ในระดับที่ความเข้มข้นต่างๆ มีดังต่อไปนี้
ระดับความเข้มข้น 50 ppm ถึง 200 ppm อาการปวดศีรษะเล็กน้อยและอ่อนเพลีย
ระดับความเข้มข้น 200 ppm ถึง 400 ppm อาการคลื่นไส้ อาเจียน วิงเวียนศีรษะอย่างรุนแรงและอาจถึงขั้นเป็นลม
ระดับความเข้มข้นประมาณ 1,200 ppm อาการหัวใจเต้นเร็วขึ้นผิดปกติ และเริ่มเต้นผิดจังหวะ
ระดับความเข้มข้นประมาณ 2,000 ppm อาการอาจถึงขั้นหมดสติ และอาจถึงเสียชีวิต
ระดับความเข้มข้นประมาณ 5,000 ppm อาการอาจทำให้เสียชีวิตภายในไม่กี่นาที แต่อาจจะรอดชีวิตถ้ารีบนำผู้ป่วยออกจากบริเวณอับอากาศมาสู่บริเวณที่มีอากาศบริสุทธิ์ หรือมีออกซิเจนเพียงพอ

...

ทั้งนี้ หากคุณเผชิญเหตุการณ์ลักษณะดังกล่าว หรือได้กลิ่นเหม็นไหม้ คุณควรลดกระจกรถยนต์ลงมา เพื่อระบายอากาศและรับลมจากภายนอก อีกทั้ง ห้ามปิดกระจกโดยเด็ดขาด

อย่างไรก็ดี หากพบเห็นเหตุการณ์ลักษณะดังกล่าว ในขั้นแรกให้รีบเคลื่อนย้ายผู้ป่วยไปยังสถานที่ที่มีอากาศบริสุทธิ์ แต่ถ้าไม่สามารถเคลื่อนย้ายผู้ป่วยได้ให้รีบทำการเปิดหน้าต่างหรือประตู เพื่อให้มีอากาศหมุนเวียนเข้าออกได้สะดวก และต้องกระทำโดยเร็วที่สุด หากโทรเรียกให้รถโรงพยาบาลมารับ ควรแจ้งให้มีการนำเครื่องช่วยหายใจมาด้วย.

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

...