กัมพูชาและเมียนมาอาจจะโดนเล่นงานจากสหภาพยุโรป กัมพูชาอาจจะโดนยกเลิกสิทธิพิเศษ EBA เสื้อผ้าและรองเท้าที่ผลิตจากกัมพูชาเคยขายยังสหภาพยุโรปในราคาถูกเพราะได้ลดหย่อนภาษีนำเข้าหรือบางรายการไม่มีภาษี ต่อไปจะต้องเสียภาษีเต็ม

สาเหตุที่สหภาพยุโรปจะยกเลิก EBA เพราะมีการจับอดีตผู้นำฝ่ายค้านและยุบพรรคกู้ชาติกัมพูชาที่เป็นพรรคตรงข้ามที่แข็งแรงที่สุด ทำให้พรรคประชาชนกัมพูชาซึ่งเป็นพรรครัฐบาลได้ ส.ส.ทั้งหมด 125 คน โดยในสภาผู้แทนราษฎรไม่มี ส.ส.จากพรรคอื่นเลยแม้แต่คนเดียว

ขณะนี้สหภาพยุโรปกำลังเตรียมกำหนดมาตรการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจต่อเมียนมา สหประชาชาติกล่าวหาว่ากองทัพเมียนมาปฏิบัติการในรัฐยะไข่โดยมีเจตนาฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวโรฮิงญา หากสหภาพยุโรปคว่ำบาตรเมียนมาจริง อุตสาหกรรมสิ่งทอของเมียนมาก็จะขายในสหภาพยุโรปไม่ได้ แรงงานเมียนมาที่ในขณะนี้อยู่ในอุตสาหกรรมสิ่งทอ 4.5 แสนคนก็จะตกงาน เงินจากการส่งออกก็จะหายไป 2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือประมาณ 6 หมื่นล้านบาท

รัฐบาลของนางซูจีเผชิญปัญหามาก อันดับแรกก็อย่างที่ผมเรียนไปแล้ว เรื่องสหประชาชาติยืนยันว่ากองทัพเมียนมาปฏิบัติการในรัฐยะไข่ด้วยเจตนาฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวโรฮิงญา อย่างที่สองก็คือเศรษฐกิจของเมียนมาที่กำลังชะลอตัว รายได้ที่พอมีอยู่บ้างก็มาจากน้ำมัน ก๊าซธรรมชาติ และอุตสาหกรรมสิ่งทอ และการเจรจาสันติภาพกับกบฏจากรัฐกะฉิ่นและพื้นที่ชนกลุ่มน้อยชาติพันธุ์อื่นก็ชะงักงัน

ผู้ที่หนุนนางซูจีมักจะพูดแก้ตัวว่า ที่เป็นอย่างนี้เพราะฝ่ายบริหารของนางซูจีไม่มีอำนาจควบคุมกองทัพ หลายคนแก้ตัวว่า ผู้บริหารและ ส.ส. ที่มาจากพรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตยมีซูจีเพียงคนเดียวที่เด่นและมีความสามารถ แต่ผู้หญิงเพียงคนเดียวไม่สามารถทำงานใหญ่ให้สำเร็จได้

...

คนที่หนุนนางซูจีแก้ตัวให้เธออีกว่า รัฐบาลนี้ต้องการเวลามากกว่า 4 ปี เพื่อที่จะแก้ไขปัญหาต่างๆ “ในเมียนมามีพวกที่คลั่งศาสนาอย่างมากอยู่เป็นจำนวนมหาศาล รัฐบาลไม่สามารถจะประสานรอยร้าวของความแตกแยกทางเชื้อชาติและศาสนาได้ในระยะเวลาอันสั้น”

เมียนมาแบ่งการปกครองเป็น 7 เขตและ 7 รัฐ ผู้คนที่อยู่ในเขตทั้ง 7 ส่วนใหญ่มีเชื้อสายพม่าและนับถือศาสนาพุทธ ผู้คนที่อยู่ตามรัฐบางแห่งนับถือศาสนาคริสต์หรือศาสนาอิสลาม ตอนที่หาเสียงก่อนจะเลือกตั้งเมื่อ พ.ศ. 2558 นางซูจีสัญญากับพวกชาติพันธุ์กลุ่มน้อยว่า เธอจะให้ทุกเผ่าพันธุ์และทุกศาสนาได้สิทธิเท่าเทียมกัน

แต่ตอนนี้ก็มีการโวยว่า รัฐบาลนี้เลือกปฏิบัติต่อผู้นับถือศาสนาคริสต์ที่เป็นประชากรส่วนใหญ่ในรัฐกะฉิ่น หลายคนบอกว่า การจะจัดพิธีทางศาสนาจะต้องได้รับอนุญาตจากทางราชการ แต่ตั้งแต่ซูจีได้เป็นรัฐบาล ชาวคริสต์ในรัฐกะฉิ่นขอจัดพิธีทางศาสนาไป (ยกเว้นการไปโบสถ์ในวันอาทิตย์) ไม่เคยได้รับอนุญาตเลย

คนทั่วโลกได้รับข่าวเพียงแค่ชาวโรฮิงญามากกว่า 7 คนถูกบังคับให้ต้องหนีจากรัฐยะไข่ไปบังกลาเทศหลังจากการปราบปรามของทหารเมื่อเดือนสิงหาคม 2560 แต่ไม่ค่อยมีข่าวถึงชนกลุ่มน้อยที่เผชิญปัญหาแบบเดียวกันในรัฐอื่น

สหประชาชาติเปิดเผยว่า ชาวเมียนมากว่า 6.8 หมื่นคนต้องกลายเป็นผู้พลัดถิ่นภายในประเทศจากการสู้รบในรัฐกะฉิ่นและรัฐชานตั้งแต่เดือนมกราคม 2560 หลายคนโจมตีนางซูจีว่า “เธอทิ้งพวกกลุ่มชาติพันธุ์กับพันธมิตรประชาธิปไตย และหันไปจับมือกับทหาร”

เมื่อรู้ว่านางซูจีไม่สามารถช่วยพวกตนได้ตามที่เคยหาเสียง กลุ่มชาติพันธุ์ก็หันไปสร้างพรรคการเมืองของชนกลุ่มน้อย บางพรรคก็รวมตัวกันเพื่อการเลือกตั้งทั่วไปใน พ.ศ. 2563 อย่างรัฐกะฉิ่น พรรคการเมืองกลุ่มชาติพันธุ์ 4 พรรคก็หันมารวมกันเป็นพรรคประชาธิปไตยกะฉิ่น

อนาคตของนางซูจีและพรรคสันนิบาตฯ ไม่น่าจะดีในการเลือกตั้งครั้งหน้าครับ.

นิติการุณย์ มิ่งรุจิราลัย
songlok1997@gmail.com