ใกล้ความจริงแล้ว สำหรับความหวังของกลุ่มคนหลากหลายทางเพศในไทย หรือคนรักเพศเดียวกัน ประมาณมากกว่า 6 ล้านคน จะได้มีกฎหมายรับรองสิทธิชีวิตคู่ ถือเป็นประเทศแรกในเอเชีย จากแนวคิดของกระทรวงยุติธรรมได้มีความพยายามยกร่าง พ.ร.บ.การจดทะเบียนคู่ชีวิต มาตั้งแต่ปี 2556

กระทั่งล่าสุด พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ได้มีนโยบายให้เร่งรัดนำร่าง พ.ร.บ. ฉบับดังกล่าว เข้าสู่การพิจารณาเพื่อขอความเห็นชอบจาก ครม. ให้ทันภายใน พ.ย. 2561 แม้ว่าขณะนี้อยู่ในขั้นตอนแรก รับฟังความคิดเห็นของประชาชนส่วนใหญ่ว่าเห็นด้วยหรือไม่? ดังนั้นผู้เกี่ยวข้องจะต้องเร่งกระบวนการต่างๆ ให้ทันเวลา

ด้าน นายเกิดโชค เกษมวงศ์จิตร รองอธิบดีกรมคุ้มครองสิทธิ์และเสรีภาพ เปิดเผยทีมข่าวเจาะประเด็นไทยรัฐออนไลน์ ว่า ร่าง พ.ร.บ. ฉบับดังกล่าว เป็นเรื่องสำคัญ ซึ่งทางรัฐบาลสนับสนุนอย่างเต็มที่ ดังนั้นเมื่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม สั่งการมาให้เร่งรัดในเรื่องกระบวนการ โดยวันจันทร์ที่ 5 พ.ย.นี้ จะนำร่างกฎหมายฉบับนี้ ขึ้นเว็บไซต์ของกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ และของรัฐบาล เพื่อฟังความคิดเห็น เป็นเวลา 15 วัน พร้อมจัดเวทีฟังความคิดเห็นใน 5 จังหวัด ประกอบด้วย จ.ขอนแก่น จ.เชียงใหม่ จ.สงขลา จ.พระนครศรีอยุธยา และกทม. เพื่อนำความคิดเห็นมาเร่งปรับปรุงกฎหมาย คาดประมาณ 22-24 พ.ย. จะเสนอให้ พล.อ.อ.ประจิน พิจารณานำเข้าครม. เพื่อเข้าสู่กระบวนการต่อไป ซึ่งหากไม่ติดปัญหาใดๆ จะมีผลบังคับใช้ได้ในปี 2562

สำหรับสาระสำคัญของร่างกฎหมายดังกล่าว ให้ความสำคัญเรื่องศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ในการตั้งครอบครัวของกลุ่มคนหลากหลายทางเพศ ซึ่งมีพันธะผูกพัน ต้องดูแลกันในยามเจ็บป่วย ร่วมสร้างทรัพย์สินร่วมกัน หากฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเสียชีวิตจะมีสิทธิ์ในทรัพย์สิน หรือหุ้นส่วนที่ทำร่วมกันมา รวมถึงสามารถเซ็นรับรอง กรณีอีกฝ่ายต้องผ่าตัดในโรงพยาบาล หรือสิทธิ์ในการรับศพ ซึ่งประเทศในโลก เช่น อังกฤษ แคนาดา มีกฎหมายตัวนี้มารองรับ หรือหากคนในประเทศเหล่านั้นเข้ามาอยู่ในไทย จะสามารถใช้กฎหมายดังกล่าวได้ ซึ่งสอดรับกับหลักสากลของโลก

...

“กฎหมายนี้ยังไม่เจาะจงเรื่องการขอบุตรบุญธรรม แต่จะเป็นจุดเริ่มในการเดินทีละก้าว ยังไม่ไปถึงการจดทะเบียนสมรส แต่เป็นการจดทะเบียนคู่ชีวิต สร้างความมั่นคงร่วมกันในการสร้างเนื้อสร้างตัวเป็นหลักสำคัญ และยอมรับที่ผ่านมามีการเสนอความคิดเห็นหลากหลาย มีความต้องการไม่เท่ากัน เช่น ต้องการมีบุตรบุญธรรม เปลี่ยนคำนำหน้าชื่อจากนายเป็นนาง ซึ่งตรงนี้เป็นแค่ความต้องการ โดยต้องเริ่มจากการออกกฎหมายง่ายๆ ก่อน มีประมาณ 60 กว่ามาตรา ในเรื่องสิทธิมนุษย์ขั้นพื้นฐาน เพื่อตั้งครอบครัวของกลุ่มคนหลากหลายทางเพศ ที่พร้อมใช้ชีวิตคู่ร่วมกัน เหมือนต้นไม้เริ่มผลิใบ ถือเป็นการแก้จุดความเดือดร้อนตรงนี้ไปก่อน”

ทั้งนี้ หากกฎหมายดังกล่าวบังคับใช้ ถือว่าไทยเป็นประเทศแรกในเอเชียที่ชัดเจนในเรื่องนี้ที่สุด โดยทางกรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย จะทำหน้าที่ในการจดทะเบียนคู่ชีวิต เนื่องจากเป็นเรื่องของครอบครัวของคน 2 คนที่ยืนยันจะใช้ชีวิตอยู่ด้วยกัน ซึ่งต้องมีข้อตกลงร่วมกันในเรื่องทรัพย์สิน ยังไม่ใช่การจดทะเบียนสมรส แต่หากอนาคตสังคมยอมรับกว้างขวางมากขึ้น อาจนำไปสู่ความเป็นไปได้ในการออกกฎหมาย รองรับการจดทะเบียนสมรสของกลุ่มคนหลากหลายทางเพศ

ขณะที่ นายวิทยา แสงอรุณ ฝ่ายต่างประเทศ องค์กรบางกอกเรนโบว์ ระบุว่า ร่าง พ.ร.บ. ฉบับนี้ ถือเป็นความก้าวหน้าของประเทศไทย ตามกระแสโลกให้เกิดความเท่าเทียมกัน แม้หลักการของกฎหมายอาจไม่สมบรูณ์แบบ ไม่สามารถปฏิบัติได้จริง แต่เป็นเรื่องดีในแง่จิตวิทยา ทำให้คนกลุ่มนี้ได้รับความคุ้มครองทางกฎหมายเป็นครั้งแรก แม้ไม่สามารถสร้างความเท่าเทียมได้อย่างแท้จริงก็ตาม ซึ่งก็ดีกว่าไม่มีเลย เพราะในเชิงปฏิบัติควรแก้กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ เพื่อรองรับการจดทะเบียนสมรส

นอกจากนี้ อยากให้คนทั่วไปมองว่าร่างพ.ร.บ.คู่ชีวิต ช่วยเยียวยาหลายคนที่มีคู่ เคยมีลูกติดมาด้วย ถือมีประโยชน์ระดับหนึ่ง มีเจตนาดี ทำให้สังคมเข้าใจในระดับหนึ่ง แต่ยังไม่ตอบโจทย์ได้ทั้งหมด ซึ่งทางที่ดีควรมีวิธีการทำคู่กับการแก้กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ไปด้วย จากความคาดหวังนำไปสู่การจดทะเบียนสมรส เพื่อใช้ในชีวิตจริง

เช่นเดียวกับนายกิตตินันท์ ธรมธัช นายกสมาคมฟ้าสีรุ้งแห่งประเทศไทย หนึ่งในคณะอนุกรรมการพิจารณาร่างพ.ร.บ.การจดทะเบียนคู่ชีวิต กล่าวในฐานะภาคประชาสังคม ว่า ได้มีส่วนร่วมในการทำร่างกฎหมายดังกล่าว จนเกิด "อัมพวาโมเดล" มีทั้งหมด 98 มาตรา ซึ่งได้ถูกตัดไปเหลือประมาณ 60 กว่ามาตรา โดยมองว่าอย่างน้อยเป็นจุดเริ่มในไทย เพื่อรองรับสิทธิมนุษยชนที่จะเกิดขึ้นเต็มใบในอนาคตแม้อาจจะใช้ระยะเวลาก็ตาม เนื่องจาก 30 ปีที่แล้วกลุ่มคนหลากหลายทางเพศถูกมองเป็นพวกจิตวิปริต จึงพยายามต่อสู้ กระทั่งต่อมาองค์กรทั่วโลกได้ออกมายอมรับ ดังนั้นเมื่อรัฐบาลชุดนี้มีความพยายามผลักดันกฎหมายตัวนี้ จึงถือเป็นสิ่งที่ดี ภายหลังนิ่งมานานตั้งแต่ปี 2556

สำหรับกฎหมายตัวนี้เน้นเรื่องความสัมพันธ์ของคู่ชีวิต การจัดการทรัพย์สิน และความเป็นโมฆะหากมีการเลิกรากัน ซึ่งอยากให้เพิ่มในเรื่องสวัสดิการทางสังคม เช่นเดียวกับคู่ชีวิตชายหญิง หรือกรณีคู่ชีวิตเป็นข้าราชการ พนักงานรัฐวิสาหกิจ จึงควรได้รับสิทธิทางสวัสดิการ เช่น ค่ารักษาพยาบาล เป็นต้น รวมถึงการรองรับการมีบุตรบุญธรรมร่วมกัน หรือกรณีอีกฝ่ายมีลูกติด ซึ่งคู่ชีวิต สามารถรับเป็นบุตรบุญธรรมได้ โดยอดีตสามีหรือภรรยา ต้องให้ความเห็นชอบ แต่ที่ผ่านมาได้มีการติงว่าพ่อแม่คู่รักเพศเดียวกันจะไม่สามารถเลี้ยงดูบุตรได้ จะกลายเป็นปัญหาสังคม และเกิดปัญหากับเด็ก ส่วนการแก้กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ นำไปสู่การจดทะเบียนสมรส ยอมรับว่ายาก คงต้องใช้เวลาอีกนาน

อย่างไรก็ตาม เพื่อให้ได้สิทธิตามที่มีการเรียกร้อง มองว่าสามารถต่อยอดได้ใน 2 แนวทาง โดยจะมีการยื่นต่อศาลรัฐธรรมนูญในประเด็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน เช่นเดียวกับไต้หวันซึ่งดำเนินการในขณะนี้ หรืออีกแนวทางในการยื่นคำร้องล่ารายชื่อ โดยทำได้ระหว่างร่างกฎหมายฉบับดังกล่าวยังไม่มีผลบังคับใช้ หรือดำเนินการภายหลังมีผลบังคับใช้แล้ว เพราะหากจะได้สิทธิมนุษยชนเต็มใบก็คงใช้เวลา 10 ปี หรือไม่มีทางเป็นไปได้เลย.