ย้อนดูอดีต 'เจ้าสัววิชัย' เปิดใจครั้งแรกเมื่อปี 2546 ถึงจุดเริ่มต้น 'ธุรกิจดิวตี้ฟรี' ลั่นมีวันนี้ด้วยการดิ้นรนของตัวเอง พร้อมแย้มฝันสุดท้ายที่อยากทำตอนเกษียณ...

ครั้งหนึ่งเมื่อต้นปี 2546 คุณวิชัย รักศรีอักษร หรือ คุณวิชัย ศรีวัฒนประภา เคยเปิดห้องทำงานสุดหรู บนตึกสยามดิสคัฟเวอรี่ ณ ขณะนั้น เพื่อให้สัมภาษณ์พิเศษครั้งแรกต่อ 'ทีมข่าวไทยรัฐ' จากที่ไม่เคยเปิดตัวมาก่อน...

ณ ขณะนั้น เจ้าสัววิชัย เผยถึงจุดเริ่มต้นธุรกิจว่า "พ่อผม (วิวัฒน์ รักศรีอักษร) ส่งไปเรียนที่ไต้หวันตั้งแต่อายุ 11-12 ปี พอจบมัธยมก็ไปเรียนต่อที่สหรัฐอเมริกา แต่พอเรียนไป 2 ปี ก็คิดว่าไม่อยากเรียนแล้ว กลับมาทำงานดีกว่า จึงเริ่มงานกับพ่อเกี่ยวกับวงการพิมพ์ คือขายตัวพิมพ์และอุปกรณ์การพิมพ์ แต่ทำได้อยู่ 3-4 ปี ก็รู้สึกไม่ชอบธุรกิจนี้ จึงแยกตัวออกมาทำธุรกิจของตัวเอง"

"จากนั้น ก็เริ่มจากทำกิฟต์ช็อป สั่งซื้อมาจากประเทศญี่ปุ่น จึงได้รู้จักกับคนญี่ปุ่นที่ทำเครื่องประดับ ชื่อ 'นิชิกาวา' แล้วนำเครื่องประดับเทียมมาทำที่โรงงานในเมืองไทย แล้วโปรโมตขายในไทย ก่อนที่จะส่งขายในต่างประเทศ แล้วก็ได้รู้จักตัวแทนของ 'คริสเตียน ดิออร์' เขาออฟเฟอร์ให้เป็นตัวแทนขายเครื่องประดับ พอทำได้ 2-3 ปี ก็ได้เป็นตัวแทนขายเครื่องหนังของ 'คริสเตียน ดิออร์' เพิ่มอีก โดยเริ่มส่งให้ตามห้างสรรพสินค้า และร้านค้าที่สนามบินดอนเมือง ซึ่งเป็นที่มาของการทำธุรกิจดิวตี้ฟรี"

...

"เพียงไม่กี่ปี ก็มีท็อปแบรนด์ในมือประมาณ 6-7 ท็อปแบรนด์ ทั้ง คริสเตียน ดิออร์, ลองแชมป์, ลองแวน, นีน่า ริชชี่ เป็นต้น ระหว่างนั้นมีโอกาสไปประชุมกับตัวแทนของแบรนด์เนมต่างๆ ก็ถามเขาเขาเรื่องธุรกิจระหว่าง ดิวตี้เพลย์ (หมายถึงเรานำสินค้าเข้ามาเสียภาษีแล้วนำไปวางขายตามห้างสรรพสินค้า) กับ ดิวตี้ฟรี (สั่งเข้ามาแล้วไม่ต้องเสียภาษีแต่ขายที่ดิวตี้ฟรีเลย) จึงสนใจเป็นเอเย่นต์ดิวตี้ฟรี"

"แต่พอทำดิวตี้ฟรีได้ประมาณ 2-3 เดือนก็มีปัญหากับหุ้นส่วน จึงถอนตัวออกมา ยกทุกอย่างให้เขาไปหมด แล้วหันมาทำดิวตี้ฟรีในเมืองแทน จึงไปร่วมทุนกับการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย เพื่อเป็นตัวโปรโมตดึงนักท่องเที่ยว โดยเริ่มบิวตี้ฟรีในเมืองเป็นบริษัทแรก ที่อาคารมหาทุนพลาซ่า ใช้ชื่อว่า บริษัท ททท.สินค้าปลอดอากร"

"เมื่อทำมาได้ 5 ปี ครบตามสัญญา ก็มีการเปลี่ยนแปลงเพราะรัฐบาลไม่ให้ต่อสัญญา และเอาไปทำเอง แต่ท้ายสุดก็ไปไม่รอดขาดทุน เป็นช่วงเปลี่ยนแปลงรัฐบาลพอดี เขาจึงส่งตัวแทนมาเจรจาให้เทคโอเวอร์ดิวตี้ฟรีที่เวิลด์เทรด รวมทั้งได้หันกลับไปทำที่สนามบินอีกครั้ง จนท้ายสุด การท่าอากาศยานฯ ยกทุกอย่างให้ คิงเพาเวอร์ จึงเรียกตัวเองว่า คิง ออฟ ดิวตี้ฟรี"

"คิดว่าที่มีทุกอย่างในวันนี้เพราะพ่อ ประกอบกับการต่อสู้ดิ้นรนแบบยิบตาของตัวเอง จริงๆ แล้วงานนี้เป็นงานที่ฝันไว้ตลอด เพราะเป็นคนไม่อยากค้าขายกับคนจน เพราะมีจุดอ่อนคือเป็นคนใจอ่อนบวกเงินพวกเขาไม่ลง คิดว่าขายกับต่างประเทศ แล้วเอาเงินเข้าประเทศดีกว่า จะได้ไม่ต้องมีปัญหาหรือผิดใจใคร ซึ่ง 10 กว่าปีที่ทำธุรกิจมานั้น ได้นำเงินเข้าประเทศมาแล้วนับแสนล้านบาท"

"เคยมีหลายคนพูดไว้ตั้งแต่ผมยังเด็ก ว่าโตขึ้นต้องทำงานใหญ่ เหมือนถูกท้าไว้ตั้งแต่ตอนนั้น จึงต้องหางานใหญ่ทำ ไม่ทำสิ่งที่คนอื่นทำแล้วเพราะไม่ชอบและไม่สนุก ผมถือว่าเป็นผู้บุกเบิกธุรกิจดิวตี้ฟรี แต่ยังไม่ใช่จุดที่ฝันที่สุด เพราะก่อนเกษียณอายุที่ตั้งใจไว้คือเมื่ออายุ 50 ปี ต้องมีตึกเป็นของตัวเอง ข้างล่างเป็นร้านดิวตี้ฟรี ทำเป็นเซ็นเตอร์ มีโรงละคร เช็กอินได้ ใกล้ๆ อาจมีโรงแรมอยู่ด้วย เป็นแบบวันสต็อป ส่วนบริษัทบอกลูกๆ ไว้แล้วว่าให้จ้างคนมาบริหาร ส่วนตัวเองก็จะขอเกษียณเพื่อจะเดินทางท่องเที่ยว หรือไปขี่ม้าตามที่ชอบ สำหรับทรัพย์สินผมจะเอาไป 60% ที่เหลือแบ่งให้ลูก 4 คน คนละ 10% ส่วนของพ่อจะเอาเงินไปไหนลูกไม่ต้องมาถาม" เจ้าสัววิชัย กล่าวพร้อมยิ้มทิ้งท้ายอย่างใจดี.