สนามเด็กเล่น (Playground) มักจะพบเห็นได้ตามโรงเรียน สวนสาธารณะ รวมทั้งในศูนย์การค้า สวนสนุก และร้านอาหารบางร้าน เช่น ร้านอาหาร McDonald’S ซึ่งเป็นร้านอาหารแฮมเบอร์เกอร์แบบ “จานด่วน” (Fast Food) ที่มีเครือข่ายทั่วโลก สนามเด็กเล่นเป็นสถานที่สำหรับเด็กใช้ทำกิจกรรมการเล่นเพื่อพัฒนาการด้าน ต่าง ๆ ของตน ในสนามเด็กเล่นมักมีอุปกรณ์ "เครื่องเล่นสนาม" ที่ออกแบบไว้สำหรับเด็กในแต่ละวัยและในแต่ระดับชั้นเรียน ตั้งแต่ระดับอนุบาลจนถึงระดับมัธยมศึกษา สนามเด็กเล่นไม่จำกัดว่าต้องจัดอยู่ในสถานศึกษาเท่านั้น สามารถตั้งอยู่ที่ไหนก็ได้แม้แต่ในบ้านเพื่อให้เด็กที่ต้องการมีกิจกรรมของ ตนเอง
แต่ในปัจจุบันจากการสังเกตพบว่า สนามเด็กเล่นเริ่มหายไป และจำนวนเด็กที่จะเล่นในสนามก็หายไปด้วย ทั้งนี้อาจมีความสัมพันธ์กับปริมาณเด็กหรืออัตราการเกิดของเด็กที่น้อยลง แต่พบว่า เด็กไปเล่นเกมอยู่ในร้านเกมที่เปิดขึ้นเกือบทั่วทุกแห่งทั่วประเทศ และสนามเด็กเล่นได้ถูกเปลี่ยนไปใช้ประโยชน์เป็นอย่างอื่นที่ให้ผลตอบแทน มากกว่า เช่น ในร้าน McDonald’S บางแห่งในประเทศไทยเมื่อเริ่มเปิดให้บริการมีการก่อสร้างสนามเด็กเล่นหรือ แบ่งพื้นที่ไว้สำหรับให้เด็กเล่นเหมือนกับร้าน McDonald’s หลาย ๆ แห่งในต่างประเทศโดยเฉพาะประเทศสหรัฐอเมริกา ต่อมาบริเวณที่ออกแบบไว้สำหรับให้เด็กเล่นหายไปและถูกเปลี่ยนเป็นพื้นที่ สำหรับบริการอาหารแทน ในโรงเรียนหรือสถานศึกษาของรัฐบาลหลายแห่งสนามเด็กเล่นหายไปและได้ใช้ พื้นที่ก่อสร้างอาคาร แม้แต่ในสวนสาธารณะที่เป็นความรับผิดชอบขององค์การบริหารส่วนจังหวัด และ หน่วยงานการปกครองส่วนท้องถิ่นต่าง ๆ บริเวณสนามเด็กเล่นได้หายไปหรือถูกปล่อยทิ้งให้รกร้าง ขาดการดูแลบำรุงรักษา อุปกรณ์เครื่องเล่นสนามอยู่ในสภาพไม่สามารถใช้ได้และเป็นอันตรายต่อเด็กอีก ด้วย
ประโยชน์ของสนามเด็กเล่นและเครื่องเล่นสนาม
สนาม เด็กเล่นเป็นที่รวมของเด็ก ๆ ได้มาพบกันและเล่นกัน เป็นการสร้างสมรรถนะทางสังคมให้กับเด็ก ๆ ให้สามารถรู้จักอยู่ร่วมกัน ทำกิจกรรมร่วมกัน มีน้ำใจ ช่วยเหลือกัน ช่วยส่งเสริมและกระตุ้นพัฒนาการทั้งด้าน ร่างกาย กล้ามเนื้อ จิตใจ อารมณ์และรวมทั้งสมองในการคิดแก้ปัญหาของเด็ก ๆ การมีสนามให้เด็กเล่นเป็นความเมตตาของผู้ใหญ่ที่ “จัดให้” กับเด็ก เพราะเด็กไม่สามารถสร้างเอง หรือ “จัดให้” กับตนเองได้โดยไม่ได้รับความช่วยเหลือจากผู้ใหญ่ที่มี “จิตเมตตา” หรือ “จิตสาธารณะ” ได้
นอกจากสนามเด็กเล่นแล้วยังมี "เครื่องเล่นสนาม" ในสนามเด็กเล่นอีกจำนวนมากที่เหมาะสำหรับส่งเสริมพัฒนาการต่าง ๆ ของเด็กอีกด้วย เครื่องเล่นในสนามเด็กเล่นช่วยฝึกความเชื่อมั่นในตัวเองและพัฒนากล้ามเนื้อ ใหญ่ที่แขน ขาให้แข็งแรง ฝึกการทรงตัว ฝึกความกล้าหาญ และการตัดสินใจ ฝึกทักษะการทำงานของร่างกาย และกล้ามเนื้อ ของเล่นพลาสติกฝึกพัฒนาการด้านอารมณ์ สังคมและสติปัญญา โดยเฉพาะอย่างยิ่งเครื่องเล่นในสนามกลางแจ้งช่วยฝึกทักษะการเคลื่อนไหวให้ คล่องแคล่ว ฝึกการทรงตัวให้มั่นคง พัฒนาการของกล้ามเนื้อ การรับรู้ ความคิดฝัน และเลียนแบบจากของจริง ทำให้เด็กรู้จักปรับสิ่งใหม่ให้เข้ากับสิ่งที่คุ้นเคยหรือ รู้จักแล้ว คิดและเข้าใจธรรมชาติตามที่เป็นจริง นอกจากนั้นเครื่องเล่นสนามกลางแจ้งจะสร้างความกล้าหาญ กล้าแสดงออก รู้จักระมัดระวัง มีระเบียบวินัย และรู้จักการแบ่งปัน ซึ่งเป็นรากฐานสำคัญของการมี “จิตสาธารณะ” ที่หวังว่าเมื่อเติบใหญ่ขึ้นเด็ก ๆ เหล่านี้จะเป็นผู้มี “จิตสาธารณะ” หรือมีเมตตา มีน้ำใจนักกีฬา รู้แพ้ รู้ชนะ รู้อภัย ทำให้สังคมในอนาคตเป็นสังคมแห่งความสงบสุข
ความปลอดภัยของสนามเด็กเล่น
การ ออกแบบเครื่องเล่น และสนามเด็กเล่นมีความสำคัญ ผู้ปกครองจำนวนมากกังวลกับความปลอดภัยของบุตรหลานที่จะให้เด็ก ๆ เล่นกับเครื่องเล่นและมีข่าวจากสื่อมวลชนถึงอันตรายที่เกิดขึ้นกับเด็กใน สนามเด็กเล่นรวมทั้งสวนสนุกต่าง ๆ ที่ทำให้ผู้ปกครองต้องกังวลมากขึ้นที่จะให้บุตรหลานของตนออกไปเล่นที่สนาม เด็กเล่น โดยเฉพาะสนามเด็กเล่นสาธารณะ นอกจากความปลอดภัยของอุปกรณ์หรือเครื่องเล่นแล้ว ความปลอดภัยจากผู้ร้ายหรือผู้ที่จะมาทำร้ายเด็ก ๆ ก็ยังไม่มีมาตรการที่จะทำให้ผู้ปกครองเชื่อมั่นได้ การออกแบบและดูแลสนามเด็กเล่น เครื่องเล่น รวมทั้งของเล่นเด็กนั้นมีหลักการและมาตรการที่ควรนำมาใช้ดังนี้
1. สนามเด็กเล่น เครื่องเล่นสนาม และของเล่น ต้องมีการทดสอบความปลอดภัยเชิงวิทยาศาสตร์ หรือเชิงประจักษ์ก่อนนำออกใช้งาน ต้องมีรายงานผลการทดสอบประกอบการนำเสนอเพื่อการติดตั้งหรือใช้งานด้วย
2. เครื่องเล่นต้องออกแบบให้เหมาะสม กับวัยของเด็ก และมีป้ายบอกวัยของผู้เล่นและวิธีการเล่นอย่างชัดเจน
3. พื้นสนามเด็กเล่นต้องออกแบบป้องกันอุบัติเหตุ เหมาะสมกับกิจกรรมการเล่น และที่สำคัญต้องสามารถดูดซับพลังงาน เพื่อลดการบาดเจ็บจากการตก ล้ม หรือ ร่วงจากเครื่องเล่นได้ในระดับที่เหมาะสม
4. มีการติดตั้งอย่างเหมาะสม ถูกวิธี โดยผู้มีความรู้และประสบการณ์การติดตั้งอุปกรณ์ในที่สาธารณะในการติดตั้ง อุปกรณ์เครื่องเล่นสนามเหล่านั้น
5. มีการตรวจสอบและบำรุงรักษาอย่างสม่ำเสมอ และจัดให้มีผู้ดูแลเด็กในขณะเล่น เช่นเดียวกับการมีผู้ดูแลความปลอดภัยบริเวณสระว่ายน้ำ
ปัจจุบัน ประเทศไทยมีบริษัทหรือภาคธุรกิจที่ประกอบกิจการด้านการออกแบบและสร้างสนาม เด็กเล่น เครื่องเล่นสนาม และของเล่นสำหรับเด็กจำนวนมาก และประเทศไทยเป็นประเทศที่ส่งออกเครื่องเล่น และของเล่นเด็กที่มีมาตรฐานเป็นที่ยอมรับในระดับสากล ประเทศไทยจึงไม่ขาดแคลนผู้ที่มีความรู้และประสบการณ์ในการออกแบบ จัดการสนามเด็กเล่น เครื่องเล่นและของเล่นเด็กเหมือนอย่างในอดีต
การเล่นและของเล่นที่เสริมพัฒนาการเด็ก
การ เล่นของเด็กและของเล่นเด็กแตกต่างกันตามวัยของเด็ก ในบทความนี้ “เด็ก” หมายถึงผู้ที่มีช่วงอายุในวัยเรียนระดับประถมและมัธยมศึกษาตอนต้นเป็นสำคัญ ซึ่งมีอายุระหว่าง 4-15 ปี เป็นกลุ่มเป้าหมายสำหรับสนามเด็กเล่น และเครื่องเล่นในสนามเด็กเล่น ส่วนผู้ที่เป็นเด็ก อายุต่ำกว่า 4 ปี หรือผู้เยาว์ตามกฎหมายอาจมีช่วงอายุที่แตกต่างไป หรืออาจมีการจัดช่วงอายุสำหรับการศึกษาทางด้านจิตวิทยาพัฒนาการหรือทางด้าน การแพทย์ ซึ่งจำแนกช่วงอายุของเด็กวัยต่าง ๆ แตกต่างกันอีกเช่นกัน การจัดหาของเล่นและสนามเด็กเล่นสำหรับเด็กที่เป็นกลุ่มเป้าหมายในวัยนี้ผู้ ที่รับผิดชอบควรมีความรู้ความเข้าในพัฒนาการเด็กในช่วงวัยต่าง ๆ ด้วย ดังตัวอย่างพัฒนาการ การเล่น และของเล่นของเด็กวัย 4- 6 ขวบดังนี้
1. ในระยะนี้เด็กมีการเจริญเติบโตของลำตัวท่อนบนช้า แขนและขายาว มือสั้น เท้าเจริญช้า ควรส่งเสริมให้ กระโดดเชือก เขย่ง ปีนป่าย ฝึกให้เล่นผาดโผน เล่นเกมที่เน้นการควบคุมความเร็วของร่างกาย ประโยชน์ของเครื่องเล่นเด็กจะช่วยพัฒนาความแข็งแรงของกล้ามเนื้อใหญ่ และฝึกทักษะการทำงานของร่างกาย และกล้ามเนื้อ
2. เด็กวัยนี้มีสายตาสามารถมองเห็นไกล ๆ การส่งเสริมให้สายตาและมือทำงานประสานกันได้รวดเร็วและดีขึ้น ควรให้เล่นกับลูกบอลใหญ่ ๆ ที่เบา ๆ ให้โยน เหวี่ยงวิ่งรับ ฝึกให้สายตา มือ เท้า แขน ขา ลำตัวทำงานประสานกันได้ดีขึ้น
3. ธรรมชาติวัยนี้เด็กชายชอบเล่นรุนแรง ผาดโผน ใช้ความเร็วและออกแรงมาก ควรให้เล่นเครื่องเล่นสนาม เช่น โหนชิงช้า โหนราว ไต่เหวี่ยงตัว เครื่องเล่นเด็กจะช่วยฝึกความกล้าหาญ และการตัดสินใจ พัฒนากล้ามเนื้อใหญ่
4. เด็กวัยนี้มีจินตนาการโดยเฉพาะเด็กหญิงชอบสมมติเป็นเรื่องราวแสดงท่าทาง ประกอบเรื่อง หรือเล่นบทบาทสมมติ เช่น เล่นเกี่ยวกับบ้าน พ่อแม่ลูก เกี่ยวกับร้านขายของ ชอบเล่นเลียนแบบ และการเล่นสร้างสรรค์ ชอบท่าทางประกอบเพลงหรือกิจกรรมเข้าจังหวะ เครื่องเล่นเด็กจะช่วยพัฒนาการด้านอารมณ์ สังคม และสติปัญญา
5. เด็กวัยนี้สามารถเล่นและทำงานเป็นกลุ่มใหญ่ได้ ควรให้เล่นเกมเป็นกลุ่มใหญ่ ๆ เช่น มอญซ่อนผ้า ทำตามผู้นำ และให้เล่นเกมแข่งขัน เช่น วิ่งเปี้ยว เป็นต้น เครื่องเล่นสนามที่เหมาะสมได้แก่ ชิงช้า ราวไต่แบบโค้ง บันไดหรือราวโหน ไม้ลื่น ไม้กระดก ไม้กระดานยาว ฝึกทรงตัว อุโมงค์ บ่อทราย เครื่องเล่นเด็กจะช่วยฝึกทักษะการเคลื่อนไหวให้คล่องแคล่ว ฝึกการทรงตัวให้มั่นคง พัฒนากล้ามเนื้อ เป็นต้น
จะเห็นได้ว่าการ ออกแบบและการดูแลจัดการสนามเด็กเล่น เครื่องเล่นสนาม และของเล่นสำหรับเด็กนั้นมีรายละเอียดและองค์ความรู้ที่เกี่ยวข้องกับศาสตร์ หลายสาขา เช่น วิศวกรรมศาสตร์ จิตวิทยาพัฒนาการ พฤติกรรมศาสตร์ และศึกษาศาสตร์เป็นต้น
สรุป
สนามเด็กเล่นเป็นบริเวณ ที่เด็กได้มีโอกาสในการพัฒนาทักษะสำหรับการเป็นมนุษย์ที่ต้องอยู่ร่วมกันใน สังคม และเสริมสร้างพัฒนาการทางด้านร่างกาย ปัญญา จิตใจ อารมณ์ และสังคม การส่งเสริมให้เด็กมีคุณลักษณะที่ดี เพื่อที่จะเป็นเป็นผู้ใหญ่ที่ดีในอนาคตนั้น สนามเด็กเล่นเป็นปัจจัยหนึ่งที่เชื่อว่าสามารถช่วยให้พัฒนาการของเด็กมีความ สมบูรณ์ในทุกด้านได้อย่างดี การหายไปของสนามเด็กเล่น ทำให้เด็กไปอยู่ในร้านเกมหรืออยู่กับเกมออนไลน์ซึ่งจะทำให้ทักษะและพัฒนาการ ที่สำคัญบางด้านของเด็กหายไปเช่นกัน และเมื่อเขาเติบโตเป็นผู้ใหญ่ ก็จะกลายเป็นผู้ใหญ่ที่ไม่สมบูรณ์พร้อมในทุกด้าน โดยเฉพาะอย่างยิ่งทักษะทางสังคม กลายเป็น “คนไม่มีเพื่อน” และ “ไม่มีจิตสาธารณะ” อีกด้วย
...