การหายตัวไปอย่างลึกลับของนายจามาล คาชอกกี นักข่าวคนดังชาวซาอุดีอาระเบีย หากเปรียบกับนิยายแล้ว คงเป็นนิยายแนวฆาตกรรม สืบสวนสอบสวน ที่ซับซ้อนซ่อนเงื่อน ชนิดคนอ่านวางไม่ลง อยากรู้ คาชอกกี หายไปไหน?? เขาถูกฆ่าแล้วจริงหรือ? ทำไมถึงโดนฆ่า? ไปจนถึงใครที่อยู่เบื้องหลังบงการสังหารสุดโหดครั้งนี้?
แต่เรื่องนี้ คงระทึกยิ่งกว่านิยาย เพราะเหตุการณ์ ที่เกิดกับ คาชอกกี เป็นเรื่องจริง และคดีนี้ยังโยงใยไปถึงทางการซาอุดีอาระเบีย และตุรกี โดยมีสหรัฐฯ ซึ่งเป็นชาติพันธมิตรกับซาอุฯ ถูกดึงให้มาเข้าร่วมคลี่คลายคดีนี้อย่างอึดอัด กลืนไม่เข้าคายไม่ออก ในฐานะที่ คาชอกกี ได้ขอลี้ภัยตัวเองไปอยู่ในสหรัฐฯ ตั้งแต่ปีกว่าที่ผ่านมา และเขายังเป็นคอลัมนิสต์ให้กับสื่อชั้นนำทรงอิทธิพลที่สุดในอเมริกา อย่าง วอชิงตัน โพสต์
ท่ามกลางการติดตามข่าวคืบหน้าชะตากรรมของคาชอกกีด้วยความหวั่นวิตกและการเรียกร้องให้ทางการซาอุฯ ชี้แจงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น... นี่คือ ลำดับเรื่องราวเหตุการณ์ที่เกิดกับนักข่าวคนดังวัย 60 ปี หลังจากเขาได้เข้าไปในสถานกงสุงซาอุฯ ในนครอิสตันบูล เมื่อช่วงบ่ายวันที่ 2 ต.ค.61 และนับแต่นั้น ยังไม่กลับออกมาอีกเลย...
...
* ย้อนประวัติ จามาล คาชอกกี
จามาล คาชอกกี นับเป็นนักข่าวคนดังชาวซาอุดีอาระเบีย มีประสบการณ์ทำงานด้านข่าวมาอย่างโชกโชน เป็นทั้งนักข่าว บรรณาธิการ นักจัดรายการโทรทัศน์ รวมทั้งเคยเป็นผู้จัดการและบรรณาธิการ (บก.) ข่าวของสถานีโทรทัศน์ช่อง อัล-อาหรับ นิวส์ แชนแนล และเคยเป็นบก.ข่าวของนสพ.อัล วาตัน (Al Watan) ในซาอุฯ
ตามรายงานของสื่อ Middle East eye คาชอกกี ขอลี้ภัยตัวเองไปอยู่ในสหรัฐฯ เมื่อ มิ.ย.60 หลังเขาถูกเจ้าหน้าที่ซาอุฯเตือนให้หยุดวิพากษ์วิจารณ์นโยบายของมกุฏราชกุมารโมฮัมเหม็ด บิน ซัลมานแห่งซาอุฯ ในขณะที่ คาชอกกีได้วิจารณ์อย่างรุนแรงถึงการจำกัดเสรีภาพของสื่อในโลกอาหรับ รวมถึงการวิพากษ์วิจารณ์เรียกร้องให้รัฐบาลซาอุฯ ปฏิรูปเรื่องต่างๆ ในประเทศ
หลังจากขอลี้ภัยตัวเองไปอยู่ในสหรัฐฯแล้ว คาชอกกี ได้เริ่มเขียนบทความลงในวอชิงตัน โพสต์ ตั้งแต่ ก.ย.60 เป็นต้นมา
*สาเหตุเข้าไปในสถานกงสุลซาอุฯ ที่อิสตันบูล
จามาล คาซอกกี ได้ตัดสินใจเข้าไปในสถานกงสุลซาอุดีอาระเบียในนครอิสตันบูล เมื่อช่วงบ่ายวันที่ 2 ต.ค. ที่ผ่านมา เพราะต้องการไปรับเอกสารหย่ากับอดีตภรรยาคนแรกซึ่งมีบุตรด้วยกัน 1 คน เพื่อนำไปใช้ในการจดทะเบียนแต่งงานใหม่อีกครั้ง กับ ฮาทิเช เชนกิซ คู่หมั้นหญิงชาวตุรกีวัย 36 ซึ่งเขาได้พบกับเธอครั้งแรกในงานสัมมนาที่นครอิสตันบูล เมื่อพ.ค.ปีนี้เอง และทั้งคู่ได้พัฒนาความสัมพันธ์ถึงขั้นคิดจะแต่งงานใช้ชีวิตด้วยกันอย่างถูกต้องตามกฎหมาย
* ขอให้คู่หมั้นรออยู่ด้านหน้าสถานกงสุล
คาชอกกี เดินทางไปสถานกงสุลซาอุฯ ในอิสตันบูล พร้อมกับเชนกิซ คู่หมั้น เพียงแต่ขอให้เธอรออยู่ด้านนอก โดยคาชอกกีได้เดินเข้าไปในสถานกงสุลเพียงลำพัง เมื่อเวลา 13.14 น. ของวันที่ 2 ต.ค. ตามเวลาท้องถิ่น ทว่าเชนกิซ เริ่มรู้สึกถึงความผิดปกติ เมื่อเห็นว่า คาชอกกีเข้าไปในสถานกงสุลนานแล้ว กระทั่งเขาไม่ออกมาอีกเลยนับแต่นั้น
...
*ลำดับเหตุการณ์ จามาล คาชอกกี หายลึกลับ
- 3 ต.ค. รัฐบาลตุรกีออกประกาศคาชอกกีกำลังหายไป เบื้องต้นคิดว่าเขายังอยู่ภายในสถานกงสุลซาอุฯ
- 4 ต.ค. ทางการซาอุฯ ระบุว่า คาชอกกี ออกจากสถานกงสุลซาอุฯ ในอิสตันบูลไปแล้ว
- 7 ต.ค. เจ้าหน้าที่ตุรกีเผยกับบีบีซี เชื่อว่า คาชอกกีถูกฆ่าตายไปแล้วในสถานกงสุล ขณะที่รัฐบาลซาอุฯ ปฏิเสธข้อกล่าวหานี้อย่างสิ้นเชิง
- 13 ต.ค. เจ้าหน้าที่ตุรกีเผยกับนักข่าว บีบีซี ภาษาอารบิก ว่า เจ้าหน้าที่ตุรกีมีเทปบันทึกเสียงและวิดีโอเป็นหลักฐาน คาชอกกีถูกฆาตกรรม
- 15 ต.ค. หลังจากคาชอกกีหายไปนานเกือบ 2 สัปดาห์ ทางการซาอุฯเพิ่งอนุญาตให้ตำรวจตุรกีเข้าไปตรวจสอบเก็บหลักฐานในสถานกงสุล
...
*เผยถูกหั่นเป็นชิ้นๆ ขณะยังมีลมหายใจ
เรื่องราวสุดสะเทือนใจถูกเปิดเผยขึ้นเมื่อ 17 ต.ค. เมื่อสื่อต่างประเทศรายงานอ้างแหล่งข่าว เจ้าหน้าที่ระดับสูงของตุรกี ที่ระบุว่า คาชอกกีถูกสังหารและมีการจัดการแยกช้ินส่วนศพ โดยหลักฐานสำคัญ คือ เทปบันทึกเสียงที่ได้จากนาฬิกาอัจฉริยะ แอปเปิล วอตช์ที่คาชอกกีใส่เข้าไปในสถานกงสุล ซึ่งได้เชื่อมต่อกับโทรศัพท์มือถือ ไอโฟนและบัญชีไอคลาวด์ของคาชอกกี ที่ฝากมือถือไว้กับเชนกิซ คู่หมั้น ที่รออยู่ด้านนอก
แหล่งข่าวเผยว่า คาชอกกีถูกทีมสังหาร 15 คน ที่นั่งเครื่องบินเจ็ตมาลงจอดที่อิสตันบูล ฆ่าตายโดยใช้เวลาเพียง 7 นาที โดยระหว่างนั้น คาชอกกีได้ถูกหั่นเป็นชิ้นๆ ขณะที่เขายังมีลมหายใจอยู่ ได้ยินเสียงเขากรีดร้องลั่นด้วยความเจ็บปวด นอกจากนั้น แหล่งข่าวเจ้าหน้าที่ตุรกียังเผยในเวลาต่อมาว่า มีความเป็นไปได้ที่ชิ้นส่วนร่างกายของคาชอกกี อาจถูกทีมสังหาร สลายด้วยกรดที่มีปฏิกริยาละลายอย่างรวดเร็วมาก จนทำให้บางทีเราอาจค้นหาไม่เจอร่างของเขาอีกเลย
...
*บีบีซีเผย มีเครื่องบินเจ็ตมาอิสตันบูลจริง
บีบีซี รายงานว่า เมื่อเวลา 03.28 น. ของวันที่ 2 ต.ค. ตามเวลาท้องถิ่น มีเครื่องบินเจ็ตส่วนตัวลำหนึ่งซึ่งสงสัยว่านำทีมสังหารจากซาอุฯ เดินทางมาถึงสนามบินนานาชาติอิสตันบูล ก่อนที่เครื่องบินเจ็ตลำที่สองจะมาถึงในช่วงเย็นๆ วันที่ 2 ต.ค.
- 12.13 น. วันที่ 2 ต.ค. มีคลิปวิดีโอ แสดงให้เห็นว่ามีรถสถานทูตหลายคันมายังสถานกงสุล โดยมีการกล่าวหาว่ารถสถานทูตเหล่านี้ได้นำทีมสังหารจากซาอุฯ มาลงมือฆ่าคาชอกกี
- 13.14 น. คาชอกกีเข้าไปในสถานกงสุล
- 15.08 น. รถยนต์หลายคันได้แล่นออกจากสถานกงสุล และมีคลิปขณะรถยนต์แล่นไปยังที่พักของกงสุลซาอุฯ
- 21.00 น. เครื่องบินเจ็ตทั้งสองลำเดินทางออกจากตุรกี
*รัฐบาลทรัมป์ ขอให้ตุรกีส่งเทปหลักฐาน
รัฐบาลประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ แห่งสหรัฐฯ ต้องตกอยู่ในสถานการณ์อึดอัด หลังจากคาชอกกีหายตัวไปอย่างไร้ร่องรอย ถึงแม้ในตอนแรกรัฐบาลทรัมป์ได้เรียกร้องให้ทางการซาอุฯ มิตรประเทศของสหรัฐฯ ชี้แจงในเรื่องนี้ก็ตาม
ประธานาธิบดีทรัมป์ ได้ส่งนายไมค์ ปอมเปโอ รมว.ต่างประเทศสหรัฐฯ เดินทางไปเข้าเฝ้าฯ กษัตริย์ซัลมาน อับดุล อาซิส แห่งซาอุฯ และมกุฎราชกุมาร โมฮัมเหม็ด บิน ซัลมาน เมื่อ 16 ต.ค. ก่อนจะไปพบกับประธานาธิบดีเรเจป ไตยิป แอร์โดอันของตุรกี เพื่อหารือความคืบหน้าในการติดตามคลี่คลายคดีการหายไปอย่างลึกลับของคาชอกกี
ขณะเดียวกัน ทรัมป์ ซึ่งถูกจับตาในท่าทีที่ประนีประนอมต่อซาอุฯ ได้กล่าวกับนักข่าวที่ทำเนียบขาวว่า ตนไม่ได้ปกป้องใครทั้งนั้น สหรัฐฯ ได้ขอตุรกีให้ส่งเทปบันทึกเสียงมาให้สหรัฐฯ ถ้าหากยังมีอยู่ พร้อมทั้งยังบอกว่า กำลังรอรับฟังรายงานสรุปจากนายปอมเปโอ ที่กลับมาจากการเข้าเฝ้าฯกษัตริย์ซัลมาน และมกุฎราชกุมาร โมฮัมเหม็ด บิน ซัลมาน ซึ่งทั้งสองพระองค์ปฏิเสธอย่างหนักแน่นว่าทางการซาอุฯ ไม่มีส่วนรู้เห็น และยังมีพระราชบัญชาให้หน่วยงานซาอุฯ เร่งคลี่คลายคดี และทรงให้คำมั่นจะหาคำตอบชะตากรรมของคาชอกกีให้ได้
*วอชิงตัน โพสต์ลงบทความสุดท้าย เรียกร้องเสรีภาพสื่อโลกอาหรับ
บรรณาธิการในเซกชั่น Global Opinions ของวอชิงตัน โพสต์ สื่อที่ทรงอิทธิพลที่สุดในสหรัฐฯ ได้เขียนบทความว่า ‘ผมได้รับคอลัมน์สุดท้ายนี้จากคนแปลภาษา และผู้ช่วยของจามาล คาชอกกีในวันที่จามาลได้หายไปในอิสตันบูล แต่ทางวอชิงตัน โพสต์ ขอยังไม่ตีพิมพ์ เพราะพวกเราหวังว่า จามาล จะกลับมา ซึ่งเขาและผมจะได้มีการแก้ไขตรวจต้นฉบับด้วยกัน
แต่ตอนนี้ ผมต้องยอมรับว่า เหตุการณ์ที่คิดไว้นั้นจะไม่เกิดขึ้น ด้วยเหตุนี้ นี่คือ บทความสุดท้ายของเขา ที่ผมจะแก้ไขตรวจทานและตีพิมพ์ลงในวอชิงตัน โพสต์ ซึ่งบทความนี้เป็นการเรียกร้องเสรีภาพของสื่อในโลกอาหรับ เสรีภาพที่เขาต้องสละชีวิตเข้าแลก ผมจะขอขอบคุณเขาตลอดไป ที่เลือก วอชิงตัน โพสต์ เป็นบ้านหลังสุดท้ายในการเป็นนักข่าวของเขาในช่วง 1 ปีที่ผ่านมา และทำให้เราได้มีโอกาสได้ทำงานร่วมกัน...’
ข่าวเกี่ยวข้อง