เป็นไปตามโผไม่มีพลิก “เดอะโจ๊ก” พล.ต.ต.สุรเชษฐ์ หักพาล รองผบช.ทท. ได้รับการเสนอชื่อมาเป็น ผบช.สตม. แทน พล.ต.ท.สุทธิพงษ์ วงษ์ปิ่น อดีต ผบช.สตม. ที่ถูกโยกมานั่งเป็น ผบช.น.ด้วยการทำงานถึงลูกถึงคน เกาะติดงาน และสนใจงานความมั่นคงประเทศ เป็นความโดดเด่นที่ถูกวางตัวมาเป็น ผบช.สตม. สานต่อนโยบายรัฐบาล สกัดกั้นต่างด้าวเข้าเมืองผิดกฎหมาย อาชญากรข้ามชาติที่หลบหนีคดี และต่างด้าวที่อยู่เกิน กำหนด
ด้วยวิสัยทัศน์ของคนรุ่นใหม่ไฟแรง ที่ทำงานตามแนวทาง One World One Team หรือตำรวจหนึ่งเดียวทั่วโลก ทำให้ได้รับความร่วมมือในการปราบปรามเครือข่ายคดีคอลเซ็นเตอร์ที่เป็นภัยในหลายประเทศ
ความที่เป็นผู้นำ ชอบทำงานเคียงข้างลูกน้อง และลงลึกในต้นตอของปัญหา เป็นที่คาดหวังของชาวบ้านให้มาดูแลความสงบสุขบ้านเมือง และความมั่นใจของลูกน้องตำรวจที่อยากร่วมในทีมทำงาน
ตั้งแต่สมัยที่เป็น ผบก.ทท. ผบก.สปพ. และรอง ผบช.ทท. นำกำลังปิดล้อมตรวจค้นเป้าหมายคนต่างด้าวเข้าเมืองผิดกฎหมาย กวาดล้างผู้ต้องหารายสำคัญที่มีหมายจับ ประสานงานความร่วมมือหน่วยเอฟบีไอตำรวจสากล และเอกอัครราชทูตในหลายประเทศ ร่วมกันกวาดล้างแก๊งอาชญากรและมาเฟียข้ามชาติรายสำคัญ
การรับตำแหน่ง ผบช.สตม. ประการด่านแรกของเมืองไทย น่าจะพลิกภาพเดิมๆ ทั้งงานด้านความมั่นคง และการบริการนักท่องเที่ยว ซึ่งเป็นรายได้หลักของไทย พล.ต.ต.สุรเชษฐ์ ยึดนโยบาย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ที่ว่า “ต้องสร้างความสมดุลระหว่างสิทธิมนุษยชนและความมั่นคงของชาติ” และ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี บอกว่า “ต้องรักษาความมั่นคงของรัฐและการต่างประเทศ”
...
ภายใต้ยุทธศาสตร์แห่งความมั่นคงที่ “บิ๊กโจ๊ก” ย้ำชัดเจนในการมอบนโยบายให้กับข้าราชการตำรวจในสังกัด บช.สตม. ที่ว่า บทบาทของ สตม. ภารกิจหลัก คือ การควบคุมคนต่างด้าว
การควบคุมคนต่างด้าว ต้องทำ 2 ด้านคืองานมั่นคง และการบริการ
ยึดหลัก “4S1C” Security การรักษาความมั่นคงและความสงบเรียบร้อย Standard มาตรฐานเดียวกันทั่วประเทศและเป็นสากล Service การให้บริการที่ดี Satisfactions การสร้างความประทับใจให้กับชาวต่างชาติ และ Coordinations การสร้างความร่วมมือทั้งในและระหว่างประเทศ
พันธกิจ 4 ด้าน 1.ตรวจสอบคัดกรองชาวต่างชาติหรือคนต่างด้าว ที่จะเข้ามา และอยู่ต่อในประเทศอย่างเข้มข้นและมีประสิทธิภาพ มุ่งสู่การขจัดปัญหาทางสังคม และอาชญากรรมข้ามชาติ 2.ดำเนินการเพื่อรองรับสังคมโลกาภิวัตน์ เชื่อมโยงผู้คนและสังคมโลกแบบไร้รอยต่อ 3.มุ่งสู่ Immigration 4.0 โดยนำเทคโนโลยีมาใช้ในการตรวจสอบ คัดกรองเพื่อการเข้าและขออยู่ต่อในประเทศอย่างถูกต้องและแม่นยำ รวมถึง 4.การให้บริการที่ทันสมัย ซึ่ง พล.ต.ต.สุรเชษฐ์ ให้ความสำคัญงานความมั่นคงเป็นหลัก ตามมาด้วยงานบริการ
มิติ “ด้านความมั่นคง” 1.การสกัดกั้น การป้องกันไม่ให้คนต่างด้าวที่มีพฤติกรรมจะก่ออาชญากรรมเข้าประเทศ การลง Watchlist และ Blacklist รวมทั้งความร่วมมือจากหน่วยงานในประเทศ และต่างประเทศ รวมทั้งอินเตอร์โพล 2.การคัดกรอง คัดกรองคนต่างด้าวที่เสี่ยงจะมาก่ออาชญากรรมไม่ให้เข้าประเทศ ทำให้โอกาสในการก่ออาชญากรรมลดลง และแยกคนไม่ดี ออกจากคนดี การเข้มงวดในการให้วีซ่า เข้มงวดในการตรวจกลุ่มเป้าหมาย ตรวจเอกสารและหลักฐานมากขึ้น ขอข้อมูลส่วนตัวมากขึ้น ทั้งโทรศัพท์ ที่พัก บุคคลอ้างอิง กำหนดกลุ่มเป้าหมาย และวิเคราะห์แนวโน้มเพื่อเพิ่มความเข้มงวดในตรวจคัดกรองและอนุญาตให้เข้าประเทศ
3.การควบคุม เป็นการติดตามคนต่างด้าวให้ทราบถึงการเข้า การอยู่ การทำงาน เพราะเราไม่มีฐานข้อมูลมากนักสำหรับคนต่างด้าว ต่างจากคนไทยซึ่งมีฐานข้อมูลหลายด้านทำให้การติดตามทำได้ง่ายกว่าการแจ้งที่พักอาศัย สามารถควบคุมคนต่างด้าวได้ดีที่สุด สามารถแก้ปัญหา overstay ได้อย่างยั่งยืน สามารถติดตามจับกุมคนต่างด้าวที่ก่อเหตุหรือหนีคดีจากต่างประเทศ การอนุญาตให้อยู่ต่อประเภทต่างๆ
4.การปราบปราม การตรวจ การสืบ การจับกุม คนต่างด้าวที่กระทำผิด รวมทั้งคนไทยด้วย งานสืบสวนของแต่ละ บก.ร่วมกันสืบสวนจับกุม ประสานงานร่วมกับหน่วยงานทั้งในประเทศและต่างประเทศ งานกักตัวคนต่างด้าวและการส่งตัวกลับ 5. การยับยั้ง การยับยั้งการออกนอกประเทศของคนต่างด้าวที่กระทำความผิด หรือคนไทยที่มีคดีหรือกระทำความผิดออกนอกประเทศ เช่น กลุ่มคนจีนที่ลักอัญมณีจากงานโชว์ต่างๆ แล้วจะรีบเดินทางหนีออกนอกประเทศทันที ประสานข้อมูลหน่วยงานในประเทศ โดยให้มีช่องทางเร่งด่วนในการประสานงานเพื่อยับยั้งการเดินทางออกนอกประเทศ 6.งานด้านข้อมูล สนับสนุนข้อมูลเพื่อการป้องกันปราบปรามและการวิเคราะห์ ระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ
...
มิติ “ด้านการบริการ” 1.การอำนวยความสะดวกคนเดินทางเข้าออกประเทศ คนเข้าออกประเทศได้สะดวกรวดเร็ว แต่อยู่บนพื้นฐานของความมั่นคง สนามบินสุวรรณภูมิ กับสนามบินดอนเมือง คือ พื้นที่เป้าหมายหลัก 2. การอำนวยความสะดวกในการขออยู่ต่อของคนต่างด้าว 3. การช่วยเหลือคนต่างด้าวที่ประสบเหตุต่างๆ ในด้านการอยู่และการเข้าออกประเทศ
พล.ต.ต.สุรเชษฐ์ หักพาล รรท.ผบช.สตม. กล่าวกับ “ทีมข่าวอาชญากรรม” ว่า “1.สนามบินเป็นจุดใหญ่ที่ประชาชนและผู้บังคับบัญชาให้ความสำคัญ ต้องเน้นก่อนความมั่นคงในการคัดกรอง ความรวดเร็ว สร้างความมั่นใจให้ประชาชน
นักท่องเที่ยว สร้างความประทับใจ 2. ภารกิจการสกัดกั้นและการคัดกรองมีความสำคัญมาก เพราะถ้าสามารถทำได้ดีโอกาสที่อาชญากรต่างชาติจะเข้ามาก่อเหตุจะน้อยลง ตามมาด้วยการปรับปรุงพัฒนา การแจ้งที่พักอาศัยให้ดีขึ้น จะควบคุมคนต่างด้าวตามภารกิจของ สตม.ได้อย่างสมบูรณ์ 3.ระบบคอมพิวเตอร์ยังไม่มีประสิทธิภาพมากเท่าที่มีอยู่ PIBICS เป็นโปรแกรมที่ออกแบบมาสำหรับการเก็บข้อมูล ทำให้ระบบทำการวิเคราะห์ได้ไม่มีประสิทธิภาพ และยังไม่ครอบคลุมทุกข้อมูล 4.ระบบ Bio matrix น่าจะไม่เกิดประสิทธิภาพเท่าที่ควร หรืออาจเป็นปัญหาในอนาคต”
...
“5.ฐานข้อมูลหมายแดง ตำรวจสากล ยังไม่ได้มีการเชื่อมต่อ ซึ่งจะมีประโยชน์ต่อการจัดการคนต่างด้าวตามหมายแดงได้เป็นอย่างดี แต่ต้องมีการอัปเดตข้อมูลหมายแดงเป็นประจำ เพราะบางครั้งหมายแดงถูกยกเลิกจากระบบตำรวจสากลแล้ว แต่จะค้างอยู่ในระบบ สตม.ได้ 6.การเชื่อมความสัมพันธ์ที่ดีกับสถานเอกอัครราชทูตต่างๆ มีความสำคัญมาก ทั้งภาพลักษณ์ที่ออกไปทั่วโลก และการประสานข้อมูลอาชญากรรมต่างๆ รวมไปถึงการร้องขอสิทธิประโยชน์บางอย่าง 7.การแก้ไขระเบียบการเก็บเงินค่าล่วงเวลาจากคนผ่านเข้าออกด่าน ของด่านชายแดน ซึ่งระเบียบปี 2523 ให้เก็บคนละ 5 บาท ฝอ.7 พยายามยกร่างแก้ระเบียบใหม่ให้เพิ่มจำนวนเงินมากขึ้นให้เหมาะกับเศรษฐกิจในปัจจุบัน 8. ส่วนแบ่งรายได้จากการท่าในการเก็บเงินจากผู้โดยสารเพิ่มเพื่อเป็นค่าการดำเนินการระบบ APPS คนละ 10 บาท ซึ่งต้องให้ สตม.ตรวจสอบบัญชีบุคคลชาวต่างชาติที่ถูกจับตา”
เป็นนโยบายที่ พล.ต.ต.สุรเชษฐ์ ว่าที่ ผบช.สตม.ใช้ในภารกิจควบคุมคนต่างด้าวที่ทำผิดกฎหมายต่างด้าวอยู่เกินกำหนด ซึ่งมีผลต่อภาพลักษณ์การท่องเที่ยวไทย และความมั่นคงภายในประเทศไทย.
...
ทีมข่าวอาชญากรรม