สดร.และ ม.เชียงใหม่ ร่วมมือศึกษาวิจัยดาราศาสตร์และวิทยาศาสตร์ขั้วโลก พัฒนาเครื่องมือและอุปกรณ์เพื่อศึกษาผลกระทบของรังสีคอสมิก โดยส่งนักดาราศาสตร์ร่วมลงเรือสำรวจไปแอนตาร์กติกาช่วง พ.ย.61...
สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ สดร. ร่วมกับ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ แถลงข่าวโครงการความร่วมมือศึกษาวิจัยดาราศาสตร์และวิทยาศาสตร์บรรยากาศขั้วโลก มี รศ.บุญรักษา สุนทรธรรม ที่ปรึกษาสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ รศ.ดร.สัมพันธ์ สิงหราชวราพันธ์ รองอธิการบดีมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ดร.วราภรณ์ นันทิยกุล หัวหน้าโครงการวิจัยการสำรวจตัดข้ามละติจูด และนายพงษ์พิจิตร ชวนรักษาสัตย์ นักดาราศาสตร์ สดร. ร่วมแถลงความคืบหน้าล่าสุด
ที่ปรึกษา สดร. กล่าวว่า โครงการความร่วมมือศึกษาวิจัยดาราศาสตร์และวิทยาศาสตร์ขั้วโลกครั้งนี้ เริ่มต้นในปี 2556 สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงมีพระราชประสงค์ให้ประเทศไทยศึกษาวิจัยดาราศาสตร์และวิทยาศาสตร์บรรยากาศบริเวณขั้วโลกร่วมกับสาธารณรัฐประชาชนจีน และมอบหมายให้ สดร.ประสานงานโครงการดังกล่าวร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จนกระทั่งวันที่ 6 เมษายน 2559 สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ เสด็จเป็นประธานในพิธีลงนามความร่วมมือระหว่าง สดร. กับสถาบันวิจัยขั้วโลกแห่งจีน (Polar Research Institute of China : PRIC) ณ กรุงปักกิ่ง สาธารณรัฐประชาชนจีน และได้เข้าร่วมเป็นสมาชิกคณะกรรมการด้านวิทยาศาสตร์เพื่อศึกษาวิจัยขั้วโลกใต้ (Scientific Committee on Antarctic Research : SCAR) อย่างเป็นทางการในปีเดียวกัน สำหรับขั้วโลกใต้เป็นพื้นที่ที่ท้าทายทั้งสภาพอากาศและภูมิประเทศ เป็นโจทย์ยากที่นำไปสู่การพัฒนานวัตกรรมและเทคโนโลยีเพื่อให้สามารถปฏิบัติงานได้ ตามเป้าหมายของสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ ที่มุ่งพัฒนากำลังคนด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีขั้นสูงของประเทศอีกด้วย
...
ด้าน รองอธิการบดี ม.เชียงใหม่ กล่าวว่า โครงการวิจัยการสำรวจตัดข้ามละติจูด เป็นความร่วมมือระหว่าง สดร. และ มช. ส่งข้อเสนอต่อสถาบันวิจัยขั้วโลกแห่งจีนในปี 2561 เพื่อศึกษาผลกระทบของรังสีคอสมิกต่อโลก และได้รับอนุมัติให้นำตู้คอนเทนเนอร์ติดตั้งบนเรือสำรวจวิจัย “เชว่หลง” (Xue Long) หรือ “เรือมังกรหิมะ” ออกเดินทางเก็บข้อมูลจากเมืองเซี่ยงไฮ้ สาธารณรัฐประชาชนจีน ไปยังสถานีวิจัยจงซาน (Zhongshan) ตั้งอยู่บริเวณชายฝั่งของทวีปแอนตาร์กติกา
รศ.ดร.สัมพันธ์ กล่าวต่อว่า สำหรับตู้คอนเทนเนอร์ติดตั้งเครื่องตรวจวัดนิวตรอน เพื่อใช้ในการวิจัยชื่อว่า “ช้างแวน” (Changvan) ได้รับความร่วมมือจากอีกหลายหน่วยงานทั้งภายในและนอกประเทศ อาทิ มหาวิทยาลัยมหิดล มหาวิทยาลัยเดลาแวร์และมหาวิทยาลัยวิสคอนซิน ริเวอร์ฟอลส์ สหรัฐอเมริกา มหาวิทยาลัยชินชู ประเทศญี่ปุ่น ภายในติดตั้งเครื่องตรวจวัดนิวตรอน มีระบบควบคุมอุณภูมิภายในให้คงที่ และห้องควบคุมที่ใช้อิเล็กทรอนิกส์และซอฟต์แวร์ที่พัฒนาขึ้นใหม่ นับเป็นเรื่องที่น่ายินดีที่ได้ร่วมมือกับ สดร. พัฒนาความรู้ความสามารถของคนไทย และเป็นส่วนหนึ่งของงานวิจัยระดับโลก
...
ส่วน ดร.วราภรณ์ นันทิยกุล หัวหน้าโครงการวิจัยการสำรวจตัดข้ามละติจูด กล่าวว่า ความคาดหวังของการศึกษาวิจัยในครั้งนี้คือผลลัพธ์ที่เป็นองค์ความรู้ใหม่ด้านฟิสิกส์ดาราศาสตร์ โครงการนี้มีแผนดำเนินการเก็บข้อมูลและศึกษาสเปกตรัมของรังสีคอสมิกในช่วงกว้างของค่าความแข็งแกร่งตัดที่เรือตัดน้ำแข็งเคลื่อนที่ผ่านในปี 2561-2562 ผลการวิจัยครั้งนี้จะนำมาเปรียบเทียบและยืนยันกับผลวิจัยครั้งก่อนหน้านี้ที่ได้สำรวจในลักษณะเดียวกัน จะทำให้เข้าใจสนามแม่เหล็กโลกที่เชื่อมโยงกับสภาพอวกาศได้มากขึ้น นอกจากนี้ยังคาดหวังให้ดำเนินการอย่างต่อเนื่องในทุกปี เนื่องจากต้องสังเกตการณ์จุดมืดบนดวงอาทิตย์ ซึ่งมีวัฏจักรประมาณ 11 ปี และขั้วสนามแม่เหล็กของดวงอาทิตย์ที่มีวัฏจักรประมาณ 22 ปี
หัวหน้าโครงการวิจัยการสำรวจตัดข้ามละติจูด กล่าวอีกว่า หากสร้างเครือข่ายในระดับสากลกับกลุ่มวิจัย ที่จัดหาเรือตัดน้ำแข็งได้ ก็จะสร้างผลงานวิจัยอย่างต่อเนื่อง เพื่อศึกษาการเปลี่ยนแปลงของจุดมืดบนดวงอาทิตย์ และการเปลี่ยนขั้วของสนามแม่เหล็กของดวงอาทิตย์ นอกจากนี้ยังได้พัฒนานวัตกรรมใหม่ทางด้านอิเล็กทรอนิกส์ของหัววัดนิวตรอนจากอวกาศควบคู่กันไป หากทำสำเร็จกลุ่มวิจัยวางแผนนำมาใช้จริงในการสำรวจครั้งถัดไปอีกด้วย
...
ขณะที่ นายพงษ์พิจิตร ชวนรักษาสัตย์ หนึ่งเดียวของนักดาราศาสตร์ไทย จากสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ ผู้ร่วมเดินทางไปขั้วโลกใต้ กล่าวว่า รู้สึกดีใจและเป็นเกียรติอย่างยิ่งที่ได้รับเลือกให้เดินทางไปกลุ่มวิจัยขั้วโลกในครั้งนี้ นอกจากจะได้เป็นส่วนหนึ่งของการสร้างองค์ความรู้ใหม่ ยังเป็นประโยชน์และเป็นแรงบันดาลใจให้กับนักศึกษาในระดับปริญญาตรี ปริญญาโท และปริญญาเอกที่มีศักยภาพ และในอนาคตอาจเปิดโอกาสให้นักศึกษาไทยได้ร่วมเดินทางไปแอนตาร์กติกากับทีมสำรวจ รวมถึงได้พัฒนาเทคโนโลยีใหม่ที่เป็นประโยชน์ต่อการศึกษาวิจัยอีกด้วย
โครงการฯ มีกำหนดส่งคอนเทนเนอร์ช้างแวนที่เสร็จสมบูรณ์ไปยังเซี่ยงไฮ้ในวันที่ 4 ตุลาคม 2561 เรือสำรวจวิจัยมีกำหนดเดินทางออกจากเมืองเซี่ยงไฮ้ สาธารณรัฐประชาชนจีนไปยังทวีปแอนตาร์กติกา ในวันที่ 10 พฤศจิกายน 2561 และจะเดินทางกลับสู่เมืองเซี่ยงไฮ้อีกครั้งในวันที่ 10 เมษายน 2562 รวมระยะเวลาการเดินทางทั้งหมด 5 เดือน.