นักวิจัยไทยคิดค้นระบบควบคุม อุณหภูมิ ความชื้น แสงสว่าง และก๊าซคาร์บอน แบบอัตโนมัติ ใช้กับโรงเพาะเห็ดถั่งเช่า ได้เป็นผลสำเร็จ สร้างรายได้ให้เกษตรกรผู้เพาะเห็ดถั่งเช่าได้เป็นกอบเป็นกำ ที่สำคัญยังคว้ารางวัลเหรียญทองและรางวัลพิเศษของสมาคมโรมาเนีย เพื่อเทคโนโลยีแผนใหม่ บูคาเรสต์ ในงานอินเตอร์เนชั่นแนล วอร์ซอ ครั้งที่ 11 สร้างชื่อเสียงให้กับประเทศไทยอีกด้วย

นักวิจัยมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี ที่คิดค้นระบบควบคุมโรงเรือนเพาะเห็ดถั่งเช่าแบบอัตโนมัติ เป็นผลสำเร็จ เปิดเผยขึ้นเมื่อวันที่ 8 ก.ย. นายจักรี ศรีนนท์ฉัตร นักวิจัยและอาจารย์คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล (มทร.) ธัญบุรี เปิดเผยว่า จากการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับการเพาะเห็ดถั่งเช่าพบว่า โรงเพาะเห็ดถั่งเช่าเดิมมีข้อจำกัดในการผลิตค่อนข้างมาก ทั้งยากต่อการควบคุมความชื้น อุณหภูมิ แสงสว่าง และก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ส่งผลให้เห็ดตาย ติดเชื้อรา ผลผลิตลดลง ด้วยเหตุนี้จึงได้วิจัยและออกแบบ ระบบควบคุมโรงเพาะเห็ดถั่งเช่าแบบอัตโนมัติขึ้น โดยมีขนาด 10 ตารางเมตร สามารถบรรจุเห็ดถั่งเช่าได้อย่างน้อย 3,000 ขวด ประกอบด้วยห้องควบคุมความเย็น ทำจากวัสดุเก็บความเย็นที่มีความหนาอย่างน้อย 50 มม. ภายในโรงเพาะเห็ดถั่งเช่า มีชุดทำความเย็นพร้อมอุปกรณ์เซ็นเซอร์วัดอุณหภูมิและความชื้น ตรวจวัดและควบคุมการทำงานของชุดทำความเย็นสลับการทำงานได้ อีกทั้งมีระบบกรองอากาศด้วยแผ่นกรองอากาศชนิดกรองอากาศพร้อมกรองคาร์บอน และชุดควบคุมปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ โดยการดูดออกภายนอกห้อง สามารถตั้งเวลาเปิด-ปิดได้ พร้อมระบบควบคุมความเร็วเครื่องดูดอากาศ

อาจารย์ มทร.ธัญบุรี กล่าวว่า อุปกรณ์ภายในของโรงเพาะเห็ดถั่งเช่า สามารถตรวจวัดและบันทึกค่าต่างๆ ได้ รวมถึงแจ้งเตือนไปยังมือถือ การทำงานมีอยู่ 2 โหมด คืออัตโนมัติและกึ่งอัตโนมัติ ซึ่ง 2 โหมดนี้สามารถตั้งค่าอุณหภูมิ ความชื้นและระบบฆ่าเชื้อ มีการตั้งค่าต่างๆไว้ในคอมพิวเตอร์ โดยที่ปั๊มน้ำและเครื่องทำความเย็นสามารถทำงานร่วมกันได้ อีกทั้งยังมีดาต้าล็อกเกอร์ในการจัดเก็บข้อมูล สามารถดูข้อมูลต่างๆ เช่น ความชื้น อุณหภูมิ เวลาเปิด-ปิดเครื่องทำความเย็นย้อนหลังได้ ปัจจุบันระบบควบคุมสำหรับโรงเพาะเห็ดถั่งเช่าแบบอัตโนมัติไปติดตั้งใช้งานจริงในฟาร์มเพาะเห็ดถั่งเช่า ชุมชนวิหารแดง ณ ฟาร์มเห็ดลุงหยุด อ.วิหารแดง จ.สระบุรี

...

นายจักรีกล่าวอีกว่า เห็ดถั่งเช่าที่เพาะได้พบว่ามีความสมบูรณ์ มีสาร Corducepin, Adenosine และ Polysaccharides เพิ่มขึ้น รวมถึงอัตราการเติบโตของจำนวนเห็ดถั่งเช่ามีอัตราการเติบโตมากขึ้นเมื่อเทียบกับพื้นที่การปลูกแบบเดิม และอัตราการตายที่ลดลงอย่างเห็นได้ชัด ซึ่งส่งผลให้เกษตรกรผู้เพาะเลี้ยงสามารถผลิตผลิตภัณฑ์ ได้มากขึ้น อย่างไรก็ตาม เมื่อเร็วๆนี้ตนได้นำผลงานวิจัยชิ้นนี้เข้าร่วมแสดงในงานอินเตอร์เนชั่นแนล วอร์ซอ ครั้งที่ 11 ปรากฏว่า สามารถคว้ารางวัลเหรียญทอง และรางวัลพิเศษจากสมาคมโรมาเนียเพื่อเทคโนโลยีแผนใหม่ บูคาเรสต์ ประเทศโรมาเนีย ถือเป็นการการันตีผลงานวิจัยชิ้นนี้ได้เป็นอย่างดี