พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รองนายกรัฐมนตรี กล่าวในการแถลงข่าวครบรอบ 1 ปีการเพิ่มประสิทธิภาพในกระบวนการพิจารณาอนุญาตผลิตภัณฑ์สุขภาพ ว่า การแก้ไขร่าง พ.ร.บ.ยาฯฉบับใหม่แทน พ.ร.บ.ยาฯ พ.ศ. 2510 นายกรัฐมนตรีย้ำเสมอว่าต้องมุ่งสู่ประโยชน์ของประชาชนเป็นสำคัญ และขอย้ำว่าการแก้ไขร่าง พ.ร.บ.ยาฯไม่ได้ทำเพื่อเอื้อนายทุน แต่จะมุ่งที่ประชาชน สิ่งที่คนวิพากษ์วิจารณ์ไม่ได้อยู่บนพื้นฐานบนความถูกต้องเลย
เมื่อถามว่าร่าง พ.ร.บ.ยาฯฉบับใหม่มีข้อไหนที่ทำให้เกิดความเชื่อว่าจะไปเอื้อร้านสะดวกซื้อ หรือนายทุนหรือไม่ นพ.วันชัย สัตยาวุฒิพงศ์ เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) กล่าวว่า ใน พ.ร.บ.ยาฯปัจจุบันรวมถึง กฎกระทรวงที่เกี่ยวข้อง ระบุชัดว่าการเปิดร้านขายยา ไม่ว่าจะเป็นร้านเฉพาะ หรือเป็นชั้นวาง ต้องมีเภสัชกรเท่านั้น ส่วนปัญหาเรื่องระหว่างวิชาชีพ กรณีพยาบาลทำงานในโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) ต้องจ่ายยาตามแพทย์สั่ง จึงอยากให้ อย.มีกฎหมายรองรับการจ่ายยาของพยาบาลใน รพ.สต.โดยให้อยู่ใน พ.ร.บ.ยาฯฉบับใหม่ ศ.นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รมว.สาธารณสุข กล่าวว่า ไม่มีประเทศไหนใช้ พ.ร.บ.ยาฯถึง 51 ปีโดยไม่แก้ไขทั้งนี้ขอย้ำว่าในร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ไม่มีบอกว่าวิชาชีพไหนจ่ายได้ไม่ได้ ยังต้องออกกฎกระทรวงอีก ดังนั้น อย่าตีตนไปก่อนไข้ รวมทั้งคนที่ไปออกในโซเชียลมีเดียที่ไม่ได้รับผิดชอบอะไร แต่รัฐบาล สธ.ต้องรับผิดชอบในทุกอย่างเพราะเป็นกฎหมาย และขอย้ำว่าทั้งหมดเพื่อประโยชน์ของประชาชน ดังนั้น อย่าสร้างความขัดแย้งกันเลย
ภก.กิตติ พิทักษ์นิตินันท์ อดีตนายกสภาเภสัชกรรม เปิดเผยว่า ขณะนี้กังวลว่าการแก้ไขร่าง พ.ร.บ.ยาฯฉบับใหม่ ที่แม้จะมีการปรับแก้แล้วแต่ก็ยังซ้ำรอยเดิม โดยเฉพาะในประเด็นที่เปิดให้วิชาชีพอื่นสามารถจ่ายยาได้ ซึ่งเป็นเรื่องที่ไม่ถูกต้องไม่เป็นไปตามมาตรฐานสากล และอาจเกิดความไม่ปลอดภัยกับผู้ป่วย.
...