กรมชลฯ ย้ำการอยู่ร่วมกับชุมชน ผนึก กรมประมง ส่งเสริมคนรอบอ่างเก็บน้ำ เลี้ยงปลา ทั้งใช้บริโภค จับไปขายสร้างรายได้ในครอบครัว ภายใต้กฎระเบียบที่วางไว้ ห้ามใช้เครื่องมือต้องห้าม...

นายมหิทธิ์ วงศ์ษา นักวิชาการสิ่งแวดล้อมชำนาญการ (ส่วนสิ่งแวดล้อม) สำนักบริหารโครงการ กรมชลประทาน กล่าวว่า การปล่อยพันธุ์ปลาและสัตว์น้ำเศรษฐกิจลงในอ่างเก็บน้ำ เช่น ปลา กุ้ง เพื่อให้ประชาชนได้จับกินและประกอบอาชีพ เป็นนโยบายของกรมชลประทานที่สอดคล้องกับการอยู่ร่วมกันกับชุมชน โดยสร้างความเข้มแข็งให้ความมั่นคงแก่ชีวิตของชาวบ้าน เพราะมีหลายชีวิตต้องกิน ต้องอยู่ ต้องมีลมหายใจอยู่รอบๆ อ่างเก็บน้ำทุกแห่ง ซึ่งต้องดูตั้งแต่ต้นน้ำ-ท้ายน้ำ และเมื่อสร้างอ่างเก็บน้ำแล้ว ถือเป็นโชคดีที่ในประเทศไทยไม่ค่อยพบสัตว์น้ำที่ผิดปกติหรือเป็นปัญหา

“ก่อนจะปล่อยสัตว์น้ำแต่ละครั้ง ต้องศึกษาระบบนิเวศว่าก่อนสร้างอ่างเก็บน้ำ มีสัตว์น้ำอะไรอยู่บ้าง เมื่อศึกษาสำรวจเสร็จ จะปล่อยพันธุ์ปลาเศรษฐกิจเข้าไป ด้วยพื้นที่อ่างเก็บน้ำค่อนข้างใหญ่ ปลาที่ปล่อยคือปลาเศรษฐกิจ ชาวบ้านก็จะเอาไปบริโภคภายในครัวเรือน จับได้มากก็นำไปค้าขาย เท่าที่ผ่านมาจึงยังไม่พบปัญหา และแม้ปลาในอ่างเก็บน้ำจะสร้างรายได้ เลี้ยงปากเลี้ยงท้องได้ แต่ต้องมีกฎระเบียบพอสมควร เช่น ช่วงน้ำแดง มีกฎห้ามจับสัตว์น้ำโดยเครื่องมือบางประเภท ทุกอ่างเก็บน้ำมีกฎเหมือนกันซึ่งออกโดยกรมประมง”

นอกจากนี้ กรมประมง ยังเข้ามาช่วยดูแลส่งเสริมการเลี้ยงปลาในพื้นที่ เช่น มอบพันธุ์ปลา รวมถึงควบคุมดูแลไม่ให้ทำผิดกฎหมาย ลักลอบใช้เครื่องมือต้องห้าม ซึ่งกรมชลประทานเป็นผู้สนับสนุนงบประมาณให้แก่กรมประมงเพื่อดำเนินการ ถือเป็นการทำงานร่วมกันระหว่าง 2 หน่วยงาน และสร้างความยั่งยืนทั้งด้านสิ่งแวดล้อมและคุณภาพชีวิตคนรอบอ่างเก็บน้ำ ซึ่งส่วนมากประกอบอาชีพทำประมงน้ำจืด หารายได้เลี้ยงครอบครัว.

...