ในช่วงตั้งครรภ์การดูแลรักษาตนเองให้มีสุขภาพแข็งแรงเป็นสิ่งสำคัญ เพราะหมายถึงสุขภาพของเจ้าตัวน้อยจะได้แข็งแรงตามไปด้วย แต่ถ้าคุณแม่เกิดเป็นโรค APS ขึ้นมาจะเป็นอย่างไร โรค APS มีอาการอย่างไร สามารถรักษาได้หรือไม่ 

โรค APS ในแม่ท้องเสี่ยงแท้งลูกได้

โรค APS สามารถพบได้ทุกไตรมาสของการตั้งครรภ์ ทำให้การตั้งครรภ์ผิดปกติ การเจริญของทารกในครรภ์ต่ำกว่าปกติ การเกิดภาวะครรภ์เป็นพิษได้ โดยที่ในช่วงต้นของการตั้งครรภ์ อาจทำให้เกิดการแท้งโดยไม่ทราบสาเหตุ หรือในไตรมาสสุดท้ายของการตั้งครรภ์อาจทำให้ทารกคลอดก่อนกำหนดได้ อีกทั้งยังพบข้อมูลว่าอัตราการสูญเสียทารกในแม่ที่ไม่ได้รับการรักษาสูงถึง 90% มาทำความรู้จักกับโรค APS กันค่ะ

โรค APS คืออะไร

โรค APS หรือ Antiphospholipid Antibody Syndrome (โรคลิ่มเลือดอุดตัน) เป็นกลุ่มอาการที่มีความผิดปกติของระบบภูมิคุ้มกัน เป็นสาเหตุทำให้เกิดการอุดตันของเส้นเลือด ซึ่งอาจเป็นที่เส้นเลือดแดงหรือเส้นเลือดดำก็ได้

ถ้าพบโรคนี้ในหญิงตั้งครรภ์ อาจทำให้เกิดการแท้งลูก ภาวะทารกโตช้าในครรภ์ตั้งแต่อายุครรภ์ยังน้อยๆ นอกจากนี้อาจทำให้เกิดการคลอดก่อนกำหนด หรือทารกเสียชีวิตในครรภ์ได้

สาเหตุการเกิด APS

สาเหตุของการเกิด APS ยังไม่ทราบแน่ชัด สามารถพบโรคนี้ได้ 2-4% ของคนทั่วไป แต่สันนิษฐานกันว่าอาจเป็นผลของ Antiphospholipid Antibody ต่อเยื่อบุชั้นในของเกล็ดเลือด หรือส่วนประกอบการแข็งตัวของเลือด ทำให้เกิดความผิดปกติของผนังด้านในของหลอดเลือด โดยมีภูมิคุ้มกันในร่างกายมาเป็นตัวกระตุ้น ทำให้เกิดหลอดเลือดอุดตัน ความผิดปกตินี้มักเกิดตามหลังจากมีการติดเชื้อภายในร่างกาย

...

อาการโรค APS หรือ Antiphospholipid Antibody Syndrome 

มีอาการขาบวมมากกว่าปกติ อาจจะบวมข้างเดียว หรือบวมทั้งสองข้างก็ได้ ซึ่งอาการบวมนี้แสดงว่าอาจมีการอุดตันเกิดขึ้น

มีอาการปวดขามาก เดินไม่ไหว คือ ปกติแม่ท้องจะมีอาการขาบวมอยู่แล้ว แต่จะไม่ปวด กดแล้วปวด เมื่อเอามือกดบริเวณตำแหน่งที่บวมแดง จะรู้สึกปวดมาก
การมีลิ่มเลือดก็เหมือนเส้นเลือดมีก้อนเล็กๆ มาขวาง หากลิ่มเลือดก้อนนี้หลุดออกไปอุดเส้นเลือดใหญ่ภายในร่างกาย เช่น ไปอุดหลอดเลือดที่ปอด พบได้ประมาณร้อยละ 15-25 เมื่อไปอุดแล้วจะทำให้ปอดเกิดภาวะขาดออกซิเจน และมีโอกาสเสียชีวิตอย่างเฉียบพลัน ประมาณร้อยละ 12-15

การตรวจวินิจฉัย โรคลิ่มเลือดอุดตัน คนท้อง

ขั้นตอนการตรวจวินิจฉัยสำคัญมาก ซึ่งปัจจุบันมีเทคโนโลยีที่ทันสมัย และไม่เป็นอันตรายกับแม่ท้อง คือ การทำดอปเลอร์ อัลตราซาวนด์ เป็นการตรวจการไหลเวียนเลือดด้วยคลื่นเสียงความถี่สูง ทำให้เห็นการไหลเวียนของเลือดว่าไหลช้าหรือไม่ มีการอุดตันหรือไม่ ซึ่งมีความไวในการวินิจฉัย 95% และมีความแม่นยำถึง 99% เมื่อตรวจวินิจฉัยแล้วพบว่า มีแนวโน้มของโรค สิ่งที่จะต้องทำต่อไป คือ หาสาเหตุของการเกิดโรคด้วยเสมอเพื่อรักษาที่ต้นเหตุ

การรักษา APS

เมื่อคุณแม่เกิดเป็นโรคนี้ขณะที่กำลังตั้งครรภ์อยู่นั้น วิธีการรักษาคือ การให้ยาละลายลิ่มเลือด ซึ่งยาละลายลิ่มเลือดมีทั้งยาฉีด และยากิน

ยาฉีด ข้อควรระวังคือ ต้องอยู่ในความควบคุม และการดูแลของแพทย์ ห้ามฉีดเอง แต่ก็มีข้อดี คือ ยาฉีดเป็นยาที่ไม่ผ่านน้ำนม และไม่ผ่านรก เพราะฉะนั้นไม่มีผลกับลูก มีความปลอดภัย

ยากิน ต้องระมัดระวัง เพราะตัวยาจะผ่านน้ำนม และผ่านรก ซึ่งระหว่างตั้งครรภ์จะไม่ให้กินในช่วง 3 เดือนแรก เพราะยาละลายลิ่มเลือดบางชนิด ถ้ายังกินในขณะตั้งครรภ์อาจส่งผลให้ลูกพิการได้

เมื่อทราบข้อมูลเช่นนี้แล้ว สำหรับคุณแม่ที่เคยมีประวัติเป็นโรคนี้มาแล้วในท้องที่แล้ว หรือมีประวัติเป็นลิ่มเลือดอุดตันที่ขามาก่อน หรือมีประวัติอุดตันที่ปอด ถ้าเริ่มตั้งครรภ์ ก็ควรรีบปรึกษาแพทย์ทันทีนะคะ เพื่อป้องกันไว้ก่อนค่ะ.