จากที่กระทรวงคมนาคมได้เร่งดำเนินการตามนโยบายของรัฐบาล ในการก่อสร้างรถไฟฟ้าหลากสี ทั้งสายสีส้ม-สายสีเขียว-สายสีเหลือง-สายสีแดง และสายสีน้ำเงิน ทุกทิศทั่วกรุงเทพมหานคร จนส่งผลให้เกิดปัญหาจราจรติดขัดแบบไม่มีทางไป เป็นใยแมงมุมเดดล็อกในทุกเส้นทาง

ติดหนึบจนท่านผู้นำ “พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา” นายกรัฐมนตรี ซึ่งปกติไปไหนมาไหนมีรถขบวน ต้องเอ่ยปากสั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะกองบัญชาการตำรวจจราจร (บก.จร.)ในฐานะเป็นผู้ปฏิบัติ และกระทรวงคมนาคม โดยสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) ผู้ทำแผน เร่งหาทางแก้ปัญหารถติดให้หมดไปภายใน 3 เดือน

แน่นอนเมื่อนโยบายเคาะออกมา หน่วยงานที่เกี่ยวข้องย่อมนั่งไม่ติด ล่าสุด “นายชัยวัฒน์ ทองคำคูณ” ผอ.สนข. กล่าวยอมรับว่า ไม่ได้นิ่งนอนใจ เพราะปัญหารถติดทั่วกรุงเทพมหานครขณะนี้นั้น เกิดขึ้นจริงและมีผลสืบเนื่องมาจากที่กระทรวงคมนาคมเร่งดำเนินการก่อสร้างรถไฟฟ้าหลากหลายสีพร้อมๆกันทุกสาย พื้นที่เดิมที่เป็นพื้นที่จราจร ก็ถูกผลักไปเป็นพื้นที่ก่อสร้างรถไฟฟ้าโดยอัตโนมัติ

อย่างไรก็ตาม ยอมรับว่าปัญหาจราจรติดขัด อาจแก้ไขไม่ได้หมดสิ้นเสียทีเดียว แต่จะพยายามบรรเทาปัญหาให้เบาบางลงได้

โดยขณะนี้มีแนวทางที่นำมาปฏิบัติจริง 5 แนวทางด้วยกัน ประกอบไปด้วย 1.ปรับเปลี่ยนเส้นทางรถเมล์โดยสารประจำทางในชั่วโมงเร่งด่วน เช้าและเย็น ในเส้นทางที่มีการก่อสร้างรถไฟฟ้า ให้มีการเดินทางย่นระยะเวลาและเลี่ยงเส้นทางก่อสร้าง เช่น เส้นทางก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีส้ม ที่มีรถเมล์สาย 168 วิ่งให้บริการจากมีนบุรี-อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ เดิมต้องวิ่งผ่านรามคำแหง-พระราม 9 ในช่วงชั่วโมงเร่งด่วนจะวิ่งตัดเส้นทางออกวงแหวนตะวันออกหมายเลข 9 เข้าพระราม 9 มาอนุสาวรีย์ เป็นต้น ซึ่งการให้บริการยังคงจุดจอดต้นทาง-ปลายทางอยู่

...

หรือเส้นทางก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีเหลือง ที่มีรถเมล์สาย 145 วิ่งให้บริการเส้นทางจตุจักร-พัฒนาการ เดิมรถต้องวิ่งตลอดเส้นทางลาดพร้าว แต่เนื่องจากมีการก่อสร้าง จึงตัดให้วิ่งขึ้นทางด่วนศรีรัชลงที่พัฒนาการเลย เป็นต้น

ส่วนแนวทางที่ 2 คือ จัดรถชัตเติลบัส รับส่งจากจุดจอดรถห้างสรรพสินค้ามายังสถานี รถไฟฟ้าใต้ดิน, สถานีรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตลิงก์ เช่น เส้นทางก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีส้ม ก็มีรถชัตเติลบัสรับจากบิ๊กซี หรือตลาดมีนบุรี มายังสถานีรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตลิงก์ที่ลาดกระบัง เป็นต้น ซึ่งการจัดชัตเติลบัสนี้จะให้องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) และการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ประสานกัน เพื่อจัดจุดรับให้เหมาะสม

ซึ่งนอกจากการเดินทางทางบกแล้ว ในแนวทางที่ 3 ยังให้ความสำคัญกับการเดินทางทางน้ำ โดยเฉพาะการเดินทางในคลองแสนแสบ ที่ปัจจุบันคนนิยมกันมาก ประกอบกับเมื่อมีการก่อสร้างรถไฟฟ้า ประชาชนจะได้หันมาใช้บริการเรือมากขึ้น

สนข.และกรมเจ้าท่าจึงร่วมกับกรุงเทพมหานคร (กทม.) จัดเรือโดยสารให้บริการเชื่อมต่อ รับส่งผู้โดยสารเฉพาะท่าเรือที่เชื่อมต่อรถไฟฟ้าโดยเฉพาะ เช่น จอดท่าเรือสถานีอโศก เพื่อเชื่อมต่อรถไฟฟ้าใต้ดิน MRT, ท่าเรือสถานีราม 1 เพื่อเชื่อมต่อรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตลิงก์สถานีประตูน้ำเพื่อเชื่อมต่อรถไฟฟ้าบีทีเอส ซึ่งการทดลองให้บริการดังกล่าวจะอยู่ในชั่วโมงเร่งด่วน จากเดิมที่เรือจะต้องจอดทุกท่า

ส่วนแนวทางที่ 4 เป็นนโยบายเปิดทางตัน ทะลุถนนซอย-ถนนหลัก แนวทางนี้จะให้ กทม.เป็นเจ้าภาพหลักในการสำรวจซอยตันต่างๆที่อยู่ในเส้นทางก่อสร้างรถไฟฟ้าทุกเส้นทางว่ามีกี่ทางตัน และทางตันไหนบ้างที่สามารถเปิดทะลุเชื่อมต่อซอกซอย ถนนต่างๆได้ ซึ่งคมนาคมมั่นใจว่า หากเปิดทะลุซอกซอยได้จะช่วยระบายรถที่คั่งค้างในถนนสายหลักออกไป ตัวอย่างเช่น ซอยราม 118 สุดซอยเป็นทางตัน แต่เมื่อมีการสำรวจพบว่าหากเปิดทางตันจะทำให้สามารถทะลุไปยังถนนศรีนครินทร์ได้ เป็นต้น

ส่วนแนวทางที่ 5 นั้นทางนายกรัฐมนตรียังได้สั่งการให้ สนข.ร่วมกับกรมเจ้าท่าและ กทม. ในการสำรวจและเปิดเส้นทางเดินเรือ ที่ยังไม่เคยเปิดให้บริการ เพื่อเพิ่มช่องเดินทางของประชาชน เช่น คลองบางซื่อ เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม แผนทั้ง 5 นี้จะช่วยบรรเทาปัญหาการจราจรคับคั่งลงได้ตามกำหนด 3 เดือนหรือไม่ เป็นเรื่องที่ต้องติดตาม รวมทั้งนำผลที่ได้มาประเมินเพื่อแก้ไขปัญหาให้ถูกทิศถูกทางต่อไป

ขณะเดียวกัน โครงการก่อสร้างทั้งหมดจำเป็นจะต้องเดินหน้าให้ได้ตามแผน เพราะการก่อสร้างที่ไม่เสร็จตามกำหนด ย่อมหมายความว่ารถจะติดยืดเยื้อยาวนานขึ้นไปอีก

ในช่วง 3–5 ปีนี้ คนกรุงคงต้องยอมเสียสละและอดทนมากกว่าปกติ มองไปข้างหน้าและรอคอยชีวิตการเดินทางที่ดีขึ้น ในอนาคต.

สุรางค์ อยู่แย้ม