Credit : Masato Hattori

ทีมนักบรรพชีวินวิทยาและนักธรณี วิทยานานาชาติ นำโดยพิพิธภัณฑ์ธรรมชาติและวิทยาศาสตร์ในเมืองดัลลัส รัฐเท็กซัส สหรัฐอเมริกา เผยพบเส้นทางสัญจรที่เปรียบเป็นถนนซุปเปอร์ไฮเวย์ของไดโนเสาร์ 2 สายพันธุ์ในทวีปอเมริกาเหนือ จากแหล่งธรณีวิทยาทางโบราณคดีแคนท์เวลล์ (Cantwell Formation) ในอุทยานแห่งชาติเดนาลีซึ่งชี้ให้เห็นว่าระบบนิเวศของเอเชียกลางมีอยู่เป็นบางส่วนในแถบอลาสกาช่วงปลายยุคครีเทเชียส

ไดโนเสาร์ดังกล่าวคือกลุ่มแฮโดรซอร์ (hadrosaur) หรือไดโนเสาร์ปากเป็ด และกลุ่มเธอริซิโนซอร์ (therizinosaur) ไดโนเสาร์เทอโรพอดที่กินพืช ที่มีลักษณะแปลกประหลาดคือคอยาว ตัวผอม ฟันเล็ก มีกรงเล็บยาวสำหรับตัดกิ่งพืชกิน ขาหน้ายาวและเดินด้วย 2 ขาหลัง ซึ่งเคยมีการพบซากดึกดำบรรพ์หรือฟอสซิล (fossil) ในจีนและมองโกเลียรวมถึงตะวันออกกลาง ไดโนเสาร์เธอริซิโนซอร์จึงถูกประทับตราว่าเป็นไดโนเสาร์จากเอเชีย แต่เมื่อปี พ.ศ.2555 มีรายงานพบรอยเท้าเดี่ยวๆ ที่ชัดเจนของไดโนเสาร์เธอริซิโนซอร์ในอุทยานแห่งชาติเดนาลี โดยก่อนหน้านี้ไม่เคยพบไดโนเสาร์กลุ่มนี้ในอุทยานแห่งชาติดังกล่าวเลย ฉะนั้นการพบรอยเท้าของเธอริซิโนซอร์ในอลาสกา จึงเป็นเรื่องน่าแปลกใจ ในขณะที่ไดโนเสาร์แฮโดรซอร์กลับพบได้ปกติทั่วไปในอุทยานแห่งชาติแห่งนี้

ทีมนักบรรพชีวินวิทยาและนักธรณีวิทยา เผยว่า เส้นทางแถบอลาสกาน่าจะเป็นทางสัญจรร่วมกันของสัตว์ในยุคครีเทเชียส ซึ่งแผ่นดินฝั่งตะวันตกของทวีปยุโรปมีการเชื่อมต่อกับทวีปเอเชีย การศึกษานี้จึงช่วยสนับสนุนแนวคิดที่ว่าอลาสกาเป็นประตูของไดโนเสาร์ ขณะที่พวกมันอพยพไปมาระหว่างเอเชียกับอเมริกา เหนือเมื่อ 65-70 ล้านปีที่ผ่านมา.