ระนองอ่วม น้ำป่าทะลักเข้าท่วมตัวเมืองแต่เช้ามืด บ้านเรือนและย่านเศรษฐกิจมีสภาพจมบาดาล ชาวบ้านขนของหนีน้ำโกลาหล บางรายขนไม่ทันต้องปล่อยจมไปกับกระแสน้ำ ส่วนที่พังงา คลื่นยักษ์ซัดเข้าฝั่งบ้านพังระนาว ท่าเรือ ลานจอดรถจมใต้น้ำ งดเดินเรือทุกชนิด ในขณะที่คนเมืองเพชรรอดจมน้ำ แต่พื้นที่บ้านแหลมรับน้ำเต็มๆ ปภ.แจ้งเตือน 39 จังหวัด 13-16 ส.ค. เตรียมรับมือน้ำท่วม

หลายพื้นที่ของประเทศยังคงต้องเผชิญกับภาวะฝนตกหนักและน้ำท่วม โดยที่ จ.ระนอง เกิดฝนตกหนักชนิดไม่ลืมหูลืมตาตั้งแต่ช่วงค่ำวันที่ 11 ส.ค.ต่อเนื่องไปจนถึงช่วงเช้าของวันที่ 12 ส.ค.ส่งผลให้น้ำป่าที่ไหลมาตามคลองหาดส้มแป้นทะลักเข้าท่วมตัวเมืองระนองอย่างรวดเร็วแทบไม่ทันตั้งตัว ถนน สถานที่ราชการ บ้านเรือน ร้านค้ามีสภาพจมอยู่ใต้บาดาล บางจุดระดับน้ำสูงถึงเอว ชาวบ้านขนข้าวของหนีน้ำโกลาหล บางส่วนหยิบฉวยไม่ทันต้องปล่อยให้จมไปกับกระแสน้ำ มวลน้ำที่ไหลเข้าท่วมในปริมาณมาก ประกอบกับน้ำทะเลหนุนระบายลงทะเลไม่ทัน ทำให้ระดับน้ำท่วมสูงขึ้นต่อเนื่อง ที่หมู่บ้านระนองแลนด์ระดับน้ำท่วมสูงกว่า 1 เมตร ชาวบ้านเดือดร้อนกว่า 100 ครัวเรือน บริเวณแยกสำนักงานสาธารณสุขระนอง น้ำท่วมสูงรถเล็กไม่สามารถวิ่งผ่านได้ บริเวณแยกเขาพริกไทย ต.บางนอน อ.เมืองระนอง บ้านเรือนและร้านค้าถูกน้ำท่วมเสียหายหนัก ชาวบ้านต่างยืนยันว่าน้ำป่าไหลเข้าท่วมเร็วมาก หนักสุดในรอบ 20 ปี ทางจังหวัดให้การช่วยเหลือ เร่งด่วนแล้ว

...

จ.พังงา พายุพัดเอาต้นไม้ขนาดใหญ่ล้มขวางถนนเพชรเกษมสายตะกั่วป่า-กะปง ต.โคกเคียน อ.ตะกั่วป่า ระหว่างนั้นมีชาวบ้านรายหนึ่งขับรถกระบะไปหาหมอที่โรงพยาบาลตะกั่วป่าผ่านจุดเกิดเหตุถูกต้นไม้ล้มทับรถได้รับบาดเจ็บ หน่วยกู้ภัยเข้าช่วยเหลือนำส่งโรงพยาบาล หลังเกิดเหตุเจ้าหน้าที่ร่วมกับชาวบ้านช่วยกันตัดต้นไม้ขวางถนนออก จนสามารถเปิดให้รถทุกชนิดวิ่งผ่านได้ นอกจากนี้ พายุยังพัดเอาต้นมะพร้าวล้มทับเสาไฟฟ้าหักโค่น 2 ต้น บริเวณบ้านบางสัก หมู่ 7 ต.บางม่วง อ.ตะกั่วป่า เจ้าหน้าที่การไฟฟ้าเข้าไปซ่อมแซมแก้ไขแล้วเช่นกัน ต่อมาวันเดียวกัน นายสิทธิชัย ศักดา ผวจ.พังงา ลงพื้นที่ บริเวณท่าเรือบ้านน้ำเค็ม หมู่ 2 ต.บางม่วง อ.ตะกั่วป่า พบคลื่นในทะเลสูงกว่า 3-4 เมตร ประกอบกับน้ำทะเลหนุน ทำให้น้ำทะเลเข้าท่วมท่าเรือและลานจอดรถ เรือทุกชนิดต้องหยุดบริการ มีบ้านเรือนหมู่ 3 ต.เกาะคอเขา อ.ตะกั่วป่า ถูกคลื่นซัดเสียหาย 12 หลัง ถนนเข้าหมู่บ้านถูกมีน้ำท่วมสูง สภาพถูกตัดขาด

จ.กาฬสินธุ์ ภายหลังเขื่อนลำปาวได้เร่งระบายน้ำออกเพื่อเตรียมรับมวลน้ำใหม่ที่ไหลเข้ามาเติมเขื่อน ทำให้ระดับน้ำในลำน้ำปาว ลำน้ำพาน ลำน้ำชี และลำน้ำสายอื่นๆเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง นายฤาชัย จำปานิล ผอ.โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาลำน้ำปาว เผยว่า สถานการณ์น้ำตามลำน้ำสายหลักตอนนี้ยังถือว่าอยู่ในเกณฑ์ควบคุมได้ จะมีพื้นที่ลุ่มได้รับผลกระทบจากน้ำเอ่อท่วมพื้นที่การเกษตร ขณะนี้เขื่อนลำปาวมีปริมาณน้ำกักเก็บอยู่ที่ 1,190 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือร้อยละ 60 ของความจุอ่าง ซึ่งทางกรมอุตุฯได้ประกาศเตือนในช่วงวันที่ 13-15 ส.ค. จะมีฝนตกหนักอีกครั้ง ได้แจ้งเตือนให้ประชาชนที่อยู่ติดแม่น้ำสายหลักทั้ง 5 อำเภอ เฝ้าระวังติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด หากพบจุดเสี่ยงจุดเปราะบางให้รีบแจ้งเจ้าหน้าที่หรือผู้นำหมู่บ้านเพื่อป้องกันน้ำท่วมได้ทันท่วงที ส่วนที่ จ.สกลนคร น้ำในเขื่อนน้ำอูนยังคงมีปริมาณน้ำสูงขึ้น เนื่องมีฝนตกเหนือเขื่อน โดยขณะนี้เขื่อนน้ำอูนมีปริมาณน้ำ 534 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 102 เปอร์เซ็นต์ ถือว่ายังมีปริมาณน้ำเกินความจุเขื่อนอยู่ เจ้าหน้าที่เร่งระบายน้ำออกทุกทางเพื่อให้ระดับน้ำในเขื่อนลดลง

ส่วนที่ จ.เพชรบุรี เดิมทีกรมชลประทานคาดการณ์ว่าในวันที่ 12 ส.ค. น้ำที่ระบายจากเขื่อนแก่งกระจานและเขื่อนเพชรจะทำให้ตัวเมืองเพชรบุรีเกิดน้ำท่วม แต่ปรากฏว่าในช่วงเช้าของวันเดียวกันยังไม่มีรายงานน้ำท่วมแต่อย่างใด เจ้าหน้าที่เทศบาลเมืองเพชรบุรีได้เสริมคันกระสอบทรายริมแม่น้ำเพชรบุรี และติดตั้งเครื่องสูบน้ำ 23 เครื่อง เตรียมพร้อมรับสถานการณ์ หากมีฝนตกเพิ่มและน้ำทะลักเข้าท่วม ล่าสุดเขื่อนเพชรได้ลดการระบายน้ำเหลือ 101 ลบ.ม.ต่อวินาที จากเดิม 105 ลบ.ม.ต่อวินาที ส่วนที่บ้านบางลำพู ต.บางครก อ.บ้านแหลม เป็นพื้นที่ปลายแม่น้ำเพชรบุรีที่จะไหลลงสู่ทะเลอ่าวไทย มีน้ำเอ่อล้นตลิ่งเข้าท่วมบ้านเรือนประชาชนที่อยู่ชายคลอง ชาวบ้านต่างพากันนำกระสอบทรายมาวางเป็นแนวป้องกันน้ำเข้าตัวบ้าน กองทัพเรือและกรมชลประทานยังคงเดินเครื่องผลักดันน้ำเพื่อเร่งระบายน้ำออกสู่ทะเล เช่นเดียวกับที่ จ.กาญจนบุรี เขื่อนวชิราลงกรณ ที่ปล่อยน้ำลงสู่แม่น้ำแควน้อย ส่งผลให้ปลาในกระชังที่ชาวบ้านเลี้ยงไว้ได้รับความเสียหายมูลค่าไม่ต่ำกว่า 10 ล้านบาท กลุ่มผู้เลี้ยงปลาเตรียมเข้ายื่นหนังสือถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อขอเงินชดเชยแล้ว

วันเดียวกันนายชยพล ธิติศักดิ์ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย หรือ ปภ. ได้แจ้งเตือนไปยัง ปภ.จังหวัด และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เฝ้าระวังสถานการณ์อุทกภัย และคลื่นลมแรงใน 39 จังหวัด ช่วงวันที่ 13-16 ส.ค.นี้ ประกอบด้วยแม่ฮ่องสอน เชียงใหม่ เชียงราย ลำพูน ลำปาง พะเยา แพร่ น่าน เพชรบูรณ์ พิษณุโลก สุโขทัย อุตรดิตถ์ กำแพงเพชร พิจิตร ตาก นครสวรรค์ และอุทัยธานี เลย หนองคาย หนองบัวลำภู อุดรธานี บึงกาฬ สกลนคร นครพนม มุกดาหาร กาฬสินธุ์ มหาสารคาม ชัยภูมิ อำนาจเจริญ ร้อยเอ็ด ยโสธร นครราชสีมา สุรินทร์ ศรีสะเกษ อุบลราชธานี กาญจนบุรี ราชบุรี เพชรบุรี และประจวบคีรีขันธ์ ชลบุรี ระยอง จันทบุรี ตราด ระนอง พังงา ภูเก็ต กระบี่ ตรัง และสตูล โดยให้หน่วยงานในพื้นที่เสี่ยงภัยเตรียมพร้อมรับมือตลอด 24 ชั่วโมง

...

กรมอุตุนิยมวิทยา ออกประกาศเตือน“พายุดีเปรสชันบริเวณทะเลจีนใต้ตอนบน” ฉบับที่ 8 ว่า เมื่อเวลา 10.00 น.พายุดีเปรสชันบริเวณชายฝั่งของประเทศจีนตอนใต้ มีศูนย์กลางอยู่ที่ละติจูด 22.0 องศาเหนือ ลองจิจูด 111.0 องศาตะวันออก มีความเร็วลมสูงสุดใกล้ศูนย์กลางประมาณ 50 กิโลเมตรต่อชั่วโมง พายุนี้เกือบไม่เคลื่อนที่ คาดว่าจะเคลื่อนเข้าปกคลุมประเทศเวียดนามตอนบนในช่วงวันที่ 15-16 ส.ค. 2561 ให้ภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคเหนือยังคงมีฝนตกชุกหนาแน่นและมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่ง ขอให้ประชาชนระวังผลกระทบจากฝนตกหนักและฝนตกสะสม ที่ทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก น้ำล้นตลิ่ง รวมถึงดินโคลนถล่มไว้ด้วย ทะเลคลื่นสูง 2-4 เมตร

ในขณะที่ “นิด้าโพล” เผยผลสำรวจความคิดเห็นของประชาชนเรื่อง “ความเชื่อมั่นของประชาชนที่มีต่อการจัดการสถานการณ์น้ำท่วมของไทย” ร้อยละ 87.14 ไม่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์น้ำท่วมในปี พ.ศ. 2561 ร้อยละ 78.73 มีความเชื่อมั่นต่อโครงสร้างความมั่นคง ความแข็งแรง ของเขื่อนในประเทศไทย เมื่อถามถึงประสิทธิภาพการบริหารจัดการน้ำท่วมของหน่วยงานรัฐ ร้อยละ 14.28 ระบุว่า มีประสิทธิภาพมาก และร้อยละ 49.36 ระบุมีประสิทธิภาพค่อนข้างมาก ส่วนข้อเสนอแนะเกี่ยวกับการจัดการน้ำท่วมของประเทศไทย ร้อยละ 39.37 ระบุว่า ให้มีการบริหารจัดการเรื่องการระบายน้ำกับทุกเขื่อนในประเทศไทยสม่ำเสมอ

...